posttoday

ก้าวไกลจับโกหกรัฐจัดงบปี67แก้PM2.5น่าผิดหวังสวนทางปัญหา

04 มกราคม 2567

ภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ สส.เชียงใหม่ ก้าวไกล จับโกหกตัวเลขงบปี67 จวกรัฐบาลยกแก้ไขปัญหาPM2.5เป็นวาระแห่งชาติ แต่จัดสรรเงินสวนทาง ให้กรมอนามัยแค่6.2ล้านบาท แต่กลับตั้งเป้าหมายปี 67ลดผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ5%

เมื่อวันที่ 4ม.ค.2567 นายภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ สส.เชียงใหม่ พรรคก้าวไกล อภิปรายร่างงบประมาณปี 67 ว่า นักการเมือง หรือ คณะรัฐมนตรีเคยพูดเคยแถลงให้คำมั่นสัญญาอะไรกับประชาชนก็ได้ แต่สิ่งเดียวที่โกหกประชาชนไม่ได้คือตัวเลขงบประมาณ อย่างปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 ที่รัฐบาลยกให้เป็นวาระแห่งชาติ แต่จากงบประมาณที่จัดทำน่าผิดหวัง ไม่ได้สะท้อนถึงความรุนแรงของปัญหา ไม่ได้ทำให้เห็นความมุ่งมั่นแก้ปัญหานี้ ซึ่งตนเคยอภิปรายไปเมื่อวันแถลงนโยบายแล้วว่าปัญหานี้ต้องแก้ทั้งโครงสร้าง โดยเปรียบเทียบเหมือนเป็นการสร้างตึก 5 ชั้น ที่เริ่มตั้งแต่การวางแผนด้วยข้อกฎหมาย และตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้พรรคก้าวไกลได้ยื่นร่าง พ.ร.บ.ที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมไป 4 ร่าง โดยเฉพาะร่าง พ.ร.บ.ฝุ่นพิษและการก่อมลพิษข้ามพรมแดน ซึ่งด้านกฎหมายสามารถทำผ่านกลไกสภาได้ แต่การสร้างตึกชั้นอื่นๆมันต้องขึ้นกับฝ่ายบริหารด้วย 
 

เริ่มการที่ชั้น 1 สาธารณสุข น่าผิดหวังที่งบกระทรวงสาธารณสุขทั้งเล่ม มีโครงการที่เกี่ยวข้องกับ PM 2.5 เพียงแค่ผิวเผิน มียุทธศาสตร์จัดการมลพิษและสิ่งแวดล้อม 298.3 ล้านบาท แบ่งเป็น 292 ล้านบาท เป็นการยกระดับมาตรฐานโรงพยาบาลกรีนแอนด์คลีน ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับผู้ได้รับผลกระทบฝุ่นละออง อีก 6.2 ล้านบาทไปอยู่ที่กรมอนามัย ซึ่งตั้งเป้าหมายว่า ปี 67 นี้จะลดจำนวนผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจลง 5% ทำให้เห็นว่า จัดงบน้อยเมื่อเทียบกับปัญหาที่เกิดขึ้น ดูจากตัวเลขสถิติมะเร็งที่พบในภาคเหนือคือมะเร็งปอด เมื่อเทียบกับสัดส่วนภาคอื่นถือว่าภาคเหนือสูงสูงสุด โดยผู้ชายภาคเหนือมีโอกาสเป็นมะเร็งปอดสูงกว่าภาคอื่น 1.4 เท่า 

ส่วนผู้หญิงภาคเหนือมีโอกาสเป็นมะเร็งปอดสูงกว่าภาคอื่น 1.7 เท่า แต่การสูบบุหรี่ของภาคเหนือมีน้อยกว่าภาคอื่นถึง 10% ปัญหานี้ไม่ได้กระทบแค่ภาคเหนือแล้วแต่ตัวเลขผู้ป่วยทางเดินหายใจทางประเทศในปี 2566 อยู่ที่ 6.82 ล้านคน เฉพาะคนภาคเหนืออยู่ที่ 5.5 ล้านคนต่อปี แต่การจัดงบแค่นี้ รัฐบาลเข้าใจปัญหาประชาชนบ้างหรือไม่ เปลี่ยนจากการใส่ใจเรื่องปากท้องมาดูแลเรื่องปอดบ้างได้หรือไม่ 

นอกจากนี้ แนวคิดเทเลเมดิซีนก็เป็นเรื่องดี แต่กลุ่มคนเปราะบางก็ยังไม่สามารถเข้าถึงส่วนนี้ได้ต้องเสริมระบบออนกรานว์ด้วย อสม. เข้าไป และจัดงบในการซื้ออุปกรณ์ป้องกัน PM 2.5 ให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานและอาสาสมัครด้วย ขณะเดียวกันควรมีงบเฝ้าระวังสุขภาพและโรคที่เกิดจาก PM2.5 แต่ก็ไม่เห็นงบตรงนี้ พร้อมตั้งคำถามถึงงบประมาณของกระทรวงศึกษาธิการไม่มีเรื่องของเครื่องฟอกอากาศให้กับโรงเรียนในสังกัดกระทรวงแม้แต่นิดเดียวเป็นเรื่องน่าอายมากที่แม้แต่โรงเรียนก็ไม่สามารถสร้างความปลอดภัยให้กับลูกหลานได้

