posttoday

ศชอ.ชงครม.1,500ล.เยียวยาใต้

01 เมษายน 2554

ศชอ.เล็งชงครม.จันทร์นี้ขอ1,500ล.เยียวยาน้ำท่วมใต้290,000 ครอบครัวๆละ5พัน เผยยอดผู้เสียชีวิตพุ่ง 25 ราย เตือนพื้นที่เชิงเขายังวิกฤต ประชาชนอพยพด่วน

ศชอ.เล็งชงครม.จันทร์นี้ขอ1,500ล.เยียวยาน้ำท่วมใต้290,000 ครอบครัวๆละ5พัน เผยยอดผู้เสียชีวิตพุ่ง 25 ราย เตือนพื้นที่เชิงเขายังวิกฤต ประชาชนอพยพด่วน

นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะ ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบอุทกภัย (ศชอ.)เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการประสานงานการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบอุทกภัย หรือ (คชอ.) ว่าที่ประชุมได้ติดตามสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ 8 จังหวัด ปริมาณฝนเบาบางลง ซึ่งกรมอุตุนิยมวิทยาจะจับตามองหย่อมความกดอากาศอย่างใกล้ชิด เพราะสถานการณ์ทั่วไปยังไม่น่าไว้วางใจ ดังนั้น ศชอ. จะออกประกาศเตือนพื้นที่ภัยพิบัติ ทั้ง8 จังหวัดให้ระวัง โดยเฉพาะในพื้นที่เสียงภัยดินถล่มเพราะยังมีน้ำสะสมบนเทือกเขาซึ่งอาจเกิดดินถล่มได้ อีกทั้งในหลายจังหวัดมีน้ำทะเลหนุน ไม่สามารถระบายน้ำได้ตามที่คาดการณ์ ดังนั้นกรมชลประทานจะเร่งติดเครื่องระบายน้ำต่อไป ขณะที่สภาพอากาศยังแปรปรวนจึงขอให้แต่ละจังหวัดอพยพประชาชนออกจากพื้นที่เสี่ยงภัยด้วย  และ รัฐบาลจะเร่งส่งถุงยังชีพไปให้ความช่วยเหลือประชาชนอย่างทั่วถึงโดยเร็ว โดยนำเงินที่ได้รับบริจาคเพิ่มเติมไปจัดซื้อถุงยังชีพต่อไป

นายสาทิตย์ กล่าวว่า จากการติดตามสถานการณ์ล่าสุดมีพื้นที่ดินถล่ม และไหล 17 จุด  และศชอ. มอบให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.)ประสานไปยังแต่ละจังหวัดให้อพยพคนในพื้นที่แล้ว 9 จุด ซึ่งจุดใหญ่ที่สุดคือจังหวัดกระบี่ ที่มีผู้อพยพอยู่ในที่ปลอดภัยแล้ว 1,300 คน แต่ทั้งนี้ยังเป็นห่วงพื้นที่ติดเขา ที่ประชาชนไม่สามารถติดต่อกับโลกภายนอกได้ จึงขอให้ ปภ. จังหวัดติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด ขณะเดียวกันนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี และพล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก สั่งทหารออกช่วยเหลือประชาชนโดยให้ทำงานประสานกับฝ่ายปกครอง ผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภออย่างใกล้ชิด

นายสาทิตย์ กล่าวอีกว่า คชอ. ยังมีมติจ่ายเงิน ช่วยเหลือเบื้องต้น 5,000 บาทต่อครัวเรือน   เพื่อเยียวยาและชดเชยให้กับผู้ประสบภัยน้ำท่วมในภาคใต้  จำนวน2 แสน 9 หมื่นครัวเรือน  วงเงินไม่เกิน 1,500 ล้านบาทโดยจะขออนุมัติจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีสัปดาห์หน้า  คาดสามารถเริ่มเบิกจ่ายได้หลังเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งหลักเกณฑ์การจ่ายเงินแบ่งเป็น 3 ประเภท คือ น้ำท่วมฉับพลัน ไม่สามารถขนย้ายสิ่งของไปในที่ปลอดภัยได้ / บ้านพักอาศัยอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขังติดต่อกันไม่น้อยกว่า 7 วันและบ้านพักอาศัยที่ถูกดินโคลนไหลทับจนได้รับความเสียหาย ส่วนลักษณะครัวเรือนที่จะได้รับชดเชย คือ มีทะเบียนบ้าน หรือบ้านเช่าซึ่งผู้เช่าที่มีหนังสือสัญญาเช่าจะได้รับเงินชดเชย และหากเป็นบ้านพักประเภทอื่น จะต้องผ่านการตรวจสอบรับรองจากหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น โดยคชอ. จะเสนอให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมมือกับผู้นำชุมชนและภาคประชาชน ลงพื้นที่สำรวจตรวจสอบในแต่ละจังหวัดแทนการรอให้ประชาชนมาแจ้งความเสียหาย เพื่อจะได้เร่งเบิกจ่าย และเบื้องต้นจะใช้ภาพถ่ายทางดาวเทียมประกอบด้วย นอกจากนี้จะตั้งคณะอนุกรรมการ 5 ชุด รับผิดชอบในจังหวัด สุราษฎร์ธานี /นครศรีธรรมราช/ พัทลุง/ ตรัง และกลุ่มจังหวัดชุมพร กระบี่ พังงา โดยให้ทั้ง 5 ชุดลงพื้นที่ตั้งแต่สุดสัปดาห์นี้ไปสำรวจพื้นที่ประสบภัย และหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ 4 เมษยน เพื่อขออนุมัติงบช่วยเหลือ คชอ.จะมีการประชุมทางไกลร่วมกับผู้ว่าราชการแต่ละจังหวัด ปภ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำความเข้าใจในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยและ เตรียมจัดทำคู่มือปฏิบัติรับมือน้ำท่วมด้วย

