posttoday

ชัยธวัช แนะ ปัญหาภาคใต้ต้องแก้ทั้งระบบ ปลุกจัดโครงสร้างที่ดินใหม่

25 พฤษภาคม 2567

ชัยธวัช ชี้ ภาคใต้พึ่งพาแค่ท่องเที่ยวเป็นหลัก ชี้ ผันผวนง่าย แนะ แก้ปัญหาเชิงระบบ ชี้ ก้าวไกล ให้ความสำคัญกระจายอำนาจ ปัญหาที่ดิน เชื่อทำให้ยกระดับเศรษฐกิจได้ ศิริกัญญา เร่งดัน กฎหมายควบคุมอาคาร โรงแรม กังวลโครงการ ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ ขาดการมีส่วนร่วมจากประชาชน

วันที่ 25 พ.ค. ที่โรงแรมคริสตัล หาดใหญ่ จ.สงขลา ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วยผู้นำและ สส. พรรคฝ่ายค้าน ร่วมเปิดเวทีผู้นำฝ่ายค้านพบประชาชน โดยมีทั้งตัวแทนจากภาคประชาชน ภาคธุรกิจ และหน่วยงานราชการ ร่วมเวทีในวันนี้เป็นจำนวนมาก 

นายชัยธวัชกล่าวปาฐกถาของชัยธวัช ในหัวข้อ 3 ล็อกเศรษฐกิจภาคใต้ ตอนหนึ่งว่า เมื่อดูข้อมูลภาพรวมรายได้ของภาคใต้ จะเห็นว่ามีอัตราเติบโตน้อยและถดถอยลงตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา ภาคใต้ในช่วงหลังพึ่งพาการท่องเที่ยวเป็นหลัก ส่วนเครื่องยนต์อื่นๆ แทบไม่โตเลยในภาพรวม ภาคใต้ไม่มีอย่างอื่นโตเลยนอกจากการท่องเที่ยวซึ่งมีความผันผวนง่าย เศรษฐกิจหลังโควิดภาคใต้ก็ยังโตช้าเมื่อเทียบกับภาคอื่น คุณภาพชีวิต จะเห็นว่าสัดส่วนครัวเรือนยากจนยังสูง อาจนำไปสู่ภาวะความเหลื่อมล้ำในระยะยาวได้ ไม่มีงานให้ทำมากพอ อัตราอาชญากรรมก็สูงกว่าค่าเฉลี่ย สัดส่วนประชากรยากจนก็สูง ครัวเรือนในภาคใต้ที่มีความเสี่ยงกับภัยพิบัติก็สูงกว่าภาพรวมของทั้งประเทศ

นายชัยธวัชกล่าวว่า เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจของภาคใต้ ภาคเกษตร การท่องเที่ยวอุตสาหกรรม อยู่ในสภาวะที่ควรตั้งคำถามว่าจะไปอย่างไรต่อ ภาคเกษตร แม้จะมีการเปลี่ยนสัดส่วนผลผลิต แต่มูลค่าผลผลิตโดยรวมไม่เปลี่ยนแปลง การท่องเที่ยวก็ยังฟื้นตัวช้า ที่ฟื้นตัวเร็วได้แค่ไม่กี่จังหวัดเท่านั้น นักท่องเที่ยวกลับมาปริมาณมากขึ้นแต่การจับจ่ายใช้สอยไม่ได้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากนักท่องเที่ยวที่เป็นคนไทย ทำให้ต้องพึ่งนักท่องเที่ยวต่างประเทศมากขึ้นอีก นักท่องเที่ยวต่างประเทศตอนนี้ก็กลับมาแค่ประมาณ 71% ของช่วงก่อนโควิดเท่านั้น โจทย์ใหญ่ของการท่องเที่ยวภาคใต้ตอนนี้อยู่ที่จะกระจายสัดส่วนการกระจุกตัวของการท่องเที่ยวที่อยู่แค่ประมาณ 5 จังหวัด กระบี่ ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี สงขลา พังงา ได้อย่างไร 

ในภาคอุตสาหกรรมก็มีปัญหาเรื่องการกระจุกตัวอยู่ในอุตสาหกรรมขั้นต้นเท่านั้น คือการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรเป็นส่วนใหญ่ ปัญหาคือ อุตสาหกรรมเหล่านี้จะได้รับผลกระทบจากความผันผวนในราคาภาคเกษตรของโลกตามไปด้วยโดยตรง อย่างที่เคยเกิดขึ้นและยังคงเกิดอยู่กับราคายางพาราในปัจจุบัน สิ่งที่ต้องคิดวันนี้ ไม่ใช่การแก้ปัญหาเป็นรายมาตรการหรือรายธุรกิจ แต่เป็นการแก้ปัญหาในเชิงระบบ วันนี้พี่น้องประชาชนหลายคนสะท้อนเรื่องการจัดการปัญหาที่ดิน หลายคนพูดเรื่องการกระจายอำนาจ เราให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้เพราะเราเชื่อว่าการยกระดับศักยภาพทางเศรษฐกิจในต่างจังหวัดไม่ใช่แค่การแก้ปัญหาทีละเรื่อง แต่ต้องแก้ปัญหาทั้งระบบโครงสร้าง อย่างเช่นการปฏิรูปที่ดินทั้งระบบเพื่อจัดการโครงสร้างที่ดินใหม่ การกระจายอำนาจ การปฏิรูประบบงบประมาณ เป็นต้น
 

