posttoday

รักษาการผบ.ตร.เผย'บิ๊กโจ๊ก'ปฏิบัติราชการปกติรอกก.สอบวินัย

03 เมษายน 2567

รักษาการผบ.ตร.พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ แจงสถานะ'บิ๊กโจ๊ก'ยังปฏิบัติหน้าที่ราชการตามคำสั่งนายกฯ ส่วนปมข้อหาฟอกเงินรอกก.สอบวินัย

พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รักษาการผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยที่รัฐสภาว่า เดินทางมาพบนายกฯเศรษฐา ทวีสินเพื่อรายงานขั้นตอนและกระบวนการที่จะพิจารณากรณีพล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล​ รองผบ.ตร. ผู้ต้องหาตามหมายจับสน.เตาปูน คดีฟอกเงินเว็บพนันออนไลน์ ซึ่งในฐานะผู้บังคับบัญชาของพล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ต้องปฎิบัติ ตามพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 โดยพิจารณาเรื่องวินัย โดยแยกเป็นเรื่องของการปฏิบัติหน้าที่ก่อน 
 

วันนี้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ มาปฏิบัติหน้าที่ที่สำนักนายกรัฐมนตรี เป็นการปฏิบัติตามคำสั่งของนายกฯแต่ในคำสั่งระบุไว้ชัดเจนว่า การรับเงินเดือน เงินพิเศษ เงินประจำตำแหน่ง และสิทธิประโชยน์ต่างๆให้รับจากต้นสังกัด กระบวนการขั้นตอนจะต้องได้รับรายงานจากคณะพนักงานสอบสวนของนครบาล 1 ฉบับ ขณะนี้ยังไม่มีการรายงานมา นอกจากนี้ จะมีฉบับที่2 ของพล.ต.อ.สุรเชษฐ์ด้วยเป็นไปตามระเบียบตำรวจไม่เกี่ยวกับคดีและเมื่อมาถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะต้องรายงานมาที่กองคดีอาญาก่อนขณะเดียวกันกองวินัยจะต้องรายงานผลเช่นกัน โดยเมื่อนำรายงานทั้ง2เส้นทาง ประกอบด้วย เหตุ พฤติการณ์ ความรุนแรงแห่งคดี นำมาประกอบการพิจารณาในฐานะฝ่ายอำนวยการให้รักษาการ ผบ.ตร.ได้พิจารณา
เป็นอย่างหนึ่งอย่างใด 

"การพิจารณาเราจะดูว่า มีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการกระทำผิดวินัยเกิดขึ้นหรือไม่ ซึ่งเป็นไปตามบทบัญญัติของพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 ซึ่งเป็นขั้นตอน และเมื่อกองวินัยได้ประมวลขึ้นมาว่ามีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการกระทำผิดวินัยก็เป็นเรื่องของผู้บังคับบัญชา คือผมจะต้องพิจารณาว่า ตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง เพื่อให้ข้อเท็จจริงปรากฎและให้โอกาสกับผู็ถูกสืบสวนข้อเท็จจริงได้ชี้แจง ซึ่งถือเป็นเรื่องที่กำนดไว้" รักษาการผบ.ตร. กล่าว

รักษาการผบ.ตร. กล่าวว่า ในขั้นตอนกระบวนการสืบสวนข้อเท็จจริงจะยังไม่มีการพิจารณาในเรื่องของการพักราชการ ออกราชการ หรือสำรองราชการไว้ก่อน เพราะเป็นการปฏิบัติภายใต้กฎ ก.ตร. ที่กำหนดไว้ การสืบสวนของเท็จจริงของคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงจะต้องใช้ระดับไม่ต่ำกว่าที่มียศต่ำกว่า พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ซึ่งตรงนี้ตนต้องไปพิจารณาว่าจะมอบหมายให้ใคร ขณะนี้ยังไม่ถึงกระบวนการดังกล่าว แต่หากการสืบสวนข้อเท็จจริวปรากฎเหตุออกมาว่า มีการกระทำความผิดวินัยร้ายแรงเกิดขึ้นก็จะไปเข้าอีกบทบัญญัติหนึ่งของมาตรา 119 ใน พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 ว่าจะต้องมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนพิจารณาทางวินัยอีกระดับหนึ่ง ซึ่งในขั้นตอนนั้นก็จะมีการใช้การพิจารณาว่าเข้าเงื่อนไขในกฎ ก.ตร. หรือไม่ เข้าองค์ประกอบที่บัญญัติไว้ในกฎหมายตำรวจปี 2565 ในมาตรา 112 หรือไม่ ซึ่งมีการกำหนดไว้อยู่แล้ว 

“ผมจะๆไม่ใช้ดุลยพินิจที่นอกเหนือไปกว่านี้เลย ซึ่งจะมาประกอบการพิจารณาว่า การตั้งคณะกรรมการสอบสวนพิจารณาทางวินัยจะต้องให้พัก หรือออก หรือสำรองหรือไม่ อยู่ที่ขั้นตอนนี้ และทั้งหมดนี้ก็จะเข้าสู่ขั้นตอนการให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหาได้ชี้แจง อยากให้ทุกคนแยกออกระหว่างเรื่องของอาญากับเรื่องวินัย” รักษาการผบ.ตร. กล่าว

เมื่อถามว่า กรณีที่ศาลออกหมายจับจะต้องนำคำสั่งศาลที่อนุมัติหมายจับดังกล่าวมาประกอบการพิจารณาด้วยใช่หรือไม่ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ กล่าวว่า ทุกอย่างกองวินัยจะนำมาประกอบการพิจารณา ซึ่งจะมีกำหนดไว้เป็นข้อๆอยู่แล้วว่าผู้ชี้แจงหรือผู้รายงานตนต้องคดีอาญาจะต้องรายงานอะไรเป็นข้อๆ 

"หากถามว่า ณ เวลานี้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ จะต้องถูกพักหรือไม่ ขอเรียนว่า ไม่ว่าจะเป็นชั้นยศใดจะต้องอยู่ภายใต้บทบัญญัติของกฎหมาย ระเบียบและคำสั่ง ซึ่งข้าราชการตำรวจทุกคนต้องปฏิบัติตามซึ่งยังถือว่าพล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ยังคงต้องปฏิบัติราชการอยู่ตามปกติ นี่คือสิ่งที่เราต้องให้ความเสมอภาคและเป็นธรรมกับข้าราชการทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน" พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ กล่าว