posttoday

รัฐบาลVSพันธมิตรฯ:นโยบายการแก้ปัญหากรณีพิพาทไทย-กัมพูชา

04 กุมภาพันธ์ 2554

โดย......ไชยันต์ ไชยพร

โดย......ไชยันต์ ไชยพร

การเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิก MOU 43 และอื่นๆของพี่น้องพันธมิตรฯถือเป็นการเรียกร้องให้รัฐบาลออกนโยบายสาธารณะเพื่อแก้ไขปัญหาข้อพิพาทพื้นที่บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา  เพื่อรักษาผลประโยชน์สาธารณะของไทย   ขณะเดียวกัน รัฐบาลก็ยึดและเชื่อมั่นในความถูกต้องของนโยบายของตนในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว   ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายผู้ชุมนุมประท้วงต่างก็พยายามสื่อสารให้ผู้คนในสังคมได้ทราบและเข้าใจในเหตุผลของนโยบายของตน   นั่นคือ ต่างฝ่ายต่างสื่อสารเพื่อสร้างความชอบธรรมและเรียกร้องเสียงสนับสนุนนโยบายของตน 

ขณะเดียวกัน ทางซีกรัฐบาล  ก็ดูเหมือนว่า พรรคการเมืองร่วมรัฐบาลก็มิได้มีทีท่าที่จะไม่เห็นด้วยกับแนวทางนโยบายของนายกรัฐมนตรี   ในเวลาเดียวกัน ทางพรรคฝ่ายค้านก็ไม่ได้มีทีท่าจะวิพากษ์วิจารณ์หรือเห็นด้วยกับนโยบายของรัฐบาลอย่างชัดเจนเท่าไรนัก

ที่จริงแล้ว ในกรณีความขัดแย้งในเรื่องนโยบายระหว่างนายกรัฐมนตรีและพี่น้องพันธมิตรฯ   สามารถเป็นประเด็นที่รัฐสภาสามารถช่วยหาทางออกได้   ถ้าพรรคฝ่ายค้านเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยอย่างไรกับนโยบายของรัฐบาลก็น่าจะที่จะแสดงจุดยืนที่ชัดเจนออกให้สังคมได้รับทราบ  หรือถ้าพรรคฝ่ายค้านไม่เห็นด้วยกับทั้งแนวทางของนายกรัฐมนตรีและของพี่น้องพันธมิตรฯ  และมีข้อเสนอใหม่ขึ้นมาเพื่อหาทางออกในปัญหาดังกล่าว  ก็จะทำให้สังคมมีทางเลือกมากขึ้นกว่าที่มีอยู่ในขณะนี้   หรือถ้าเห็นด้วยกับนายกรัฐมนตรี  ก็จะทำให้เกิดความชัดเจนจากฝั่งสภาผู้แทนราษฎร ก็จะทำให้เกิดพลังและความชอบธรรมที่จะขับเคลื่อนในแนวทางนั้นๆต่อไป 

หรือถ้าไม่เห็นด้วยกับนายกรัฐมนตรี แต่เห็นด้วยกับพี่น้องพันธมิตรฯ  ก็จะทำให้เกิดพลังที่จะขับเคลื่อนให้มีการเลิก MOU43 ที่เข้มแข็งและชัดเจนขึ้น  ซึ่งมันก็จะหมายความถึงการมีพลังขับเคลื่อนทางนโยบายที่ชัดเจนและมีเอกภาพมากขึ้น    แต่ขณะนี้ ดูเหมือนว่า  พรรคร่วมรัฐบาลและพรรคฝ่ายค้านกลับปล่อยให้ประเด็นความขัดแย้งดังกล่าวเป็นเรื่องส่วนตัวระหว่างนายกรัฐ มนตรี รัฐมนตรีว่าการทรวงต่างประเทศกับพี่น้องพันธมิตรฯเท่านั้น

