posttoday

เศรษฐา โชว์ผลงานทัวร์ 14 ประเทศ 6เดือน ตั้งเป้าดันไทย ศูนย์กลางผลิตยานยนต์EV

04 เมษายน 2567

เศรษฐา แจกเอกสารสส. โชว์ผลงาน 6 เดือน เยือน14ประเทศ ลุยเจรจา ดึงนักลงทุนครอบคลุม 7 กลุ่มอุตสาหกรรม ย้ำ ความสำเร็จ ตั้งเป้า พาไทย ศูนย์กลางผลิตยานยนต์แห่งอนาคต เล็งลดภาษี ดึงความสนใจนักลงทุน โว ไปต่างประเทศ คือเครื่องมือเรียบง่าย ทรงพลัง เห็นผลชัดเจนเร็วสุด

KEY

POINTS

  • เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แจกเอกสาร ‘IGNIGHT THAILAND Bulletin 6 เดือน 14 ประเทศ ภารกิจต่างแดนเปิดประตูประเทศไทย ไปสู่เวทีโลก’  ให้กับสส.
  • เนื้อหาเป็นการบอกเล่าถึง ภารกิจการเดินทางช่วง 6 เดือน ไป14ประเทศ เพื่อเจรจานักธุรกิจ เชิญชวนนักลงทุน มาลงทุนใน 7 อุตสาหกรรม

วันที่ 4 เม.ย. ระหว่างการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่ออภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง แจกเอกสาร ‘IGNIGHT THAILAND Bulletin 6 เดือน 14 ประเทศ ภารกิจต่างแดนเปิดประตูประเทศไทย ไปสู่เวทีโลก’ ให้กับสส.ที่มาร่วมประชุม

เอกสารดังกล่าว จัดทำโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ร่วมกับเพจไทยคู่ฟ้าของรัฐบาล มีเนื้อหา 8 หน้า ภาพปกเป็นภาพนายเศรษฐา นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกฯและรมว.ต่างประเทศ นพ.พรหมมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี หม่อมหลวงชโยธิต กฤดากร ประธานที่ปรึกนายกฯ นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาฯบีโอไอ
 

เนื้อหาเป็นการบอกเล่าความสำเร็จ ภารกิจการเดินทางเยือนต่างประเทศ ตั้งแต่เดือนก.ย.2566 – ม.ค. 2567 ของรัฐบาล 6 เดือน ที่เดินทางไปเยือนทั้งสิ้น 14 ประเทศ และได้จำแนก ผลการหารือเจรจานักธุรกิจ เชิญชวนนักลงทุน แต่ละหมวดธุรกิจ แบ่งออกเป็น 7 อุตสาหกรรมหลัก ประกอบด้วย 1.อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ Future Mobility 2.อุตสาหกรรมดิจิทัล Digital Industry 3.Electronics Industry

4.Finance and Investment Industry 5.Argriculture Industry 6.Tourism Industry 7. Other Industry 
 

เนื้อหาในเอกสารช่วงแรกระบุว่า ในสถานการณ์เช่นนี้ การเดินทางไปพบเพื่อเจรจา คือเครื่องมือที่เรียบง่าย แต่ทรงพลัง และเห็นผลชัดเจนรวดเร็วที่สุด สิ่งที่เกิดขึ้นหลังภารกิจในต่างแดนกว่า 14 ประเทศ ได้หารือกับบริษัทชั้นนำกว่า 60 แห่งทั่วโลก ภายในระยะเวลา 6 เดือนแรกของการทำงาน คือ ความมั่นใจของนักลงทุนต่างชาติที่เริ่มฟื้นคืนกลับมา สามารถเห็นได้จากมูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ในปี 2566 เพิ่มขึ้นถึง 72 เปอร์เซ็นต์ 

เนื้อหาที่เกี่ยวกับ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ ระบุอีกว่า “ ปัจจุบันประเทศไทย คือศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ของภูมิภาค จนมีฉายาว่าDetroit of Asia ที่มีอัตราการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเป็นอันดับที่ 1 ของภูมิภาคอาเซียน เป็นอันดับ 2 ของเอเชีย รองจากจีน แต่เราก็ยังต้องเดินหน้าพัฒนาความพร้อม และศักยภาพในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าซึ่งมาตรการของรัฐบาลจะให้ความสำคัญกับการส่งเสริมอุตสาหกรรมรถยนต์ EV อย่างรอบด้าน เพื่อสร้างห่วงโซ่อุปทาน และระบบนิเวศของอุตสาหกรรมที่ครบจบภายในประเทศ ไล่มาตั้งแต่การผลิตแบตเตอรี ชิ้นส่วนยานยนต์ ซอฟต์แวร์ ฮาร์ดแวร์ ยางรถ สถานีชาร์จ ตลอดจนการรีไซเคิล


ในช่วง 6 เดือนแรกของการทำงาน รัฐบาล ได้เดินหน้าเชื้อเชิญบริษัทยานยนต์กว่า 10 ราย จากทั่วโลกได้รับการตอบรับการลงทุนไปแล้วหลายแสนล้านในวาระ 4ปี ของรัฐบาลชุดปัจจุบันและจะมีตามมาอย่างต่อเนื่อง ปัจจัยหลักที่ทำให้หลายค่ายรถยนต์เลือกจะขยายฐานในไทยมากขึ้นก็คงไม่พ้นเรื่องของภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างมหาอำนาจที่แต่ละฝ่ายก็ออกนโยบายมากีดกันการค้ากันเป็นระยะ ไทยเราอยู่ในจุดสมดุลมาโดยตลอด และการต่างประเทศของรัฐบาลนี้ มีนโยบายมุ่งที่จะลดกำแพงให้กับผู้ผลิตในประเทศเพื่อให้ทันกับความต้องการที่เพิ่มขึ้น


