posttoday

นายกฯเศรษฐาพร้อมชี้แจงสว.ปมขอเปิดอภิปรายแบบไม่ลงมติ

08 มกราคม 2567

นายกฯเศรษฐา ชี้แจงวุฒิสภาขอเปิดอภิปรายแบบไม่ลงมติ ตามรธน. มาตรา153 สว.กิตติศักดิ์ ชี้เวลาไม่สำคัญเท่ากับพฤติกรรม ขณะสว.เสรีย้ำสภาสูงไม่ใช่คู่ขัดแย้งแต่4เดือนที่ผ่านมายังไม่มีผลงานเป็นรูปธรรมจำเป็นต้องเสนอแนะต่อรัฐบาล

เมื่อวันที่ 8ม.ค.2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีมีความพร้อมและยินดีกรณี นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ในฐานะประธาน กมธ.การพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา จะขอเปิดอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 153 ถือเป็นหน้าที่ของฝ่ายบริหาร หากฝ่ายนิติบัญญัติต้องการตรวจสอบเพื่อให้เกิดความกระจ่างก็ต้องชี้แจง ซึ่งเป็นไปตามกลไกของรัฐธรรมนูญ
 

ขณะที่นายกิตติศักดิ์  รัตนวราหะ สว. กล่าวว่า การประชุมคณะกรรมาธิการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา ก็น่าจะมีข้อยุติเรื่องการขอเปิดอภิปราบแบบไม่ลงมติตามมาตรา 153 ส่วนตัวมองว่าเรื่องระยะเวลาในการทำงานไม่ใช่ปัจจัยสำคัญไม่ว่ารัฐบาลจะอยู่กี่วัน หากทำไม่ดีก็มีค่าเท่ากัน ดังนั้นจะมาบริหาร3-4เดือนหรือ3-4ปีก็ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของรัฐบาลว่าบริหารประเทศชาติได้ดีหรือไม่ 

จากการพูดคุยกันกับเพื่อนสว.ก็เห็นว่าพฤติกรรมของรัฐบาลขณะนี้มีเสียงสะท้อนเข้ามา โดยเฉพาะเรื่องของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ และเรื่องเงินดิจิทัล วอลเล็ต 10,000 บาท ยังไม่มีใครตอบคำถามพี่น้องประชาชนที่สงสัยได้ดังนั้นสิ่งที่ยังปกปิดอยู่จะต้องมีความชัดเจนต่อประชาชนให้ได้
    
เมื่อถามว่า ไม่เกรงว่าจะเกิดข้อครหาหรือเพราะสว.ไม่อภิปรายรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่กลับอภิปรายรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ที่บริหารประเทศมาเพียง 4เดือน นายกิตติศักดิ์ กล่าวว่า ก็เทียบกันได้ แต่เราคิดว่าถ้าด้วยความเป็นธรรม ตอนนี้ผลงานของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ 8-9ปีที่ผ่านมาได้เกิดมรรคผลอะไรบ้าง ในขณะที่รัฐบาลของนายเศรษฐา 3-4 เดือนที่ผ่านมาทำอะไรที่ประชาชนได้ประโยชน์จับต้องได้บ้าง

ขณะที่นายเสรี สุวรรณภานนท์ สว.ในฐานะประธาน กมธ.การพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา กล่าวว่า การขอเปิดอภิปรายแบบไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 153 เพราะพบว่าการบริหารราชการแผ่นดินช่วง 4 เดือนที่ผ่านมาของนายกฯเศรษฐาและรัฐบาลยังไม่พบการดำเนินการที่เป็นรูปธรรม

สำหรับปัญหาหรือประเด็นที่จะเสนอในญัตติได้แก่ ปัญหาเศรษฐกิจ สังคม พลังงาน กระบวนการยุติธรรมและการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งหลังจาก กมธ.การเมืองได้ข้อสรุปในประเด็นรายละเอียด รวมถึงการกำหนดวันอภิปราย ซึ่งเบื้องต้นการอภิปรายทั่วไปจะเกิดขึ้นในช่วงก่อนปิดสมัยประชุมในเดือน เม.ย.นี้ จากนั้นจะให้ สว.เข้าชื่อ 1 ใน 3 หรือประมาณ 84 คนเพื่อยื่นญัตติต่อนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ซึ่งตามบทบัญญัติของมาตรา 153 ไม่ได้กำหนดว่า ครม.ต้องมาตอบเมื่อใด แต่เชื่อว่าจะได้รับความร่วมมือจากรัฐบาล 

"สว.ไม่ใช่ฝ่ายค้านหรือฝ่ายขัดแย้ง ดังนั้นเวทีดังกล่าวเห็นควรมีข้อเสนอแนะให้รัฐบาลเร่งทำงานตามที่หาเสียงหรือแถลงนโยบายต่อรัฐสภาให้ปรากฎ เพราะที่ผ่านมายังไม่มีผลงานใดออกมาเป็นรูปธรรม" นายเสรี กล่าว