posttoday

เศรษฐา เสนอจัด ตลาดนัดแก้หนี้นอกระบบ ติง น่านมีแค่100กว่าราย เข้าระบบเจรจา

23 ธันวาคม 2566

เศรษฐา ลงพื้นที่จ.น่าน กำชับหน่วยงาน เร่งแก้หนี้นอกระบบให้ประชาชน ติง มีแค่ 100กว่าราย เข้าระบบเจรจา เสนอ จัดตลาดนัดแก้หนี้ เจ้าหน้า ลูกหนี้ ธนาคาร ร่วมพูดคุยกัน ย้ำ รัฐบาลมุ่งหวังแก้หนี้ให้สำเร็จ อนุทิน ขอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน จัดทีมสำรวจประชาชน โดนขู่ ไม่กล้าลงทะเบียน

วันที่ 23 ธ.ค.นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง พร้อมคณะ เดินทางถึงศาลากลางจังหวัดน่าน และได้ประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อติดตามการเจรจาแก้หนี้นอกระบบ ในการประชุมมีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการปกครอง นายชัยนรงค์ วงศ์ใหญ่ ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน  พล.ต.ท.กฤตธาพล ยี่สาคร ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค5  พล.ต.คณิศร อาสมะ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 38 นายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร นายทรงยศ รามสูต สส.น่าน เขต 1 นายณัฐพงษ์ สุปริยศิลป์ สส.น่าน เขต 3 และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมด้วย

นายเศรษฐากล่าวว่า เรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติของรัฐบาล เป็นปัญหาที่กัดกร่อน พยายามแก้ปัญหาบนพื้นฐานที่สามารถทำได้ เรื่องนี้เป็นสารตั้งต้นของปัญหาต่างๆในสังคมไทย ทั้งปัญหาสังคม ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาความไม่ปลอดภัยของประชาชนทุกคน จังหวัดน่าน เป็นจังหวัดที่เล็กแต่เล็กพอที่จะดูแลได้ มีหน่วยงานครบทุกหน่วยงานที่คิดว่ามาร่วมกันพัฒนา และทำงานตรงนี้ได้ หนี้นอกระบบเป็นปัญหาทุกข์ใจของประชาชน และเป็นปัญหาที่ไม่ใช่ความผิด ปัญหาใหญ่ เกิดจากการที่ถูกเรียกหนี้ไม่เป็นธรรม ถูกชาร์จดอกเบี้ยที่ไม่เป็นธรรมและไม่ได้รับการดูแลจากหน่วยงานรัฐที่ควรจะต้องดูแล

นายเศรษฐากล่าวว่า จังหวัดน่านมีคนมาแจ้งแล้ว 500 กว่าราย มีมูลหนี้ประมาณ 33 ล้านบาท อยากให้หน่วยงานความมั่นคง เรียกเจ้าหนี้และลูกหนี้มาให้ความเป็นธรรมทั้งสองฝ่าย เอากฎหมายเป็นที่ตั้ง หากสามารถทำกันได้ ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง คิดว่าสิ่งดีๆจะเกิดขึ้น ชีวิตของพวกเราทุกคน ชีวิตของประชาชน ขอให้กระทรวงมหาดไทยกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตัวเลขจำนวนลูกหนี้ที่มีแจ้งมากว่า 500 กว่าราย ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดีที่มีการเจรจาไกล่เกลี่ย แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือมีผู้มาแจ้ง 500 กว่าคน การนำเข้ามาสู่ระบบถือว่าน้อยมากมีเพียง 100 กว่ารายเท่านั้น เสนอให้ใช้กลไกของกำนัน ผู้ใหญ่บ้านลงพื้นที่ไปดูและติดตาม ขอฝากอธิบดีกรมการปกครองด้วย ไม่ได้ดูตัวเลข 500 กว่ารายที่แจ้งมา แต่ดูตัวเลข 100 กว่ารายที่เข้าสู่ระบบการเจรจา หากเป็นไปได้อาจจะจัดตลาดนัดแก้หนี้ ที่ศาลากลางจังหวัด จัดเป็นอีเวนท์ทุกวันที่ 15 หรือวันเสาร์และอาทิตย์ เป็นต้น เพื่อให้ฝ่ายเจ้าหนี้และลูกหนี้ได้มาพูดคุยกัน รวมถึงธนาคาร ซึ่งตรงนี้ตนถือว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดี 

