posttoday

พิธา โต้ ก้าวไกลอ่อนแอ ไม่ตรวจสอบ ทักษิณ ไม่รับปากแตะปมนี้ ช่วงซักฟอกรัฐบาล

26 มกราคม 2567

พิธา โต้ ก้าวไกล ทำหน้าที่ด้อยกว่าสว. ไม่ยอมตรวจสอบ ทักษิณ อ้าง ชัยธวัช ยื่นกระทู้ถามสภาฯแล้ว ถึงปัญหาระบบไม่เสมอภาค ระบุ พรรคเสนอ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม หวังทำให้เท่าเทียม ไม่รับปาก ช่วงอภิปราย มีเรื่องทักษิณ ด้วยหรือไม่ เย้ยสว.อยู่หลายปี เพิ่งเคยเปิดอภิปรายรัฐบาล

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวตอนหนึ่งระหว่างแถลงแผนทำงานพรรคก้าวไกลปี 2567 ถึงเสียงวิพากษ์วิจารณ์การทำหน้าที่ของพรรคก้าวไกลอ่อนแอลง โดยเฉพาะการตรวจสอบนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ไม่ได้ถูกคุมขัง แต่ยังพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจว่า ไม่เป็นความจริง พรรคก้าวไกล ทำงานอย่างตรงไปตรงมา นายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรค ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ได้ตั้งกระทู้ถามเรื่องดังกล่าวไปแล้ว พรรคก้าวไกล มองเป็นปัญหาของระบบที่ควรจะมีความเสมอภาคกันของผู้ที่ถูกกลั่นแกล้งทางการเมือง และหลายคนต้องลี้ภัยในต่างประเทศ 

"พรรคก้าวไกล ได้เสนอร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกัน และไม่ให้ประเทศไทยเป็นนิติรัฐของอภิสิทธิ์ชน นายทักษิณ ถูกกลั่นแกล้งทางการเมืองด้วยความ 2 มาตรฐาน แต่ไม่ได้หมายความว่า 2 มาตรฐานที่เกิดขึ้นในวันนี้ จะไปสามารถลบล้าง 2 มาตรฐานในอดีตได้ และไม่ควรเกิดขึ้น โดยควรป็นมาตรฐานเดียวกัน"นายพิธากล่าว 

เมื่อถามถึงการเปรียบเทียบระหว่างสมาชิกวุฒิสภา(สว.) ที่ทำหน้าที่ฝ่ายค้านได้ดีกว่าพรรคก้าวไกลโดยเฉพาะประเด็นของนายทักษิณ นายพิธากล่าวว่า พรรคก้าวไกล ยังมีเวลาทำงาน และประสิทธิภาพกาารทำงาน ไม่ได้ขึ้นกับว่า ใครเริ่มทำก่อนหรือทำทีหลัง แต่จะต้องตรงเป้าหมายมากกว่า วุฒิสภา ทำหน้าที่มาหลายปี แต่เพิ่งเคยเห็น สว.เปิดอภิปรายตรวจสอบรัฐบาลเป็นครั้งแรก และมั่นใจว่า การทำหน้าที่ของพรรค ไม่เคยทำให้ประชาชนผิดหวัง

นายพิธากล่าวอีกว่า เดือนเมษายน พรรคจะพิจารณาในการเปิดอภิปรายรัฐบาล แต่จะเป็นในรูปแบบการอภิปรายไม่ไว้วางใจ หรืออภิปรายทั่วไป ก่อนจะมีการประชุมใหญ่ของพรรค ในเดือนเดียวกัน เพื่อพิจารณาปรับโครงสร้างองค์กร ช่วงกลางปีจะมีการเตรียมการเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 และปลายปี 2567 พรรคจะพิจารณาการส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งท้องถิ่น

ส่วนหัวข้อการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลนั้น เบื้องต้น พรรคได้กำหนดไว้ 3 หัวข้อใหญ่ ได้แก่ ความล้มเหลวในการบริหารราชการแผ่นดิน การประพฤติมิชอบ คอร์รัปชัน การทำงานล่าช้าที่ไม่ตรงกับความท้าทาย และศักยภาพของประเทศ

ไม่ยืนยันว่ากรณีของนายทักษิณ จะถูกนำไปอภิปรายไม่ไว้วางใจด้วยหรือไม่ เพราะจะต้องพิจารณาประเด็นการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมด้วย ยืนยันว่า จะไม่ทำให้ประชาชนผิดหวัง และไม่ต่ำกว่ามาตรฐานการทำงานพรรคก้าวไกล ในฐานะฝ่ายค้านก่อนหน้านี้