posttoday

จับตา สมาชิกประชาธิปัตย์ อยู่ต่อ-แยกทาง-ตั้งพรรคใหม่ ในวัน เฉลิมชัย นำทัพ

10 ธันวาคม 2566

แม้ เฉลิมชัย ศรีอ่อน จะได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่ เกิดแรงกระเพื่อมตามมา มีสมาชิกพรรคที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทาง เฉลิมชัยและคณะกรรมการบริหารชุดใหม่ ตัดสินใจลาออกจากพรรค และคงจะมีสมาชิกอีกไม่น้อย ที่ต้องจับตาจะเลือกเส้นทางการเมืองของตัวเองอย่างไร

ผ่านพ้นไปแล้ว การประชุมใหญ่วิสามัญเพื่อเลือกหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารประชาธิปัตย์ หลังจากยืดเยื้อมานานหลายเดือน ในที่สุด ต่อ-‘เฉลิมชัย ศรีอ่อน’ ผงาดขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนที่9 นายกฯชาย-‘เดชอิศม์ ขาวทอง’ เป็นเลขาธิการพรรค จากเสียงสมาชิกส่วนใหญ่ที่ลงคะแนนเลือกในวันที่ 9 ธ.ค. 

ได้เห็น หัวหน้าประชาธิปัตย์ พร้อมคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ทั้ง 41 คน ปฏิกิริยาที่แกนนำพรรค คนในพรรค สมาชิกพรรคแสดงออกมา ในวันประชุมเลือกหัวหน้าพรรค มีหลายอารมณ์ความรู้สึก ตอกย้ำให้เห็นถึง ปัญหาภายใน ความเป็นเอกภาพ ที่สะท้อนออกมา 

 ประชาธิปัตย์ในยุค เฉลิมชัย ยังมีอีกหลายสิ่งที่ต้องเผชิญในวันข้างหน้า การรักษาภาพลักษณ์ จุดยืนพรรค แนวคิด วิถีทาง จะยังยืนยัดในหลักการ อุดมการณ์อันเข้มหลัง อย่างทื่สืบทอดกันมารุ่นต่อรุ่นได้หรือไม่ หรือ จะกลายเป็น พรรครอเสียบ อะไหล่ชั้นดีให้ รัฐบาลยุคปัจจุบันภายใต้การนำของ พรรคเพื่อไทย อย่างที่หลายฝ่ายวิเคราะห์คาดการณ์หรือไม่ ยังเป็นเรื่องที่ต้อง เฝ้ามองกันต่อไป 

ขณะเดียวกัน บรรดาสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์หลายคนผิดหวังมาก กับ การเปลี่ยนแปลงของ ประชาธิปัตย์ในยุคนี้ และฉากทัศน์ จังหวะก้าวเดินของสมาชิก นับจากวันนี้ คงมีหนทางไม่มากนัก 


ว่ากันว่า มี 4-5 ทางเลือกที่ คนในพรรคประชาธิปัตย์ ในขั้วตรงข้าม เฉลิมชัย อาจเลือกทางเดิน

1.อยู่ต่อ 
โดยเฉพาะ บรรดาสส.กลุ่มอาวุโส หรือ สมาชิกพรรคที่มี แบรนด์เป็นประชาธิปัตย์เข้มข้น ไม่สามารถทิ้งพรรคไปได้ แม้จะเป็นอย่างที่เห็นทุกวันนี้ แต่อาจเลือกยืนหยัดทำงาน อยู่ต่อ เพื่อฟื้นฟูพรรค เรียกศรัทธา ความเชื่อมั่นกลับคืนมา
 

 

2. วางมือการเมือง
ต้องบอกว่า สมาชิกพรรคหลายคน อยู่ในยุคกลางๆ หรือ ค่อนไปทางอาวุโส ผ่านสมรภูมิการเมือง การเลือกตั้ง เห็นภาวะวงจรทางการเมืองมามาก เกิดกับพรรค อยู่กับพรรคมาทุกยุคตั้งแต่เป็นรัฐบาล มาเป็นฝ่ายค้าน หากจะไปพรรคอื่นก็ไม่ได้ อาจเลือกปิดฉากตำนานทางการเมืองไปเลย


2.1 พักการเมือง(ชั่วคราว)
ในวัน ฝุ่นตลบการเมือง ทิศทางพรรคภายใต้ คณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ยังไม่เห็นการทำงานอย่างเป็นรูปธรรม การขอเฝ้ามองดูไปก่อน ในวันเวลาการเลือกตั้ง ยังไม่คืบคลานใกล้เข้ามา จึงไม่ใช่เรื่องที่ต้องเร่งรีบ รอดูทิศทางลมแล้วค่อยประเมินสถานการณ์อีกครั้ง 