การที่พี่น้องประชาชนทั่วไปส่วนหนึ่งไม่สนใจที่จะสนับสนุนหรือคัดค้านแนวทางของนายกรัฐมนตรีหรือแนวทางของพันธมิตรฯ  ก็ถือเป็นสิทธิของพวกเขา  แม้ว่าจริงๆแล้ว ปัญหาข้อพิพาทเรื่องพื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชาจะเป็นเรื่องของคนไทยทุกคน  และคนไทยทุกคนก็ควรที่จะมีจุดยืนที่ชัดเจนในเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือคัดค้าน หรือมีทางเลือกอื่น   และก็รวมถึงพี่น้องเสื้อแดงด้วยที่ควรจะมีจุดยืนที่ชัดเจนในเรื่องนี้  แต่ถ้าไม่มีหรือมีแต่ไม่อยากแสดงออก ก็เป็นสิทธิของพวกเขาเช่นกัน

แต่สำหรับพรรคร่วมรัฐบาลก็ดี หรือพรรคฝ่ายค้านก็ดี พวกเขามีหน้าที่ที่จะต้องแสดงออกซึ่งจุดยืนที่ชัดเจน ไม่ว่าสนับสนุนหรือคัดค้านหรือมีทางเลือกอื่น     การลอยตัวเหนือปัญหานี้เป็นสิ่งที่ไม่สมควรอย่างยิ่งสำหรับ ส.ส. พรรคร่วมฯและพรรคฝ่ายค้าน   และหากจะแก้ตัวว่า ยังไม่รู้ว่าความจริงเป็นอย่างไรแน่  ก็เป็นคำแก้ตัวที่ฟังไม่ขึ้น เพราะในฐานะที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พวกคุณมีหน้าที่ต้องทำการบ้านในเรื่องนี้ และเสนอทางแก้ไขให้สาธารณะได้พิจารณา 

เพราะหากนโยบายของรัฐบาลไม่ถูกต้อง แต่พวกคุณนิ่งเฉย ก็เท่ากับปล่อยให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศชาติ   หรือหากนโยบายของรัฐบาลถูกต้อง  พวกคุณก็มีหน้าที่ที่จะต้องช่วยออกแรงเสริมผลักให้นโยบายนั้นเดินหน้าไปได้   ท่าทีของพรรคร่วมฯและพรรคฝ่ายค้านมีส่วนอย่างยิ่งที่จะช่วยเป็นคำตอบให้กับสังคม

ต่อกรณีปัญหาที่เกิดขึ้น  ผู้เขียนตั้งสมมุติฐานไว้สองอย่าง อย่างแรกคือ  คุณวีระ สมความคิดมีความบริสุทธิ์ใจและเชื่อจริงๆว่า พื้นที่บริเวณที่เขาถูกจับนั้นเป็นพื้นที่ที่อยู่ในพรมแดนประเทศไทย  และเมื่อเขาถูกจับ เขาก็ยืนหยัดเดินหน้าที่ที่จะประกาศให้สาธารณะและพิสูจน์ต่อศาลกัมพูชาว่า พื้นที่ตรงนั้นเป็นพื้นที่ของไทย  หากการเดินทางเข้าไปในพื้นที่บริเวณดังกล่าวของคุณวีระเป็นความตั้งใจที่จะให้ถูกจับ ก็ถือว่าเป็นการกระทำที่สุ่มเสี่ยงอันตรายอย่างยิ่ง  แต่คุณวีระก็มีเหตุผลที่ถูกต้องชอบธรรม (just cause) ในการตัดสินใจกระทำการอันสุ่มเสี่ยงดังกล่าว  นั่นคือ  เมื่อเขาเชื่อว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ของประเทศไทยจริงๆ เขาก็ต้องยืนยันความเชื่อของเขาด้วยการย่ำเท้าเข้าไปในผืนแผ่นดินที่เป็นของคนไทยทุกคนอย่างอิสรเสรี เมื่อถูกจับกุม แน่นอนว่าพวกเขาก็ย่อมที่จะไม่ยอมรับการใช้อำนาจดังกล่าวของเจ้าหน้าที่กัมพูชา เพียงแต่เขาและพวกไม่มีกำลังพอที่จะขัดขืนการจับกุมของเจ้าหน้าที่กัมพูชา และเมื่อต้องขึ้นศาล โดยเฉพาะศาลกัมพูชาภายใต้การปกครองกว่ายี่สิบปีของผู้นำคนเดียวที่ชื่อฮุนเซน แน่นอนว่า ยากหรือแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะตัดสินใจว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ของไทย  

จะมองกันอย่างไรก็ตาม  จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็แล้วแต่  แต่ถ้าพิจารณาวิธีคิดของคุณวีระ และถ้าเขาคิดเช่นนั้นจริงๆ   ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า คุณวีระมีความกล้าหาญทางจริยธรรมอย่างยิ่ง   นั่นคือ ทำในสิ่งที่ตนเชื่อว่าถูกต้องแม้จะต้องเสี่ยงอันตรายแค่ไหนก็ตาม   และที่สำคัญมันไม่ใช่เรื่องผลประโยชน์ส่วนตัวของเขาแม้แต่น้อย   แต่มันเป็นผลประโยชน์ส่วนรวมของเขาและพี่น้องประชาชนไทยทุกคน

สมมุติฐานที่สอง คือ คุณวีระไม่ได้ตั้งใจจะเดินเข้าไปในพื้นที่ดังกล่าวเพื่อให้ถูกจับ (ในแง่นี้ ไม่เกี่ยวข้องกับความกล้าหาญแต่อย่างใด) เพราะเชื่อว่าเป็นพื้นที่ในเขตของไทย  แต่เข้าไปเพื่อพา ส.ส. ประชาธิปัตย์ไปสืบหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพื้นที่ที่เป็นปัญหา  แต่การกระทำดังกล่าวมีความขัดแย้งกันอยู่ นั่นคือ  เชื่อว่าเป็นพื้นที่ของไทย แต่ก็รู้ว่าเป็นพื้นที่ที่เป็นปัญหา เพราะถ้าไม่คิดว่าเป็นพื้นที่ที่เป็นปัญหา จะพา ส.ส. ประชาธิปัตย์เข้าไปสำรวจเพื่อหาข้อมูลข้อเท็จจริงทำไม ?    
การจะเข้าไปหาข้อมูลข้อเท็จจริงในพื้นที่ที่เป็นปัญหากรณีพิพาทไม่ใช่เรื่องที่ใครก็ได้จะเข้าไปสำรวจตรวจสอบเองได้   หรือถ้าเป็น ส.ส. ก็จะต้องได้รับมอบหมายอย่างเป็นทางการ และมีการติดต่อเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทั้งฝ่ายไทยและฝ่ายกัมพูชา   เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องที่ใครก็ได้ที่รักชาติจะเข้าไปสำรวจตรวจสอบตามอำเภอใจ    เพราะลองคิดในมุมกลับกัน หากมีคนกัมพูชาที่เป็นแบบคุณวีระ และทำอย่างคุณวีระ ทางการไทยจะทำอย่างไรกับเขา ?

ดังนั้น เมื่อเกิดถูกจับขึ้นมาแล้ว  ก็ยากที่จะอ้างสถานะของความเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพราะไม่ได้รับมอบหมายอย่างเป็นทางการ และก็ไม่มีการประสานงานสื่อสารให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้ทราบ  การจับกุมจะได้ไม่เกิดขึ้น   เมื่อไม่ได้รับมอบหมายอย่างเป็นทางการ รัฐบาลไทยก็ไม่สามารถจะเข้าไปช่วยอะไรได้มากนัก  ต้องปล่อยให้เป็นสิทธิในการพิจารณาตัดสินคดีของศาลกัมพูชาอย่างที่เป็นอยู่ขณะนี้

ขณะเดียวกัน หากการเดินทางเข้าไปในพื้นที่ดังกล่าวของคุณพณิช วิกิตเศรษฐ์----โดยไม่มีการประสานงานกับเจ้าหน้าที่----เป็นเรื่องที่นายกรัฐมนตรีรับทราบรับรู้  ก็ถือว่า คุณอภิสิทธิ์ ต้องรับผิดชอบต่อการที่คนไทยทั้งเจ็ดคนถูกจับขึ้นศาล  ถือเป็นความผิดพลาดอย่างใหญ่หลวงที่ไม่สมควรเกิดขึ้นกับการทำงานของคนระดับนายกรัฐมนตรี   สมควรแสดงความรับผิดชอบโดยการลาออกจากตำแหน่งทันที   เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นตามมาจากการเข้าไปในพื้นที่ดังกล่าวและมีการจับกุมมันใหญ่หลวงนัก   

