posttoday

เปิดมติ ครม.เลิกผูกขาดน้ำในอีอีซี ส่ง วงษ์สยาม ได้สิทธิ์แทน อีสวอเตอร์

23 ธันวาคม 2566

เปิดสาระสำคัญ ประชุมครม.19ธ.ค.66 แก้ไขถ้อยคำมติ ครม.4 ก.พ.35 เลิกการผูกขาดผู้บริหารจัดการน้ำ เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ซื้อน้ำจากกรมชลประทาน มาขายในพื้นที่อีอีซี เพียงรายเดียว เปิดช่อง วงษ์สยาม ได้สิทธิ์แทน อีสวอเตอร์ เข้ามาบริหารจัดการน้ำในพื้นที่อีอีซี

รายงานข่าวจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เปิดเผยว่า ในการประชุมครม.เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.66 ที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลังเป็นประธานการประชุม เห็นชอบ ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอให้ ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2535 เรื่อง แนวทางการจัดระบบบริหารการพัฒนาแหล่งน้ำ โดยให้ยกเลิกในส่วนที่กำหนดว่า ระบบท่อส่งน้ำต่างๆ ควรจะมีผู้รับผิดชอบรายเดียวในการพัฒนาระบบให้เป็นท่อส่งน้ำสายหลัก และการดำเนินการบริหารจัดการเพื่อให้ทำหน้าที่เป็นผู้ค้าส่ง ในการซื้อน้ำจากอ่างเก็บน้ำของกรมชลประทาน และขายน้ำดิบให้กับระบบจำหน่ายต่างๆ 

กระทรวงเกษตรฯยังได้เสนอครม.ว่า ตามมติ ครม.เดิมเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2535 ได้เห็นชอบตามข้อเสนอของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาพื้นที่ขายฝั่งทะเลตะวันออก(สพอ.) ในการวางระบบบริหารที่มีความชัดเจนเกี่ยวกับความรับผิดชอบของหน่วยปฏิบัติต่างๆ โดยกำหนดความรับผิดชอบในการพัฒนาและดำเนินการดูแลระบบท่อส่งน้ำสายหลักพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก การพัฒนาแหล่งน้ำดิบให้กรมชลประทานเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการเป็นหลัก และระบบท่อส่งน้ำต่างๆ ควรจะมีผู้รับผิดชอบรายเดียวทั้งการพัฒนาระบบให้เป็นท่อส่งน้ำสายหลัก (Trunk Transmission Main) และการดำเนินการบริหาร/จัดการ (Operate) เพื่อให้ทำหน้าที่เป็นผู้ค้าส่ง(Wholeseller) ในการซื้อน้ำจากอ่างเก็บน้ำของกรมชลประทานและขายน้ำดิบให้กับระบบจำหน่ายต่างๆได้

ต่อมาสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี มีหนังสือด่วนที่สุด ลงวันที่ 11 เมษายน 2566 ถึงเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เรื่อง แนวทางการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในเส้นห่อส่งน้ำสายหลักในพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เพื่อป้องกันปัญหาที่จะส่งผลกระทบต่อผู้ใช้น้ำอันเนื่องจากอุปสรรคในการส่งมอบทรัพย์สินโครงการท่อส่งน้ำ ความว่า

ในการบูรณาการแผนการบริหารความเสี่ยงในช่วงเปลี่ยนผ่านระหว่างบริษัท จัดการน้ำและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด(มหาชน) หรือ อีสวอเตอร์ กับเอกชนที่ได้รับการคัดเลือกจากกรมธนารักษ์เพื่อบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำ สายหลักในภาคตะวันออก เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำผ่านเส้นท่อส่งน้ำไม่เกิดการสะดุด ขาดช่วง จนถึงขั้นไม่สามารถส่งน้ำผ่านเส้นท่อได้

ควรประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมชลประทาน กรมธนารักษ์ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมนิคมอุตสาหกรรมไทยและพันธมิตรในการจัดให้มีแผนบริหารความเสี่ยงร่วมกันในลักษณะแผนเชิงป้องกันและแผนสำรองในการจัดสรรน้ำ เพื่อให้การจัดส่งน้ำผ่านเส้นท่อในระหว่างช่วงเปลี่ยนผ่านมีความราบรื่นสามารถบริหารจัดการน้ำได้อย่างเป็นปกติ ไม่เกิดการขาดแคลนน้ำที่จะส่งผลกระทบต่อผู้ใช้น้ำทุกภาคส่วน 