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า หากนำลูกหนี้และเจ้าหนี้เข้าสู่การเจรจาได้ 300 ถึง 400 ราย จะถือเป็นตัวเลขที่เรียกความมั่นใจได้ดีกว่า ซึ่งมันประหลาดหากเขาเดือดร้อนแต่ข้อมูลไม่ครบ อาจจะขาดข้อมูลนิดเดียวแต่ตัดออกไปและไม่ยอมเรียกมา ฝากให้อธิบดีกรมการปกครองให้ดูเรื่องนี้หน่อย

นายอนุทินกล่าวว่า ขอเรียนไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอว่า ข้อสั่งการของกระทรวงมหาดไทยมีความชัดเจนอยู่แล้ว ขอให้กำนันผู้ใหญ่บ้านและอำเภอจัดทีมออกไปออกไปสำรวจเพราะอาจจะมีประชาชนที่ไม่กล้าลงทะเบียนเพราะกลัวถูกข่มขู่ ดังนั้นเราก็จะต้องกระตุ้นลงพื้นที่ไปตามที่นายกฯสั่งการ เดี๋ยวจะหาว่าต้องมานั่งฟังนายกฯชี้นำเพราะกระทรวงมหาดไทยมีข้อสั่งการในเรื่องนี้อยู่แล้ว และเจ้าที่ทุกคนก็ต้องปฏิบัติตามข้อสั่งการของกระทรวงฯที่มีลำดับลำดับอยู่แล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ จังหวัดน่าน ตามแนวทางที่กรมการปกครองและกระทรวงมหาดไทยกำหนด มีผู้ลงทะเบียนขอรับความช่วยเหลือ (ข้อมูล ณ วันที่ 22 ธ.ค. จำนวนลูกหนี้ 563 ราย  จำนวนเจ้าหนี้ 518 ราย  ยอดหนี้มูลค่ารวม 33,041,242 บาท  ส่วนสาเหตุการเป็นหนี้ 5 อันดับแรก ได้แก่ ด้านอุปโภค 602 ราย  ด้านการลงทุน 496 ราย ต่อเติมที่อยู่อาศัย 109 ราย  ค่าเทอม 288 ราย และการพนัน 17 ราย

จังหวัดน่านกำหนดเป้าหมายและตัวชี้วัดไว้ ดังนี้ 1.กำหนดการเจรจาไกล่เกลี่ยได้อย่างน้อยร้อยละ 80 ของลูกหนี้ในระบบและเจ้าหนี้ตามฐานข้อมูล โดยสามารถตกลงกันได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 2.เจ้าพนักงานตำรวจ สามารถดำ เนินคดีได้ทั้งหมดร้อยละ 70 ของเรื่องรับดำเนินการ ระยะเวลาดำเนินการหากเป็นสำนวนไม่ยุ่งยาก ดำเนินการเสร็จก่อน 3 เดือน กรณีมีความซับซ้อนไม่เกิน 3 เดือน 3.การให้ความช่วยเหลือทางการเงิน ซึ่งจะต้องได้รับการให้สินเชื่อโดยธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร มีเป้าหมายผู้ได้รับความช่วยเหลือไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 ของผู้ลงทะเบียน 4.ทุกอำเภอต้องดำเนินการไกล่เกลี่ยให้สำเร็จ อย่างน้อย 1 กรณีตัวอย่าง (Best Practice) และ 5.จังหวัดน่านกำหนดให้แก้ไขปัญหาในภาพรวม ได้อย่างน้อย 10% ของผู้ลงทะเบียน ภายในวันที่ 31 ธ.ค. 2566

สำหรับผลการดำเนินการแก้ไขปัญหาฯ ที่ผ่านมาของจังหวัดน่านจากจำนวนลูกหนี้ที่ลงทะเบียนทั้งหมด 563 ราย  ลูกหนี้เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ย 52 ราย คิดเป็น 32.70 % ไกล่เกลี่ยสำเร็จ 4 ราย อยู่ระหว่างดำเนินการไกล่เกลี่ย 48 ราย และให้รัฐจัดหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ 28 ราย คิดเป็น 17.61 % รวมผลการดำเนินการแก้ไข ให้ความช่วยเหลือแล้ว จำนวน  80 ราย คิดเป็น 50.31 %