นอกเสียจากว่า คุณอภิสิทธิ์ก็เข้าใจเหมือนคุณวีระว่า พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ของไทย และไม่ได้เป็นพื้นที่ที่เป็นปัญหา จึงไม่จำเป็นต้องมีการประสานงานใดๆ   และถ้าเข้าใจว่าเป็นพื้นที่ของไทยอย่างไม่มีปัญหาหรือเงื่อนไขใดๆ   คุณอภิสิทธิ์ก็จะต้องไม่ยอมรับการจับกุมคนไทยทั้งเจ็ดไปขึ้นศาลกัมพูชา และต้องต่อสู้เพื่อรักษาอำนาจอธิปไตยเหนือผืนแผ่นดินไทย  ซึ่งเป็นภาระหน้าที่หลักของคนที่เป็นนายกรัฐมนตรี  ใครเล่าในประเทศไทยที่มีหน้าที่นี้ ถ้าไม่ใช่คุณ !   ตกลงแล้ว คุณอภิสิทธิ์รับรู้มาก่อนหรือไม่ ?  ทำไมไม่มีการสืบค้นและติดตามทวงถามในเรื่องนี้อย่างจริงจัง ?

ขณะเดียวกัน การยกเลิก MOU43 อาจจะเป็นนโยบายที่ดีที่สุดที่พี่น้องพันธมิตรฯเชื่อว่าจะสามารถพิทักษ์ผลประโยชน์ประเทศชาติได้    แต่ทางฝ่ายรัฐบาลอาจจะเห็นว่า การยกเลิก MOU43 จะมีผลเสียมากกว่าผลดี  และที่สำคัญการดำเนินนโยบายต่างประเทศของไทยจะเป็นสิ่งที่ประเทศอื่นลดความเชื่อมั่น  ไม่เฉพาะแต่ประเทศกัมพูชาเท่านั้น

ก่อนจะถึงเงื่อนไขอันสมควร การใช้มาตรการแข็งกร้าวโดยเฉพาะการแสดงแสนยานุภาพทางการทหารต่อประเทศที่เล็กและอ่อนแอกว่า (แม้ว่าจะเกเรก็ตาม)  จะทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศไทยเสียหายในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ  ขาดภาวะของการเป็นประเทศผู้นำในอาเซียนอีกทั้งถ้าผลีผลามใช้ไม้แข็งเร็วเกินไป  การจะถอนตัวกลับก็ยาก    การเป็นศัตรูกันนั้นง่าย และก็ยากที่จะกลับมาเป็นมิตรกันด้วย

แต่ถ้านโยบายของรัฐบาลผิด  ขณะเดียวกัน ผู้มาร่วมชุมนุมต่อต้านกับพี่น้องพันธมิตรฯมีไม่มาก  รัฐบาลก็สามารถยืนหยัดดำเนินนโยบายดังกล่าวได้ต่อไป   เพราะพรรคร่วมและพรรคฝ่ายค้านก็ไม่ได้ช่วยตัดสินใจว่าใครผิดหรือถูกในสายตาของตน  และการนิ่งเฉยก็เท่ากับการสนับสนุนอยู่ในที 

ขณะเดียวกัน  หากรัฐบาลเห็นว่า เรื่องนี้เป็นปัญหาสำคัญยิ่งต่อประเทศชาติ และมีปัญหาในการกำหนดนโยบายที่เหมาะสม ก็สมควรที่จะรีบยุบสภาโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้เสียงประชาชนทั้งประเทศเป็นผู้ตัดสินกำหนด “นโยบาย” ในเรื่องนี้ 

(ส่วนหนึ่งของงานวิจัย ภายใต้โครงการพัฒนามหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2555 ความมั่นคงของมนุษย์ เรื่อง “การพัฒนาระบอบการเมืองประชาธิปไตยเพื่อความเป็นธรรมและเสมอภาคในกระแสการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย” (HS1068A) สนับสนุนโดย สกอ.  ตุลาคม 2554-กันยายน 2555)