posttoday

'ทวี'แจงทักษิณรับอานิสงส์รัฐบาลเก่า-'จุรินทร์'ฟาดตรรกะวิบัติปมคุกทิพย์

03 เมษายน 2567

“ทวี”โต้ปมคุกทิพย์แจง'ทักษิณ'รับอานิสงส์รัฐบาลเก่าอนุมัติรักษาตัวรพ.ตำรวจด้าน“จุรินทร์”ลั่นตรรกะวิบัติพร้อมตั้งคำถามนิรโทษกรรม จะรวมคดีทุจริต - 157 ด้วยหรือไม่

ที่รัฐสภา การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 32 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) ญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี โดยไม่มีการลงมติ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 152

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สส. บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายรัฐบาลว่า ขอตั้งคำถามว่า นายกฯมีนโยบายนำคุกทิพย์โมเดลที่ทำลายหลักนิติธรรมยับเยินมาใช้ซ้ำสองหรือไม่ 

คำถามที่สองคือ ระเบียบใหม่ที่กระทรวงยุติธรรมจะออกเรื่องการกำหนดคุณสมบัติผู้มีสิทธิคุมขังนอกเรือนจำ ขอถามว่าระเบียบดังกล่าวรวมคดีทุจริต คดี 157 ได้ด้วยหรือไม่และรวมหรือไม่ ถ้าให้นักโทษ 157 ติดคุกที่บ้านได้ เท่ากับรัฐบาลส่งเสริมการทุจริตมุมกลับ ระบบนิติธรรมจะเกิดวิกฤติอีกครั้งเพราะเกิดจากนักโทษเทวดาตัวใหม่

คำถามที่สามเรื่องนิรโทษกรรม ขอถามนายกฯในฐานะผู้คุมเสียงข้างมากและนั่งหัวโต๊ะในคณะรัฐมนตรี เพราะนิรโทษกรรมเป็นดาบสองคมใช่ถูกสร้างปรองดอง ถ้าผิดทางสร้างความแตกแยกครั้งใหม่ ขอถามว่ารัฐบาลนี้มีนโยบายที่จะนิรโทษ คดีทุจริตและปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามมาตรา 157 ด้วยหรือไม่ ที่ถามเพื่อส่งสัญญาณเตือนนายกฯและพวกพ้องว่าอย่าได้คืบเอาศอก เพราะในอดีตเคยมีคนพังเพราะไม่รู้จักพอมาแล้ว เพราะวันนี้มีคนร้ององค์กรต่างๆเรื่องนักโทษเทวดาทั้งหมด 24 เรื่อง พูดเพื่อเตือนนายกฯและรัฐบาล ว่าสิ่งที่นายกฯและพวกทำกับหลักนิติธรรมประเทศไว้จะเป็นระเบิดเวลาระเบิดใส่ตัวเองในอนาคต ขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์บรรดาลให้ทุกท่านดวงตาเห็นธรรมด้วย 

ขณะที่พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ลุกขึ้นชี้แจงถึงกระบวนการยุติธรรม  โดย ยืนยันว่านายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ เข้าสู่กระบวนการยุติธรร ก่อนที่รัฐบาลนายกฯเศรษฐาจะเข้ามาบริหารประเทศ ขณะนั้นนายจุรินทร์ ยังเป็นรัฐบาลในการบริหารประเทศร่วมกับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกฯ ซึ่งรัฐบาลในขณะนั้น เพียง 1 วันก็อนุญาตให้นายทักษิณไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ ชั้น 14 เมื่อเป็นยุคของท่าน ท่านใช้คำพูดอีกแบบหนึ่ง แต่พอเป็นเหตุการณ์ต่อเนื่องมา กลับกล่าวว่าเป็นการทำลายกระบวนการยุติธรรม 

การที่นายจุรินทร์ระบุว่า “คุกทิพย์” เป็นเรื่องที่เลวร้ายมาก เพราะกฎกระทรวงที่ออกในปี 2563-2564 นายจุรินทร์เป็นหนึ่งคนที่นั่งอยู่ในคณะรัฐมนตรี และหากไปดูตามความในพ.ร.บ.ราชทัณฑ์ระบุไว้ชัดเจนว่านักโทษที่ป่วย ต้องให้เข้ารับการรักษาโดยไม่ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมหรือกรมราชทัณฑ์เข้าไปเกี่ยวข้องแต่ให้เป็นความเห็นของแพทย์ ซึ่งนายทักษิณก็ไปอยู่ในกฎหมายและกฎกระทรวงที่นายจุรินทร์เป็นผู้เห็นชอบเพราะในมติครม.ไม่ได้มีการเห็นค้าน

ประมาณหนึ่งปีมีนักโทษประมาณ 50,000 กว่าคนใช้สถานที่จำคุกอื่นคือโรงพยาบาล ก็มีการหักโทษเท่ากันไม่มีการหักวันรักษาตัว แล้วต้องมาติดคุกเพิ่ม แต่เข้าใจว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของความรู้สึกถ้าเป็นคนฝ่ายเดียวกับท่านท่านจะคิดอีกแบบหนึ่ง ซึ่งตนไม่อยากให้สังคมเกิดความสับสน

จากนั้นนายจุรินทร์ได้ลุกขึ้นอภิปรายหลังจากที่ได้ฟังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมชี้แจงมาแล้วหลายเวที ก็ชี้แจงในแบบเดียวกัน หลักใหญ่บอกว่ากฎหมายเกิดสมัยของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งหากกฎหมายเกิดขึ้นในสมัยนั้น สืบเนื่องมาจากรัฐบาลนี้ จะทำถูกทำผิดอย่างไรก็ได้หรือหากมีตรรกะแบบนี้คือ“ตรรกะวิบัติ” 

เรื่องที่ได้อภิปรายคือเรื่องที่จะเกิดขึ้นในอนาคตซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของรัฐบาลนี้แบบเต็ม 100คือระเบียบที่จะกำหนด คุณสมบัติให้คนที่จะไปติดคุกที่บ้านได้ว่าจะรวมคดีคอรัปชั่นหรือไม่ เรื่องนี้มันอยู่ที่ท่าน ท่านจะโทษคนอื่นไม่ได้ถ้าท่านรวม นั่นแปลว่าท่านจะส่งเสริมการคอรัปชั่นในมุมกลับขึ้น โดยฝีมือรัฐบาลโดยตรง รวมถึงได้ตั้งคำถามเรื่องนี้นิรโทษกรรมที่ยังไม่เกิดขึ้น จะเกิดหรือไม่เกิดก็อยู่ที่รัฐบาลนี้ ตนจึงถามว่านิรโทษกรรมหากเกิดขึ้นจะรวมคดีทุจริตและ 157 ด้วยหรือไม่