3.แยกทาง-หาพรรคใหม่สังกัด
สมาชิกพรรค อดีตสส.หลายคน ในทางการเมือง เพิ่งเข้าสนามการเมือง หรืออายุยังไม่มาก ยังลุยในสนามการเมืองต่อไปได้ เพียงแต่ในวันนี้ เมื่อการเมืองในพรรคเปลี่ยนยุค เปลี่ยนขั้วไปแล้ว การเลือกหาสังกัดใหม่กับพรรคที่แนวทาง อุดมการณ์ใกล้เคียงกัน อันเพียบพร้อมปัจจัยสนับสนุน เพื่อลุยทางการเมืองต่อไป เป็นอีกตัวเลือกน่าสนใจ

เหมือนอย่างก่อนหน้า บรรดาคนเก่าคนแก่ประชาธิปัตย์หลายคน เลือกที่จะไปสังกัดในพรรคที่ตอบโจทย์ทางความคิดกับตัวเอง และ ชี้แจงกับประชาชนในพื้นที่ได้  

4.ตั้งพรรคใหม่
เป็นประชาธิปัตย์ ในเวอร์ชั่นที่อยากจะให้เป็น ทั้งแนวคิด อุดมการณ์ บุคคลากร อย่างน้อยฐานเสียง กลุ่มผู้สนับสนุนดั้งเดิม จะเข้าใจใน พรรคใหม่-ผู้นำใหม่ ที่มาทำพรรค แต่สืบสานเจตนารณ์เดิมทุกประการ เลือดสีฟ้ายังเข้มข้น แนวทางไม่เปลี่ยน เชื่อว่า บรรดาผู้สนับสนุนประชาธิปัตย์เหนียวแน่น ในปีกอุดมการณ์ คงจะยังตามมาสนับสนุนเหมือนเดิม

‘อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ’ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เลือกที่จะลาออกจากสมาชิกพรรค ‘ได้พูดไปหมดแล้ว จากนี้ไม่มีอะไรค้างคาใจ ส่วนบทบาททางการเมืองจากนี้จะเป็นอย่างไรยังไม่ได้คิด’

‘สาธิต ปิตุเตชะ’ อดีตรองหัวหน้าพรรคและอดีตสส.ระยอง ประชาธิปัตย์ 'สถานการณ์ของพรรคมีการเปลี่ยนแปลงในเชิงอุดมการณ์เป็นอย่างมาก ละทิ้งอุดมการณ์ของพรรค จะเห็นได้จากเหตุการณ์การจัดตั้งรัฐบาลที่ผ่านมา มีการไปลงมติให้นายเศรษฐา เป็นนายกฯ ทั้งที่พรรคมีมติแล้วว่าให้งดออกเสียง จึงขอลาออกจากสมาชิกพรรค'

‘สุรันต์ จันทร์พิทักษ์’ อดีตสส.กทม. ก็ประกาศลาออกจากสมาชิกพรรคไปอีกคน นับเฉพาะวันที่9ธ.ค. วันเดียว มีสมาชิกลาออกไปแล้ว 3 คน ทำท่าเลือดจะไม่หยุดไหล เพียงแค่นี้ 

‘วทันยา บุนนาค’ หรือ มาดามเดียร์ ยังไม่ตัดสินใจ แต่ขอเวลาคิด ทบทวน ประเมินสถานการณ์ 'เทพไท เสนพงศ์' อดีตสส.นครศรีธรรมราช มั่นใจว่า จะมีสมาชิกพรรคคนอื่นๆเดินตามออกจากอภิสิทธิ์ไป ขณะที่ 'เชาวน์ มีขวด' อดีตรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ระบุ 'จะแสดงจุดยืนหลังการเลือกหัวหน้าพรรคผ่านไปแล้ว'

'สรรเพชญ บุญญามณี' สส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊ก ตอนหนึ่งว่า

'คำสัตย์แล เป็นวาจาไม่ตาย คำขวัญที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป วันนี้ท่านอดีตหัวหน้าอภิสิทธิ์ฯ ได้พิสูจน์ให้ชาวประชาธิปัตย์เห็นแล้วว่าคำว่าสัจจะมีความหมายเพียงใด ท่านไม่เพียงแค่พูด แต่ท่านได้แสดงให้เห็น วันนี้คงเป็นอีกหนึ่งวันที่ชาวประชาธิปัตย์หลายๆคนรวมถึงตัวผมเองต้องคิดทบทวนบทบาทของตัวเองอีกครั้งหนึ่งครับ และขอให้พี่น้องมั่นใจผมจะยังคงทุ่มเททำงานอย่างเต็มกำลังความสามารถเพื่อรักษาไว้ซึ่งผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนต่อไปครับ'

บรรดาสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ที่ไม่ใช่กลุ่ม เพื่อนเฉลิมชัย แต่เป็นกลุ่มใกล้ชิดนายอภิสิทธิ์ และ กลุ่มอิสระจำนวนมาก ต้องเฝ้าจับตามอง จากนี้เป็นต้นไป จะเลือก ตัดสินใจ วางอนาคตในเส้นทางการเมืองของตัวเอง...อย่างไร