posttoday

มาดามเดียร์ถอดรหัสการเมือง ชี้การเมืองเลวไม่จำเป็นต้องแก้ด้วยรัฐประหาร

26 พฤศจิกายน 2566

มาดามเดียร์ร่วมเวที “ถอดรหัสประเทศไทย อดีต ปัจจุบัน และอนาคต” ทำอย่างไรให้การเมืองไทยหลุดวังวนรัฐประหาร ย้ำนักการเมืองเลวไม่จำเป็นต้องแก้ด้วยการรัฐประหาร แต่ต้องเห็นความสำคัญของการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ส่วนสถานการณ์ ปชป.ไร้หัวหน้าสะท้อนว่าพรรคไม่มีเจ้าของ

น.ส.วทันยา บุนนาค ประธานคณะทำงานนวัตกรรมการเมืองกรุงเทพมหานคร พรรคประชาธิปัตย์ ร่วมเวทีทอร์ค “ถอดรหัสประเทศไทย อดีต ปัจจุบัน และอนาคต” ซึ่งจัดโดยชมรมนิสิตเก่ารุ่นเยาว์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยระบุว่า เราต้องเรียนรู้กับบทเรียนที่เกิดขึ้นในอดีต และไม่ทำให้เกิดขึ้นอีกในอนาคต ซึ่งมองว่าทุกเหตุการณ์ทางการเมืองล้วนมีความสำคัญ จะมากหรือน้อยอย่างไรก็จะทำให้เกิดพลวัตขับเคลื่อนสังคมและนำมาสู่เหตุการณ์สำคัญครั้งอื่นถัดมา

โดยเฉพาะเหตุการณ์ 14 ตุลา และ 6 ตุลา ที่เป็นการประท้วงที่มาจากภาคประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มที่เป็นนิสิต นักศึกษา ที่แสดงให้เห็นถึงเป็นพลังที่บริสุทธิ์ ที่ไม่ยอมรับกับกระบวนการรัฐประหาร ความไม่เป็นธรรมในสังคม ความไม่ถูกต้อง  และจะเห็นว่าหลังเหตุการณ์นี้จะมีการชุมนุมประท้วงของภาคประชาชนในครั้งถัดมา โดยเฉพาะภายหลังมีการรัฐประหาร คิดว่าเป็นเหมือนเหตุการณ์จุดเปลี่ยนและเป็นเหตุการณ์ตัวอย่างที่สำคัญ แต่มากกว่าการจะมาพูดว่าเหตุการณ์ไหนสำคัญกว่ากัน ตนอยากชวนทุกคนคิดร่วมกันว่าสุดท้ายแล้วทำไมการเมืองไทยยังวนเวียนอยู่ระหว่างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งและการรัฐประหาร เราต้องเลิกมีความคิดผิดๆที่ว่า เมื่อนักการเมืองเลว แล้วต้องแก้ปัญหาด้วยการรัฐประหาร เพราะการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นเรื่องสำคัญมาก โดยเฉพาะการเลือกตั้งในแต่ละครั้ง เพราะผลการเลือกตั้งถือเป็นบทเรียนที่ดีที่สุดของนักการเมือง

 

มาดามเดียร์ถอดรหัสการเมือง ชี้การเมืองเลวไม่จำเป็นต้องแก้ด้วยรัฐประหาร

 

ส่วนการเมืองอนาคตจะทำอย่างไรให้สามารถยึดโยงกับประชาชน นั้น น.ส.วทันยา ระบุว่า การเลือกตั้งเมื่อผ่านระบบพรรคการเมือง ก็จะมีการยึดโยงกับประชาชนไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง แต่คำถามคือ จะยึดโยงกับประชาชนอย่างไรมากกว่า ขอตั้งคำถามว่าในการเลือกตั้งครั้งหน้าระหว่างกระสุนกับกระแสจะแข่งกันตรงไหน แล้วใครจะเป็นผู้ชนะ ซึ่งกระสุนนั้นมีทั้งกระสุนทางตรงในรูปแบบของเม็ดเงิน และกระสุนผ่านนโยบายที่เป็นประชานิยมที่สัญญาว่าจะให้ เพราะเป็นสิ่งที่บั่นทอนระบบประชาธิปไตยแทนที่จะพัฒนาและก้าวไปข้างหน้า

 

น.ส.วทันยา ยังได้กล่าวถึงการพรรคประชาธิปัตย์ในปัจจุบัน ว่าแน่นอนวันนี้เรายังไม่มีหัวหน้าพรรค และในฐานะสมาชิกคนหนึ่งก็ไม่ได้อยากให้เกิดขึ้น แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็เป็นเครื่องตอกย้ำและสะท้อนให้เห็นว่าเราเป็นพรรคที่ไม่มีเจ้าของจริงๆ จะเห็นว่าการเลือกตั้งหัวหน้าพรรควันนี้มีความเห็นต่างในเรื่องความคิดในพรรค แต่นั่นก็พิสูจน์ให้เห็นว่าเราเป็นเพียงพรรคการเมืองเดียวจริงๆ ที่เมื่อใครเห็นต่างก็มีสิทธิในการแสดงออกการเห็นต่างด้วยวิธีการต่างๆ เพราะถ้าพรรคมีเจ้าของแน่นอน สิ่งที่เกิดขึ้นเวลาเรามององค์กรธุรกิจ ที่มีเจ้าของ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นระบบกงสี บริษัทจำกัด มีผู้ถือหุ้นที่ชัดเจน แปลว่าเรามีเจ้านาย ถ้าเจ้านายสั่งอะไรในฐานะผู้ใต้บังคับบัญชาเราอาจจะให้ความเห็นได้บ้าง แต่สุดท้ายเราก็ปฏิเสธไม่ได้ แต่ถ้าจะเห็นต่างจริงๆ ยอมรับไม่ได้ นั่นแปลว่ามีอยู่ 2 ทาง คือ ไม่ลาออกเอง ก็คือถูกบริษัทเชิญออก

ในขณะที่พรรคประชาธิปัตย์พอเราไม่มีระบบนี้ คนทุกคนคือเราทำงานในฐานะเพื่อนสมาชิกที่ทำงานร่วมกัน ให้เกียรติซึ่งกันและกัน แต่แน่นอนว่าในการทำงานคนหมู่มากมันก็จะต้องมีคนที่เป็นหัวหน้าในการที่จะนำกลุ่มคนหรือสมาชิกในการขับเคลื่อน แต่ทั้งหมดเราทำงานในฐานะเพื่อนสมาชิกด้วยกัน ไม่ได้มีเจ้านายที่จะมากดปุ่มสั่งการ อันนี้คือสิ่งสำคัญที่เป็นเหมือนกลไกในการทำงานของพรรคประชาธิปัตย์ในการขับเคลื่อนสิ่งต่างๆ 

"การเลือกตั้งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้เป็นเพียงพิธีกรรมที่เกิดขึ้น แต่การเลือกตั้งของเราคือสมาชิกทุกคนเป็นความศักดิ์สิทธิ มันเกิดระบบการแข่งขันขึ้นอย่างจริงจัง และเดียร์คิดว่าเป็นสิ่งสำคัญที่พรรคประชาธิปัตย์มี และเป็นสิ่งสำคัญ เพราะจริงๆแล้วเจตนารมณ์ในการจัดตั้งพรรคการเมืองในระบบการเมือง คือ การเป็นองค์กรที่ให้คนที่มีแนวคิด อุดมการณ์ความคิดทางการเมืองเดียวกันเข้ามาทำงานร่วมกัน เพื่อขับเคลื่อนอุดมการณ์การเมือง แต่หลักประกันแรกที่ต้องมีคือพรรคการเมืองนั้นต้องไม่มีเจ้าของ" น.ส.วทันยา กล่าว