posttoday

ศาลไม่รับพิจารณา’ซื่อสัตย์สุจริต‘นายกฯตั้งรมต.ต้องรับผิดชอบ

13 มีนาคม 2568

ชูศักดิ์ ศิรินิล แจงตั้งรัฐมนตรี นายกฯต้องระวังเต็มที่ หลังศาลรธน.ไม่รับพิจารณา"ซื่อสัตย์สุจริต"เชื่อ 17 มี.ค. รัฐสภาส่งตีความปมประชามติได้ความขัดแย้งเกิดแล้ว

นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงประเด็นมาตรฐานจริยธรรมและความซื่อสัตย์สุจริตในการแต่งตั้งบุคคลดำรงตำแหน่ง หลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 8 ต่อ1 เสียงไม่รับตีความว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้ให้คำตอบที่ค่อนข้างชัดเจน ซึ่งแม้จะพอคาดเดาแนวทางของศาลได้ แต่ปัญหายังคงอยู่ที่การตีความหลักเกณฑ์ โดยเฉพาะเรื่องคุณสมบัติของบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อ
 

นายชูศักดิ์ ระบุว่า การพิจารณาคุณสมบัติต้องดูเป็นรายบุคคล เพราะแต่ละคนมีภูมิหลังแตกต่างกัน เช่น บางคนเคยถูกปรับข้อหาจอดรถในที่ห้ามจอด คำถามคือถือว่าไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตหรือไม่ ซึ่งประเด็นนี้ทำให้ดุลพินิจของผู้แต่งตั้งมีขอบเขตกว้าง ขณะที่หลักนิติรัฐและนิติธรรมระบุว่ากฎหมายต้องมีความแน่นอน แต่เมื่อศาลไม่ให้ความชัดเจน ก็เป็นหน้าที่ของผู้มีอำนาจแต่งตั้งที่ต้องพิจารณาเอง

เมื่อถูกถามว่าการแต่งตั้งบุคคลในอนาคตจะมีความเสี่ยงหรือไม่ นายชูศักดิ์ตอบว่า แม้จะมองว่าเสี่ยง แต่ต้องใช้ความระมัดระวังอย่างเต็มที่ และอาจต้องตรวจสอบคุณสมบัติอย่างละเอียด เช่นเดียวกับการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีชุด "แพทองธาร 1" ซึ่งที่ผ่านมา สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) และคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจสอบแล้ว แต่ก็ยังมีปัญหา เพราะเป็นเรื่องของดุลพินิจที่ต้องชั่งน้ำหนัก

ในกรณีที่มีการปรับคณะรัฐมนตรีในอนาคตและมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากสังคม นายชูศักดิ์กล่าวว่า ต้องรวบรวมความคิดเห็นจากทุกฝ่ายและชั่งน้ำหนักก่อนตัดสินใจ แต่สุดท้ายผู้แต่งตั้งต้องเป็นผู้รับผิดชอบ

นายชูศักดิ์ ยังกล่าวถึงรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันว่า แม้จะถูกเรียกว่า "รัฐธรรมนูญปราบโกง" แต่สิ่งสำคัญคือต้องมีมาตรฐานที่ชัดเจน ไม่ปล่อยให้มีการตีความที่หลากหลาย ซึ่งเป็นประเด็นที่ควรพิจารณาหากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในอนาคต อย่างไรก็ตาม การเสนอให้แก้ไขไม่ได้หมายถึงการลดมาตรฐานจริยธรรม แต่ต้องทำให้เกิดความชัดเจนมากขึ้น

สำหรับประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญส่งสัญญาณในครั้งนี้ จะส่งผลต่อการประชุมรัฐสภาในวันที่ 17 มีนาคม ซึ่งจะพิจารณาว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องทำประชามติก่อนหรือไม่หรือไม่ นายชูศักดิ์ระบุว่า ทั้งสองเรื่องเป็นประเด็นที่แตกต่างกัน โดยการยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยเรื่องประชามติเกิดขึ้นจากความขัดแย้งในรัฐสภา ซึ่ง ส.ส. บางส่วนเห็นว่าประธานรัฐสภาไม่มีอำนาจในการบรรจุวาระดังกล่าว และต้องรอดูว่าศาลจะรับคำร้องพิจารณาหรือไม่