ผลลัพธ์ส่วนหนึ่งที่เป็นที่ประจักษ์แล้วคือการตัดสินใจเลือกใช้ไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อส่งออกของบริษัทยานยนต์สัญชาติจีนหลายแห่ง อาทิ BYD, Aion, Changan, GWM และ MG รวมถึงแผนขยายการลงทุน ในประเทศไทยของ 4 ค่ายรถยนต์ญี่ปุ่น ได้แก่Toyota, Honda, Mitsubishi และ Isuzu


การลงทุนดังกล่าวเป็นโอกาสสำหรับผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ของไทยที่หลายบริษัทเป็นธุรกิจ SME ซึ่งทาง BOI ก็ได้มีนโยบายการจัดพาธุรกิจ SME ไทยไปพูดคุยกับบริษัทรถยนต์ต่าง ๆ แต่ในปัจจุบันที่เรายังอยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่าน ประเทศไทยก็จะยังคงเป็นฐานการผลิตรถยนต์สันดาปเพื่อส่งออกไปยังตลาดที่มีความต้องการไปพร้อมกับการเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าแช่งขันในตลาดรถยนต์ EV


สถิติจากงานมอเตอร์โชว์ พ.ศ. 2566 ระบุว่า ภายในงานมียอดจองรถยนต์ไฟฟ้า (EV)สูงกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ นับเป็นสัญญาณที่สะท้อนให้เห็นว่านับจากนี้ คนไทยพร้อมปรับตัวสู่ยุคของยานยนต์แห่งอนาคตอย่างเต็มตัวแล้ว


การสนับสนุนให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนไทย เข้าไปอยู่ในห่วงโซ่อุปทานโลก นับว่าเป็นภารกิจสำคัญที่จะเป็นประโยชน์อย่างมาก ทั้งกับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคตในประเทศให้สามารถปรับตัวเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าได้ ซึ่งที่ผ่านมา BOI ได้พยายามสนับสนุนผู้ผลิตชิ้นส่วนในไทยผ่านการจัดกิจกรรมจัดหาชิ้นส่วนในประเทศ (Sourcing Day) ร่วมกับผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าหลายราย เช่น BYD, NETAและ BMW ซึ่งมีผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศเข้าร่วมเจรจาธุรกิจมากกว่า 250 บริษัท และเกิดการจับคู่ธุรกิจระหว่างกันในงานกว่า 9,400 คู่ อีกทั้งยังจัดงานแสดงสินค้าอุตสาหกรรมชิ้นส่วน(SUBCON Thailand) ขึ้นเป็นประจำทุกปีทั้งที่กรุงเทพฯ และจังหวัดชลบุรี และจากการจัดกิจกรรมหลักในปีที่ผ่านมาทำให้เกิดการซื้อขายชิ้นส่วนทั้งหมดเป็นมูลค่ากว่า 50,000 ล้านบาท


เป้าหมายต่อไปคือการพาประเทศไทยไปสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์แห่งอนาคต(Future Mobility Hub) ตามแผน Thailand Vision 2030 ที่ได้แถลงเอาไว้ ซึ่งจำเป็นต้อง ดึงดูดการลงทุนจากผู้ผลิตชิ้นส่วนสำคัญอื่นๆของรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อเป็นฐานการผลิตชิ้นส่วนและแบตเตอรีที่สำคัญต่อการผลิตยานยนต์แห่งอนาคต โดยอาศัยความได้เปรียบในเชิงภูมิประเทศ และทรัพยากรที่มีอยู่เดิมของไทยให้เป็นประโยชน์ในปัจจุบัน BOI ได้ส่งเสริมการลงทุนแก่กิจการผลิตแบตเตอรีรถยนต์ไฟฟ้าไปแล้วทั้งสิ้น 40 โครงการ

ขณะเดียวกัน ยังมีนโยบายของภาครัฐที่จะเข้ามาส่งเสริมห่วงโซ่อุปทานของยานยนต์แห่งอนาคตให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น ผ่านนโยบายสำคัญคือ 30@30 ที่รัฐบาลตั้งเป้าผลิตรถ ZEV (Zero Emission Vehicle) ให้ได้อย่างน้อย 30 เปอร์เซ็นต์ ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในปี 2030 รวมถึงมาตรการ EV 3.5 ที่รัฐบาลตั้งเป้าจะให้เงินอุดหนุน ร่วมกับการลดอัตราภาษีอากรของยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อดึงดูดให้ประชาชนหันมาให้ความสนใจกับยานยนต์พลังงานสะอาดมากขึ้นอีกในอนาคต

เป้าหมายต่อไปคือ การพาประเทศไทยไปสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์แห่งอนาคต

ติดตามรายละเอียดเนื้อหาในเอกสารทั้งหมด

https://go.fliplink.me/view/IGNITETHAILANDBULLETINAPRIL2024