posttoday

ราชกิจจาฯเผยแพร่คำวินิจฉัยศาลรธน.คดีพิธา-ก้าวไกลล้มล้างการปกครอง

01 มีนาคม 2567

เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ คดีพิธา-ก้าวไกล ยกเลิกมาตรา112ใช้เป็นนโยบายหาเสียงเลือกตั้ง เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อ “ล้มล้างการปกครองฯ” ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง

เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในคดีที่นายธีรยุทธ สุวรรณเกสร อดีตทนายความอดีตพุทธะอิสระ ได้ยื่นคำร้องขอให้วินิจฉัยว่า การกระทำของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และพรรคก้าวไกล ที่เสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายหาเสียงเลือกตั้ง เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อ “ล้มล้างการปกครองฯ” ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง 

ศาลรัฐธรรมนูญระบุในคำวินิจฉัย โดยอ้างคําวินิจฉัยที่ ๓/๒๕๖๒ ว่า สาระสําคัญซึ่งเป็นหลักการขั้นพื้นฐานของระบอบการปกครองประชาธิปไตยของไทย ดังได้ระบุไว้ในความของพระราชหัตถเลขาที่ ๑/๖๐ ลงวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๗๕ ว่า พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูงดํารงฐานะอยู่เหนือการเมือง โดยเฉพาะในแง่การไม่เข้าไปมีบทบาทเป็นฝักฝ่ายต่อสู้แข่งขันรณรงค์ทางการเมือง อันอาจนํามาซึ่งการโจมตี ติเตียน และกระทบกระเทือนต่อความเป็นกลางของสถาบันพระมหากษัตริย์ต้องถูกลบล้างไป 
 

ดังปรากฏเป็นที่ประจักษ์ในคําวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ ๖/๒๕๔๓ วินิจฉัยว่า “พระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้ใช้อํานาจอธิปไตย ทรงดํารงอยู่เหนือการเมือง และทรงดํารงไว้ซึ่งความเป็นกลาง ทางการเมือง” การที่ผู้ถูกร้องทั้งสองใช้การเสนอกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ เพื่อลดสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นนโยบายพรรคในการหาเสียงเลือกตั้ง และยังคงดําเนินการอย่างต่อเนื่อง เป็นการใช้ประโยชน์จากสถาบันพระมหากษัตริย์เพื่อหวังผลคะแนนเสียงและชนะการเลือกตั้งมุ่งหมายให้สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ในฐานะคู่ขัดแย้งกับประชาชน มีเจตนาเซาะกร่อนบ่อนทําลายสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นเหตุให้ชํารุดทรุดโทรม เสื่อมทราม หรืออ่อนแอลง นําไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในที่สุด

คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญสั่งการให้ผู้ถูกร้องทั้งสองเลิกการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่นเพื่อให้มีการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ อีกทั้งไม่ให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ ด้วยวิธีการ ซึ่งไม่ใช่กระบวนการทางนิติบัญญัติโดยชอบ ที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตด้วยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๔๙ วรรคสอง และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๖๑ มาตรา ๗๔

คลิ๊กอ่านราชกิจจานุเบกษา