posttoday

แกะรอยยึดทรัพย์ทักษิณ47,373ล.ปมใช้อำนาจนายกฯเอื้อชินคอร์ป

25 เมษายน 2567

เปิดข้อเท็จจริงคดียึดทรัพย์ทักษิณ 47,373ล.ใช้อำนาจซุกหุ้นเอื้อชินคอร์ปให้นอมินีถือแทนเข้ามาเป็นคู่สัญญารัฐ หลัง'นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ' อดีตสส.พัทลุงทวงถามรมว.คลังและอัยการสูงสุดถึงความคืบหน้าการให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน

กรณีนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ อดีตส.ส.พัทลุง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว คาใจเรื่องการยึดทรัพย์ 47,373 ล้านบาทของอดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร และเรียกร้องให้รมว.คลังซึ่งขณะนี้คือนายกฯเศรษฐา ทวีสินและสำนักงานอัยการสูงสุด ที่เป็นโจทก์ที่ต้องเป็นผู้นำยึดและขายทอดตลาดทรัพย์ ตอบคำถามใน2วัน
 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อได้สืบค้นข้อมูลพบว่า ประเด็นยึดทรัพย์ 47,373 ล้านบาทของอดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 26 ก.พ.2553 โดยศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้มีคำพิพากษาให้ยึดทรัพย์ ของนายทักษิณตกเป็นของแผ่นดิน เนื่องจากร่ำรวยผิดปกติจากการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

โดยตามมติเสียงข้างมากขององค์คณะผู้พิพากษาทั้ง9คนมีคำสั่งให้ยึดทรัพย์นายทักษิณ และครอบครัว ที่ได้จากการขายหุ้นและเงินปันผลโดยระบุเหตุผลว่า เนื่องจากเป็นทรัพย์สินที่ได้มาโดยไม่สมควร สืบเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่อันเป็นการร่ำรวยผิดปกติ และเป็นการกระทำที่ขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม
 

คำพิพากษาดังกล่าวมีขึ้นหลังอัยการสูงสุดได้ยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์ของทักษิณและครอบครัวจำนวน 76,261.6 ล้านบาทตกเป็นของแผ่นดิน โดยให้ยึดเฉพาะเงินค่าขายหุ้นของบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ส่วนที่เพิ่มขึ้นหลังดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และเงินปันผล และคืนส่วนที่เหลือ 30,247 ล้านบาท เพราะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์เงินที่มีอยู่แต่เดิม

มติองค์คณะผู้พิพากษาระบุว่า ในขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทักษิณได้ใช้อำนาจเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัทในเครือ รวมทั้งสิ้น 5 กรณี ทำให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ได้แก่

  1. เอื้อประโยชน์ให้บริษัทเอไอเอส หลังแปลงสัมปทานเป็นภาษีสรรพสามิต ทำให้รัฐเสียหายกว่า 60,000 ล้านบาท 
  2. เอื้อประโยชน์ให้บริษัทเอไอเอส หลังปรับลดส่วนแบ่งค่าสัมปทานโทรศัพท์ระบบเติมเงิน
  3. ได้รับประโยชน์จากการแก้สัญญาให้รัฐร่วมรับผิดชอบค่าใช้เครือข่ายร่วมกับเอไอเอส ทำให้องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ทศท.) และการสื่อสารแห่งประเทศไทย (กสท.) ได้รับความเสียหาย 
  4. การสนับสนุนธุรกิจดาวเทียมไอพีสตาร์ เอื้อประโยชน์บริษัทชินคอร์ปฯ และไทยคม  
  5. สั่งให้ EXIM Bank อนุมัติเงินกู้ให้พม่า 4,000 ล้านบาท เอื้อประโยชน์บริษัทไทยคมและชินคอร์ปฯ


นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ อดีตส.ส.พัทลุง ได้ระบุในเฟซบุ๊กส่วนตัวด้วยว่า ต่อมาคณะกรรมการกฤษฎีกาได้มีความเห็นตามคำวินิจฉัยเรื่องเสร็จที่ 1357/2561 ว่า การดำเนินการยึดทรัพย์เป็นของแผ่นดินเป็นหน้าที่ของกระทรวงการคลังซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา  โดยร่วมกับอัยการสูงสุดที่เป็นโจทก์ เป็นผู้นำยึดและขายทอดตลาดทรัพย์และหากไม่มีคำตอบ อาจมีผู้ไปทวงคำถามนี้ นอกจากนี้ยังมีประเด็นต่อไปเรื่องนิรโทษกรรมว่า จะลบล้างการยึดทรัพย์ 47,373 ล้านบาทหรือไม่ หรือ คดีนี้ ขาดอายุความแล้วหรือไม่ ซึ่งนายนิพิฏฐ์จะอธิบายความเรื่องนี้ในโอกาสต่อไป