เวทีช่วงต่อมาคือการเสวนาในหัวข้อ ”ปัญหาและโอกาสทางเศรษฐกิจของภาคใต้“ โดยมีตัวแทนพรรคการเมืองฝ่ายค้านเข้าร่วม ประกอบด้วย นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล จากพรรคก้าวไกล นางสาวพลอยทะเล ลักษมีแสงจันทร์ จากพรรคประชาธิปัตย์ นายชวลิต วิชยสุทธิ์ จากพรรคไทยสร้างไทย นายกัณวีร์ สืบแสง จากพรรคเป็นธรรม เป็นต้น

นางสาวศิริกัญญาระบุว่า ประเด็นที่สะท้อนมาจากภาคประชาชนและภาคเอกชนมีหลายเรื่องที่ฝ่ายค้านสามารถรับนำไปผลักดันได้ทันที หลายเรื่องเป็นประเด็นที่ต้องผลักดันผ่านร่างกฎหมาย เช่น พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ร.บ.โรงแรม ฯลฯ ส่วนอีกประเด็นที่ตัวแทนภาคประชาชนสะท้อนขึ้นมา คือเรื่องของระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (SEC) สถานะล่าสุดวันนี้ยังไม่มีร่าง พ.ร.บ.ที่เป็นของคณะรัฐมนตรีออกมา ที่น่ากังวลคือถ้าร่างของคณะรัฐมนตรีออกมาเมื่อไหร่ อาจจะเข้าสภาฯ อย่างรวดเร็วและผ่านการพิจารณาอย่างรวดเร็ว จนอาจขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน แม้โดยเนื้อหาหลักหลายเรื่องจะมีความคล้ายคลึงกับเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) แต่พอเป็น SEC บริบทค่อนข้างแตกต่างกันเพราะ EEC เป็นการต่อยอดจากพื้นที่ที่มีพื้นฐานอุตสาหกรรมดั้งเดิมอยู่แล้ว แต่ SEC เป็นการเริ่มใหม่ตั้งแต่ต้น ทำให้การดำเนินโครงการจำเป็นต้องมีความรอบคอบมากยิ่งขึ้น

เวลาพูดถึงเศรษฐกิจของภาคใต้ ไม่ว่าจะเป็นภาคการท่องเที่ยว อุตสาหกรรม หรือภาคเกษตรของภาคใต้ เราอยากเห็นบทบาทของรัฐที่มาเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงขับเคลื่อนมากยิ่งขึ้น หลายครั้งที่รัฐเหมือนจะมีแนวคิดแต่ก็ไม่ได้ขับเคลื่อนให้สุดหรือไม่ได้ทำเลย อย่างเช่นรับเบอร์ซิตี้ (Rubber City) ที่เดิมวางให้เป็นโครงการส่งเสริมอุตสาหกรรมการแปรรูปยางพาราในขั้นปลายมากขึ้น ถึงขั้นตั้งนิคมอุตสาหกรรมรับเบอร์ซิตี้ขึ้นมา แต่สุดท้ายก็กลายเป็นนิคมร้าง เราอยากเห็นอุตสาหกรรมในภาคใต้ที่พัฒนาจากขั้นพื้นฐานให้ก้าวหน้ามากขึ้น แต่รัฐก็ต้องมีบทบาทนำมากกว่านี้

แน่นอนว่าภาคเกษตรยังเป็นปัญหาโครงสร้างใหญ่สำคัญของภาคใต้ เพราะการพึ่งพิงพืชเศรษฐกิจไม่กี่ตัว อาจทำให้มีความเปราะบางที่เสี่ยงต่อรายได้ที่ผันผวน ภาคใต้เคยเป็นภาคที่มีอัตราส่วนของเด็กที่เรียนต่อในระดับภาคบังคับสูงที่สุดในประเทศรองจากกรุงเทพมหานคร หลังจากนั้น 10 ปีกลายเป็นภาคที่มีเด็กต้องตกหล่นจากระบบการศึกษาประมาณหนึ่งในสาม สะท้อนภาพใหญ่ของเศรษฐกิจที่เปราะบางผันผวนของภาคใต้