ชั้นที่ 2 ไฟเกษตร ชั้นนี้ตนตั้งความหวังไว้สูงมาก เพราะรัฐมนตรีเกษตรฯ เป็นอดีตประธานกรรมาธิการวิสามัญการแก้ปัญหาpm 2.5 อย่างเป็นระบบ ซึ่งผลการศึกษาสรุปว่า รัฐบาลต้องมีมาตรการในการลดการเผาและเพิ่มแรงจูงใจให้เกษตรกรที่ชัดเจน ซึ่งปี 67 รัฐตั้งเป้าลดการเผาภาคเหนือ 50% แต่ให้งบเพียง 10%นอกจากนี้งบประมาณของกระทรวงเกษตรฯ จาก 1.26 ล้านบาท ก็ถูกปรับลดเหลือ 1.18 ล้านบาท ในขณะเดียวกันนายกรัฐมนตรีมอบนโยบายสั่งให้กระทรวงเกษตรฯ จัดการแก้ปัญหาเรื่อง pm 2.5   แต่งบประมาณไม่มี ถามว่าวิกฤตแบบไหน ถึงได้จัดงบแบบนี้

ชั้นที่ 3 ไฟป่า มีงบประมาณเพิ่มสูงขึ้น แต่ยังไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจน ทั้งที่เรามีความรู้และข้อมูลหมด โดยเฉพาะพฤติกรรมการเผาไม้ในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ตั้งแต่ปี 63-66 โดบงบที่กังวลที่สุดคือ งบอุปกรณ์ดับไฟป่าให้กับเจ้าหน้าที่และอาสาสมัคร ก็ยังไม่ชัดเจน / งบในการจัดซื้อโดรนตรวจจับความร้อนให้เจ้าหน้าที่ตรงเข้าหาไฟได้ถูกจุด ก็ไม่ชัดเจน / งบประมาณ 80.8 ล้านบาท ในการจัดทำจุดเฝ้าระวังไฟป่า 1000 จุดในพื้นที่กรมอุทยาน ก็ไม่ชัดเจนว่า 80,000 บาทต่อจุดจะทำเป็นเซ็นเซอร์ดีเทคไฟป่า หรือ จัดตั้งหน่วยเฝ้าระวังเป็นแบบอาสาสมัคร และสิ่งที่ผิดหวังคืองบยังกระจุกอยู่ที่ส่วนกลาง ไม่ได้กระจายไปอยู่ที่ท้องถิ่น ทั้งที่งบใช้จ่ายของท้องถิ่นต่อปีก็มีน้อย จะให้เขาควักเงินเอง หรือจะให้ทอดผ้าป่า ขายบัตรรำวง เอาเงินมาดับดับไฟป่าหรือ อยากให้นายกฯ ตอบว่าทำไมถึงยังไม่สามารถจัดสรรงบให้ท้องถิ่นได้อย่างเพียงพอ ขอมา 1709 ล้านบาท ทำไมให้ได้แค่ 50 ล้านบาท

ชั้นที่ 4 การพยากรณ์และการแจ้งเตือน โดยการพยากรณ์ที่แม่นยำต้องมีเครื่องมือที่ดี แต่งบเหมือนให้อยู่ที่สงขลา เชียงใหม่ กรุงเทพฯ ขอให้รัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลฯ ช่วยชี้แจงด้วว และเมื่อพยากรณ์แล้วก็ต้องแจ้งเตือน แต่เห็นงบของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย ที่แจ้งเตือนผ่านสัญญาณโทรศัพท์ จึงเสนอแนะให้รัฐมนตรีกระทรวงดีอี ให้ กสทช. ใช้งบ งบประมาณจัดสรรในส่วนนี้ไปเลย เพื่อจะได้ใช้ cell boardcastv ก่อน ปี 68 พร้อมฝากกระทรวงมหาดไทยไปยัง ปภ. ว่าแอพพลิเคชั่น Thai disaster alert ทุกวันนี้ยังไม่เห็นมีการแจ้งเตือน พร้อมกันนี้ ขอให้ใช้ภาพถ่ายทางดาวเทียมมาประเมินปริมาณใบไม้ร่วง ซึ่งจะช่วยประเมินเรื่องของเชื้อเพลิง ใบไม้แห้ง ในพื้นที่ป่าให้สามารถจัดทำแนวกันไฟได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด