posttoday

รัฐปรับเกณฑ์มาตรฐานค่าฝุ่นPM 2.5 ใหม่ให้ใกล้เคียงกับมาตรฐาน WHO

09 ธันวาคม 2566

“เกณิกา”เผยมาตรการจัดการฝุ่น PM2.5 ซึ่งจะทวีความรุนแรงขึ้นในปีนี้ ชี้มีการปรับเกณฑ์มาตรฐานค่าฝุ่นใหม่ บูรณาการหลายกระทรวงแก้ปัญหา หนึ่งในนั้นคือการกำหนดเงื่อนไขการออกใบรับรองผลผลิตทางการเกษตรแบบไม่เผา พร้อมเร่งผลักดันให้ พ.ร.บ.อากาศสะอาดเข้าสู่สภาฯ

9 พ.ย. 66 น.ส.เกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ของ พล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมว่า ด้วยกิจกรรมในชีวิตประจำวันของประชาชน ประกอบกับสภาพภูมิอากาศที่ปีนี้สถานการณ์เอลนีโญทวีความรุนแรง ส่งผลให้อากาศร้อน-แล้งมากขึ้น จึงเสี่ยงเกิดไฟป่ามากกว่าปีที่ผ่านมา และท้ายที่สุดก็วนกลับมาสร้างปัญหาหมอกควันข้ามแดนตามวงรอบเดิม จึงทำให้คณะกรรมการสิ่งแวตล้อมแห่งชาติ ได้ปรับเกณฑ์ค่ามาตรฐานฝุ่น PM 2.5 ใหม่ ให้เข้มขันขึ้น ระบุไม่เกิน 37.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เพื่อสุขภาพของคนไทย และใกล้เคียงกับมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก (WHO)ด้วยเหตุนี้ ประชาชนจึงเห็นว่า พื้นที่คุณภาพอากาศสีส้ม และสีแดง เพิ่มขึ้น เพราะเราปรับเกณฑ์เข้มข้นขึ้นนั่นเอง

 

น.ส.เกณิกา กล่าวต่อว่า รัฐบาลได้เล็งเห็นความสำคัญของการแก้ปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองอย่างจริงจัง พร้อมถอดบทเรียนการแก้ปัญหาไฟป่า หมอกควันและฝุ่นละอองในแต่ละปี เพื่อทบทวนและปรับแนวทางรับมือในปีถัดไปอย่างรอบคอบ เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่สำหรับทุกคน โดยที่ประชุมคณะกรรมการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศเพื่อความยั่งยืน มีมติเห็นชอบ 6 มาตรการเร่งด่วนแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 และ 3 แนวทางสนับสนุนการลดฝุ่น PM 2.5 จากการทำงานบูรณาการร่วมกันของหลายกระทรวงที่มีส่วนเกี่ยวข้อง

น.ส.เกณิกา ยังกล่าวต่อว่า กระทรวงมหาดไทย ได้กำหนดเงื่อนไขการอนุญาตเผาและการบริหารจัดการการเผา, กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เร่งรัตการนำระบบรับรองผลผลิตทางการเกษตรแบบไม่เผามาใช้กับการปลูกอ้อย ข้าว ข้าวโพตเลี้ยงสัตว์, กระทรวงอุตสาหกรรม มีมาตรการไม่รับอ้อยไฟไหม้เข้าหีบ ด้านกระทรวงการคลัง ได้พิจารณาสิทธิประโยชน์ของภาคเอกชน เพื่อสังคมและสิ่งแวตล้อม โดยผู้ประกอบการที่เข้าร่วม สามารถยกเว้นภาษีเงินได้ ,รายงานESG/SDGs และ Carbon Credit,กระทรวงพาณิชย์ มีการพิจารณาเพิ่มเงื่อนไข เรื่องการเผาในพื้นที่ป่าและพื้นที่เกษตรในการนำเข้า-ส่งออกสินค้า และกระทรวงพลังงาน ได้กำหนดการผลิต-จำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงให้เป็นไปตามมาตรฐานยูโร 5

 

“รัฐบาลจะผลักดันให้พระราชบัญญัติบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ....เป็นร่าง พ.ร.บ.เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ผ่านที่ประชุมสภาฯ ให้สำเร็จ เพื่อที่จะสามารถแก้ปัญหาได้อย่างครอบคลุม ทั้งเชิงป้องกัน แก้ไข และแนวทางจัดการหมอกควันข้ามแดนอย่างเป็นรูปธรรม โดยขณะนี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ได้เห็นชอบส่งสภาฯ พิจารณาต่อแล้ว” น.ส.เกณิกา กล่าว