ต่อมากรมธนารักษ์ ไมีหนังสือที่ กค.310 /8892 ลงวันที่ 27กรกฎาคม 2566 แจ้งว่า ในการบริหารจัดการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก กรมธนารักษ์ได้ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยที่ราชพัสดุ ซึ่งปัจจุบันกรมธนารักษ์ได้ส่งมอบทรัพย์สินในโครงการท่อส่งน้ำหนองปลาไหล - หนองค้อ และโครงการท่อส่งน้ำหนองค้อ - แหลมฉบัง (ระยะที่ 2 ให้กับเอกชนรายใหม่แล้ว ประกอบกับสถานะของ บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน ได้แปรสภาพจากรัฐวิสาหกิจเป็นเอกชน) และสัญญาการบริหารและการดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก (โครงการท่อส่งน้ำดอกกราย) จะสิ้นสุดลงในวันที่ 31 ธันวาคม 2566 จึงเป็นผลให้บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) ไม่ได้รับสิทธิในการบริหารจัดการระบบท่อส่งน้ำดังกล่าวอีกต่อไป 

เพื่อมิให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการในฐานะคู่สัญญาฝ่ายรัฐ ตลอดจนเพื่อให้การดำเนินโครงการฯ เป็นไปด้วยความถูกต้องตามเงื่อนไขแห่งสัญญาและข้อกฎหมายโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของรัฐและผลกระทบต่อผู้ใช้น้ำ ทุกภาคส่วนเป็นสำคัญ

กรมธนารักษ์ในฐานะคู่สัญญาฝ่ายรัฐ และผู้มีอำนาจดำเนินการแทนกระทรวงการคลัง ผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ราชพัสดุและมีหน้าที่ในการปกครอง ดูแล บำรุงรักษาที่ราชพัสดุ อาศัยอำนาจตามมาตรา 8 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ พ.ศ. 2562 ขอความอนุคราะห์กรมชลประทานพิจารณาสนับสนุน

การอนุญาตใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำของกรมชลประทานให้กับบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ตามสิ่งที่ส่งมาด้วย ตามที่กรมธนารักษ์ได้มีหนังสือ ที่ กค.310 /13671 ลงวันที่ 17 พฤศจิกายน 2566  แจ้งว่าตามเงื่อนไขสัญญาโครงการบริหาร ๆ ข้อ 9 กำหนดหน้าที่ของคู่สัญญาฝ่ายรัฐว่า "คู่สัญญาฝ่ายรัฐจะสนับสนุนการประสานงานของบริษัท กับส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้บริษัท ได้มาซึ่งความยินยอม ใบอนุญาต แบบแปลน ข้อมูลเอกสาร และใบรับรองการจดทะเบียนต่าง ๆ ที่จำเป็น จากส่วนราชการดังกล่าวข้างต้นตามความจำเป็นรวมทั้ง สนับสนุนในการดำเนินการขออนุญาตจัดสรรน้ำจากกรมชลประทานให้ได้รับหนังสืออนุญาตใช้น้ำจากแหล่งน้ำของกรมชลประทานให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการ ทั้งนี้ภายใต้กฎหมาย กฎ ระเบียบ และข้อบังคับของทางราชการที่เกี่ยวข้อง

เพื่อเป็นการสนับสนุนในการดำเนินการขออนุญาตจัดสรรน้ำ และเพื่อให้การบริหารจัดการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ประกอบด้วย โครงการท่อส่งน้ำดอกกรายโครงการท่อส่งน้ำหนองปลาไหล - หนองค้อ และโครงการท่อส่งน้ำหนองค้อ - แหลมฉบัง (ระยะที่ 2 ที่บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) ส่งมอบให้แก่ทางราชการ และทางราชการได้ส่งมอบโครงการท่อส่งน้ำหนองปลาไหล - หนองค้อ 

และโครงการท่อส่งน้ำหนองค้อ - แหลมฉบัง (ระยะที่ 2 ) ให้บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ผู้บริหารรายใหม่บริหารและดำเนินการโครงการดังกล่าวแล้ว ประกอบกับสัญญาการบริหารและการดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลัก ในภาคตะวันออก (โครงการท่อส่งน้ำดอกกราย) จะสิ้นสุดในวันที่ 31 ธันวาคม 2566 

จึงเป็นผลให้บริษัทจัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) ไม่ได้รับสิทธิ์ในการบริหารจัดการระบบท่อส่งน้ำดังกล่าวอีกต่อไป กรมธนารักษ์ในฐานะคู่สัญญาฝ่ายรัฐ และผู้มีอำนาจดำเนินการแทนกระทรวงการคลัง ผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ราชพัสดุ อาศัยอำนาจตามมาตรา 8 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติที่ราชพัสดุพ.ศ. 2562  และขอความอนุเคราะห์กรมชลประทานพิจารณาสนับสนุนการอนุญาตใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำของกรมชลประทานให้กับบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ต่อไป