posttoday

มลพิษข้ามแดน! "น้ำกก-น้ำสาย" ยังวิกฤต สะท้อน "รัฐบาล" ไร้ศักยภาพ

21 พฤษภาคม 2568

"ภัทรพงษ์" จี้ "รัฐบาล" แก้มลพิษข้ามแดน น้ำกก-น้ำสาย ปนเปื้อน หวั่น บานปลาย ซัด! ไร้ศักยภาพด้านสิ่งแวดล้อม ลั่น ไม่พร้อมไม่ควรเป็นรัฐบาล

นายภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ สส.เชียงใหม่ พรรคประชาชน โพสต์ข้อความกรณีปัญหามลพิษทางน้ำในลุ่มน้ำกกและน้ำสายที่ไหลข้ามพรมแดนมาจากฝั่งเมียนมา ระบุว่า ปัญหามลพิษทางน้ำข้ามแดน น้ำกก-น้ำสาย ปัญหาที่สะท้อนให้เห็นชัดๆว่าการมีรัฐบาลที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมแบบนี้ เราไม่ต้องมีรัฐมนตรีก็ได้ครับ

 

กับปัญหามลพิษทางน้ำจากประเทศเพื่อนบ้าน ที่ผมได้เคยพูดในโพสก่อนหน้าแล้วเมื่อสิ้นเดือนเมษายนว่า มาจากการทำเหมืองทองคำ แรร์เอิร์ธ ในลุ่มน้ำกก และเหมืองทองคำขนาดใหญ่ในพื้นที่ต้นน้ำสาย

 

ที่ผมลงพื้นที่ไปเห็นด้วยตาตัวเอง จากในแนวเขตประเทศไทย และมองเห็นเหมืองทองผิดกฎหมายในพื้นที่ต้นน้ำสายเขตเมียนมาอย่างชัดเจน ทุกอย่างชัดเจนมาก แต่รัฐบาลไม่ทำอะไรเลย

 

รัฐบาลชุดนี้ โดยเฉพาะรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไม่มีศักยภาพในการจัดการปัญหามลพิษข้ามแดนเลย กับมลพิษทางอากาศข้ามแดน เจอกันมาหลายต่อหลายปี ข้าราชการสังกัดกรมและกระทรวงต่างๆ พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ให้ข้าราชการเขียนแผนอย่างเดียว แต่ผู้มีอำนาจไม่ทำอะไรสักอย่าง เอาแต่ประชุมอย่างเดียว การแก้ปัญหาไม่เกิดขึ้นสักที

 

มาครั้งนี้มลพิษทางน้ำข้ามแดน ก็ยังเป็นปัญหาเหมือนเดิมอีก คราวนี้หนักกว่าเดิม ไม่มีการสื่อสาร ไม่มีการเทคแอคชั่นใดๆ กับประเทศเพื่อนบ้านเลย หลายคนถามว่า แล้วจะให้รัฐบาลทำอย่างไรกับเรื่องนี้ได้ ในเมื่อ มันเกิดขึ้นที่ประเทศเพื่อนบ้าน?

ในประเทศเรามีกฎหมาย กับต่างประเทศเราก็มีสนธิสัญญา มีข้อตกลงระหว่างประเทศ และก็มีข้อกฎหมายของประเทศคู่กรณีที่เราสามารถใช้ในการต่อรองด้วยเช่นกันครับ

มลพิษข้ามแดน! \"น้ำกก-น้ำสาย\" ยังวิกฤต สะท้อน \"รัฐบาล\" ไร้ศักยภาพ

เริ่มกันก่อนที่ ไทย-เมียนมา

สิ่งที่หยิบมาเจรจาได้เลย คือ ข้อตกลงอาเซียนว่าด้วยการบริหารจัดการภัยพิบัติและภาวะฉุกเฉิน ซึ่งข้อตกลงนี้เป็นข้อตกลงที่เป็นพันธกรณีที่ประเทศสมาชิกต้องปฏิบัติตามและได้ระบุไว้หลายส่วนมากๆ ที่เราหยิบมาต่อรองได้เลยกับเรื่องนี้

 

อย่างแรกก่อนคือ นิยามคำว่า disaster ในข้อตกลงนี้บอกไว้ชัดเจนว่า รวมถึง ความสูญเสียด้านสิ่งแวดล้อมด้วยเช่นกัน เพราะฉะนั้นเราใช้ได้ชัดเจน

 

ข้อตกลงนี้ยังระบุชัดเจนว่าเราสามารถใช้ในวางแผนร่วมกันเพื่อจัดการปัญหา ตรวจสอบต้นตอปัญหา ป้องกันและลดความเสี่ยงภัยนี้ได้ วางมาตรการจัดการกับปัญหานี้ในส่วนของแต่ละประเทศตามกฎหมายที่แต่ละประเทศมี ซึ่งของเมียนมาเองจะมี

 

1.The Environmental Conservation Law 2012

2.The Environmental Conservation Rules 2014 (กฎหมายลูกจากข้อ 1)

3.the Law Amending the Myanmar Mines Law 2015

 

นี่คือช่องทางที่เราต้องทำได้เลยเพื่อประชาชนของเรา หลายคนอาจจะบอกว่า เหมืองอยู่ในพื้นที่กองทัพว้า ไม่ใช่รัฐบาลเมียนมา แต่อย่าลืมนะครับว่า มีเหมืองต้นน้ำสายที่อยู่ในพื้นที่ดูแลรับผิดชอบของรัฐบาลเมียนมาเช่นกัน สามารถทำได้เลย

 

ในส่วนของกองทัพว้า เราก็ต้องเจรจากับรัฐบาลเมียนมาให้มีมาตรการจากทางเมียนมาเองเช่นกัน ไม่ใช่ปล่อยให้เกิดปัญหาในประเทศเมียนมามากระทบประชาชนคนไทยโดยไม่สนใจอะไรเลยแบบนี้ นี่คือตัวอย่างที่เราสามารถทำได้เลย จากข้อตกลงที่มีข้อผูกมัดที่เมียนมาเองต้องปฎิบัตินะครับ ย้ำนะครับ ต้องปฏิบัติ

หลังจากที่เราเริ่มที่ ไทย-เมียนมา แค่นั้นไม่พอครับ ต้องไปให้ถึงต้นตอ นั่นคือ ไทย-เมียนมา-จีน ต้องรวมจีนด้วย

 

เหมืองแรร์เอิร์ธ ที่เราเห็นกำลังเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญในช่วงสองปีที่ผ่านมา ในต้นน้ำแม่กก เป็นเพียงแค่การเริ่มต้น ที่หากเราไม่หยุดในตอนนี้ อนาคต เราจะเสียหายอีกเยอะมาก

 

ประชาชนคนไทยต้องรับผลกระทบเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่า และจะไม่ได้กระทบแค่น้ำกกน้ำสาย แต่จะกระทบกับน้ำโขงที่กินพื้นที่มากแค่ภาคเหนือ

 

ทำไมต้องจีนครับ เพราะจีนครองตลาด Rare earth อยู่กว่า 80% ของทั้งโลกครับ และก็นำเข้าจากเมียนมาเยอะมากด้วยเช่นกัน เราต้องไปให้ถึงต้นตอ เพื่อแก้ปัญหาให้กับประชาชนของเรา

 

จีนได้เปรียบมากพอแล้ว เพราะฝั่งสหรัฐ ยุโรป ไม่สามารถหา Heavy rare earth ที่มีราคาสูงมากได้ หาได้เพียงแค่ Light Rare earth เท่านั้น และต้นทุนทำเหมืองสูงกว่ามากเพราะเป็นหินแข็ง ไม่ใช่เป้นลักษณะ Clay เหมือนในโซนเมียนมา ที่ขั้นตอนการทำง่ายมาก ต้นทุนไม่สูงเลยเมื่อเทียบกับพื้นที่ชั้นหิน

 

ส่วนนี้กรอบความร่วมมือแรกที่เราทำได้เลย คือ กรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้างครับ ที่มี ไทย-จีน-และเมียนมาอยู่ครบ โดยในกรอบความร่วมมือนี้ จะมีการตั้งศูนย์ความร่วมมือเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อมด้วย นั่นคือ Lancang-Mekong Environmental Cooperation Center

 

ซึ่งในจุดนี้มีมานานแล้วนะครับ มี action plan 5 ปีออกมาด้วย และใน action plan ก็มีเรื่องที่พื้นฐานที่สุดคือ การประชุม Roundtable ปีละ 1 ครั้ง แต่ roundtable dialogue ออกมาล่าสุดปีอะไรรู้ไหมครับ ปี 2021 ครับ นี่แหละครับที่มาของปัญหานี้ เราเพิกเฉยกับปัญหานี้มานานมาก จนมันส่งผลกระทบกับประชาชน

 

และยังมีกลไก ASEAN-China Environmental Cooperation อีก ที่มี action plan ปี 2021-2025 อีกที่สามารถหยิบมาใช้ต่อรองได้ ยังไม่ได้พูดถึง Basel Convention ที่สามารถใช้ได้เช่นกันนะครับ

 

ช่องทางแก้ไขเรามี แต่รัฐบาลต้องเป็นคนทำ รัฐมนตรีมีเพื่อทำงานให้ประชาชน ไม่ใช่ตำแหน่งต่อรองทางการเมือง อย่าปล่อยให้ประชาชนต้องเผชิญกับปัญหานี้ แล้วทำให้ปัญหามันใหญ่ขึ้นกว่าอีกหลายเท่าในอนาคต จากการเพิกเฉยของรัฐบาลเอง สุดท้ายแล้วถ้ายังไม่ทำ ไม่พร้อมจริงๆ ก็ไม่ควรมาเป็นรัฐบาลตั้งแต่แรก