posttoday

เกาะติดเลือกตั้งพิษณุโลก15ก.ย. เพื่อไทย แพ้ไม่ได้ ชี้วัดบารมี นายกฯอิ๊งค์

14 กันยายน 2567

แม้จะเป็นเพียง การเลือกตั้งซ่อมสส.เขต1 พิษณุโลก เป็น 1 เสียง ที่ไม่ว่า ฝ่ายรัฐบาล-เพื่อไทย หรือ ฝ่ายค้าน-พรรคประชาชน ใครจะคว้าชัยได้มา ไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลง พลิกโฉมหน้า ความเป็น ฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล แต่ด้วย ศักดิ์ศรีค้ำคอ ต่างฝ่าย ต่างยอมไม่ได้ 

KEY

POINTS

  • 15ก.ย.67 เลือกตั้งซ่อมสส.เขต1 พิษณุโลก แทนตำแหน่งที่ว่างลง เป็นการแข่งขันระหว่าง ณฐชนน ชนะบูรณาศักดิ์ ผู้สมัครสส.พิษณุโลก เบอร์1 พรรคประชาชน กับ จเด็ศ จันทรา ผู้สมัครสส.เบอร์2 พิษณุโลก พรรคเพื่อไทย
  • บริบทการเลือกตั้งซ่อม แตกต่างจาก การเลือกตั้งทั่วไปสส. ต่างฝ่ายต่างงัดกลยุทธ์ออกมาต่อสู้   
  • ผลสำรวจ คะแนนนิยม โพลภายใน ในระยะหลัง ผู้สมัครทั้งสองพรรค ต่างคู่คี่ สูสี
  • พรรคประชาชน ไม่อยากเสียพื้นที่ ตั้งเป้า รักษาแชมป์ไว้ให้ได้
  •  พรรคเพื่อไทย มีเดิมพันสูง เป็นการสะท้อนถึงวิธีการทำงาน และวัดบารมี หัวหน้าพรรค แพทองธาร ชินวัตร ที่แกนนำต่างระดมสรรพกำลังเต็มที่
  • กลไกรัฐ ปัจจัยเงื่อนไข องค์ประกอบ กลยุทธ์ ยุทธวิธีต่างๆ ทางพรรคเพื่อไทย ถูกนำมาใช้สำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้ 

แม้จะเป็นเพียง การเลือกตั้งซ่อมสส.เขต1 พิษณุโลก เป็น 1 เสียง ที่ไม่ว่า ฝ่ายรัฐบาล หรือ ฝ่ายค้าน ใครจะคว้าชัยได้มา ไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลง พลิกโฉมหน้า ความเป็น ฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล แต่ด้วย ศักดิ์ศรีค้ำคอ ต่างฝ่าย ต่างยอมไม่ได้ 

เขต1 พิษณุโลก การเลือกตั้งปี 2562 กับ การเลือกตั้ง 2566 หมออ๋อง-ปดิพัทธ์ สันติภาดา จากพรรคอนาคตใหม่ และ ก้าวไกล ตามลำดับ คว้าชัยมาได้ ตลอด2 ครั้ง เมื่อปี 2566 

-ปดิพัทธ์ สันติภาดา พรรคก้าวไกลในขณะนั้น ได้คะแนนเป็นอันดับหนึ่ง ด้วยคะแนน 40,842 คะแนน
-นายอดุลวิทย์ วิวัฒน์ธนาฒย์ พรรคพลังประชารัฐ 19,096 คะแนน
-นางสาวณัฐทรัชต์ ชามพูนท พรรคเพื่อไทย ได้18,180 คะแนน

หากนำคะแนนอันดับ 2และ3  บวกรวมกัน ยังไม่ชนะ คนที่ได้ที่1 แต่ด้วยปัจจัย ‘การเลือกตั้งซ่อม’ ไม่เหมือน ‘การเลือกตั้งสส.เป็นการทั่วไป’ มีตัวแปร ปัจจัยต่างๆ แตกต่างกัน

พรรคประชาชน แกนนำคณะก้าวหน้า ระดมแกนนำ-ผู้ช่วยหาเสียง ระดับแม่เหล็ก ‘ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ’ ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ ‘ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ’ ‘ปดิพัทธ สันติภาดา’ 'พรรณิการ์ วานิช' ช่วย โฟล์ค-‘ณฐชนน ชนะบูรณาศักดิ์’ ผู้สมัครสส.เขต 1 พิษณุโลก เบอร์1 พรรคประชาชน 

'พรรคเพื่อไทย' ศึกชิงสส.สนามนี้มี  'สมศักดิ์ เทพสุทิน' รมว.สาธารณสุข ในฐานะแกนนำกลุ่มวังน้ำยม ผู้กว้างขวาง สุโขทัย-พิษณุโลก-อุตรดิตถ์ มาคุมทัพ ระดมแกนนำ สส. นักปราศรัยสมาชิกพรรคเพื่อไทย เต็มอัตราศึก


‘เสริมศักดิ์ พงษ์พานิชย์’  ‘มนพร เจริญศรี’ ‘วิสุทธิ์ ไชยณรุณ’ ‘พรรณสิริ กุลนาถศิริ’ ‘กฤษณา สีหลักษณ์’ ‘อนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด’ ‘พิพัฒน์ชัย ไพบูลย์’ ช่วย บู้-‘จเด็ศ จันทรา’ ผู้สมัครสส.เขต1 พิษณุโลก เบอร์2 พรรคเพื่อไทย 

เกาะติดเลือกตั้งพิษณุโลก15ก.ย. เพื่อไทย แพ้ไม่ได้ ชี้วัดบารมี นายกฯอิ๊งค์
ตลอดการเลือกตั้งสส.เป็นการทั่วไป 3 ครั้งหลังสุด ปี2554 – วรงค์ เดชกิจวิกรม พรรคประชาธิปัตย์ ปี2562- ปดิพัทธ์ สันติภาดา พรรคอนาคตใหม่ ปี2566-ปดิพัทธ์ สันติภาดา พรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย ไม่ใกล้เคียงกับคำว่า ชนะเลย แต่ในการเลือกตั้งครั้งนี้ บริบทต่างๆเปลี่ยนไปมาก 
 

พรรคเพื่อไทยตั้งวอร์รูม ประเมินบทเรียนที่ผ่านมา ตรวจสอบพื้นที่ถี่ยิบ วางยุทธศาสตร์ กำหนดแนวทาง วางยุทธวิธี พรรคเพื่อไทย ให้ความสำคัญ สนามนี้เป็นพิเศษ ปักธงต้องชนะเท่านั้น แพ้ไม่ได้ 


1.เป็นการเลือกตั้งใหญ่ สนามแรก ภายใต้การนำของ 'อิ๊งค์'-'แพทองธาร ชินวัตร' นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคเพื่อไทย สะท้อน บารมี เพื่อไทย ยังเข้มขลัง หรือไม่ หากต้องวัดกับ เท้ง-ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน 

2.การจับมือ ระดมพล บ้านใหญ่ กลุ่มผู้สมัคร ที่ได้คะแนน 2-3-4 ในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด ต่างแปรเปลี่ยนเป็น พรรคร่วมรัฐบาล และครั้งนี้ หลีกทางให้ พรรคแกนนำรัฐบาล ส่งผู้สมัครคนเดียว ไม่ส่งผู้สมัครไปแข่ง ตัดคะแนนกันเอง


3.ปัจจัย กลไกรัฐ การเลือกตั้งซ่อม ไม่เหมือนเลือกตั้งใหญ่ จำนวนผู้มาใช้สิทธิ์ การตื่นตัว จำนวนผู้ไปใช้สิทธิ์ มีผลโดยตรงต่อการลงคะแนน ถ้าผู้ไปใช้สิทธิ์น้อย จะส่งผลความได้เปรียบให้ กลุ่มที่ควบคุมกลไก ฐานเสียงได้