ส่วนเงินค่าชดเชยคงค้างเพื่อเยียวยาช่วยเหลือผู้ประสบภัยปี2553 จำนวน 1 แสน 6 หมื่น ครัวเรือน นั้น นายสาทิตย์ กล่าวว่าจะเร่งส่งเงินภายในวันนี้(1 เม.ย.) เพื่อให้ทางจังหวัดนำไปช่วยเหลือประชาชนต่อไป

ด้าน นายวิทเยนทร์ มุตตามุระ รองผู้อำนวยการศูนย์ประสานการช่วยเหลือเยียวยา (ศชอ.) กล่าว ว่า วันนี้ (1เม.ย.) หย่อมความกดอากาศต่ำที่ปกคลุมภาคใต้เริ่มมีกำลังอ่อนลง แต่ก็ยังคงมีฝนตกกระจายอยู่ ส่วนคลื่นลมในอ่าวไทยและทะเลอันดามันมีกำลังอ่อนลง โดยทะเลจะมีคลื่นสูง 1-2 เมตร สำหรับวันที่ 2–4 เม.ย. ภาคใต้จะมีฝนตกลดลง รวมถึงคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันงด้วย ทั้งนี้ วันที่ 5-6 เม.ย. จะมีบริเวณความกดอากาศสูงกำลังปานกลางแผ่ลงมาปกคลุมบริเวณด้านตะวันออกของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และทะเลจีนใต้ จะทำประเทศไทยตอนบน มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ และมีลมกระโชกแรงบางพื้นที่

นายวิทเยนทร์ กล่าวว่า บริเวณที่มีฝนสะสมมากใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา ซึ่งจะมีน้ำป่าไหลหลากจากที่ลาดเชิงเขาเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำในหลายพื้นที่ ประกอบด้วย นครศรีธรรมราช พังงา ตรัง และสุราษฎร์ธานี ตลอดระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 23 มี.ค. มีจังหวัดประสบภัย 8 แห่ง คือ นครศรีธรรมราช พัทลุง สุราษฎร์ธานี ตรัง ชุมพร สงขลา กระบี่ และพังงา มีราษฎรได้รับความเดือดร้อน 294,097 ครัวเรือน 998,867 คน เสียชีวิต 25 ราย บาดเจ็บ 181 คน ยอดผู้อพยพทั้งหมด 6,757 คน เกษตรกรที่รับความเสียจำนวน 111,827 ราย และพื้นที่การเกษตรประสบภัย 732,655 ไร่ ทั้งนี้ ยางพาราคาดว่าจะเสียหายจากดินโคลนถล่มไม่เกิน 50,000 ไร่ เนื่องจากสถานการณ์อุทกภัยครั้งนี้จะลดลงได้อย่างรวดเร็ว จะไม่ทำให้ต้นยางพาราที่มีอายุมากเสียหาย ส่วนเส้นทางการจราจรไม่สามารถผ่านได้ 22 เส้นทาง

“ขณะ นี้ยังต้องระวังสถานการณ์ดินถล่มเพราะฝนตกหนักต่อเนื่องทำให้ดินอุ้มน้ำ ขอให้ ประชาชนที่อยู่บริเวณที่ลาดเชิงเขาโดยเฉพาะจุดที่เคยเกิดดินถล่มให้อพยพมา อยู่ในจุดที่ปลอดภัยที่ทางจังหวัดจัดเตรียมไว้ให้”นายวิทเยนทร์ กล่าว