   
4.พรรคก้าวไกล สมัยการเลือกตั้งปี2566 คะแนนส่วนใหญ่ ได้มาจาก การเลือกตั้งล่วงหน้า ผิดจากการเลือกตั้งซ่อม ไม่มีการเลือกตั้งล่วงหน้า 

5.พื้นที่ เขตเลือกตั้งที่ 1 ประกอบด้วยอำเภอเมืองพิษณุโลก (เฉพาะตำบลในเมือง ตำบลอรัญญิก ตำบลวัดจันทร์ ตำบลบ้านคลอง ตำบลพลายชุมพล ตำบลท่าทอง ตำบลบึงพระ ตำบลวัดพริก และตำบลวังน้ำคู้) ไม่ได้เป็นชุมชนนักศึกษา กลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่ส่งผลต่อการตัดสินชี้ขาด แพ้ชนะ เพียงอย่างเดียว 

6.สุชน ชามพูนท อดีตสส. 14 สมัย หนึ่งในบ้านใหญ่พิษณุโลก ปักหลักในขั้ว เพื่อไทย ผู้กว้างขวางในเขตเมืองพิษณุโลก ส่งทายาทลงสมัครในนามพรรคเพื่อไทย  การเมืองท้องถิ่น มี เปรมฤดี ชามพูนุท เป็นนายกเทศมนตรีนครพิษณุโลก ขณะที่  มนต์ชัย วิวัฒน์ธนาฒย์ นายกอบจ.พิษณุโลก มีสายสัมพันธ์อันดี กับ ชามพูนุท และ พรรคเพื่อไทย 


7.การเลือก สส. เพื่อไปประสาน เชื่อมโยงรัฐมนตรี รัฐบาล เพื่อสานต่อนโยบายเรือธง มีสส.แล้วได้เข้าไปทำหน้าที่ ผลักดันไปทำหน้าที่ เลือกไปเป็น รัฐบาล กลายเป็นข้อได้เปรียบกว่า เลือกเพื่อไป ทำหน้าที่ฝ่ายค้าน

เกาะติดเลือกตั้งพิษณุโลก15ก.ย. เพื่อไทย แพ้ไม่ได้ ชี้วัดบารมี นายกฯอิ๊งค์

การเลือกตั้งสส.เป็นการทั่วไป เขต1 พิษณุโลก 4 ครั้งหลังสุด 2548-2554-2562-2566 พรรคเพื่อไทย ไม่เคยคว้าชัยชนะ ได้เลย ไม่อาจยึดครองหัวใจ ผู้คนในเมืองพิษณุโลก ได้ยังสะกด ชัยชนะ ไม่เป็น แต่ถ้าหากจะย้อนไปไกลกว่านั้นอีกนิด 2544 ในยุคไทยรักไทย มี ทักษิณ ชินวัตร เป็นหัวหน้าพรรค ยึดครองใจชาวพิษณุโลกได้ทั้งในเขต1 และอีกหลายเขต

จากปี 2544 ถึง 2567 บริบทการเมืองเปลี่ยนแปลงไป 23 ปีให้หลังจากนั้น ด้วยบริบท เงื่อนไขอะไรๆที่เปลี่ยนแปลงไป พรรคเพื่อไทย เข้าใกล้ชัยชนะ มากกว่าครั้งไหนๆ

1 คะแนนเสียง ไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงการเมือง แต่ 1 เสียงนี้ บ่งบอกส่งผลต่อความหวัง ความเชื่อมั่น ความนิยมเพื่อไทย-แพทองธาร-รัฐบาล กับ พรรคประชาชน-ณัฐพงษ์-ฝ่ายค้าน อีกด้วย ใครจะได้ชัยในสนามนี้ไป 15 ก.ย. 2567 มีคำตอบแน่นอน