posttoday

ชัย อัด ธปท.ค้านจ่ายเงินช่วยชาวนา เย้ย รู้ไม่ลึกซึ้ง แนะ ปล่อยคนรู้จริงทำ

21 พฤศจิกายน 2566

โฆษกรัฐบาล อัด ธปท.หลังออกหนังสือ ไม่เห็นด้วย จ่ายเงินช่วยชาวนา 1 พันบาทต่อไร่ ระบุ ต้นทุนไม่ได้ต่ำลง ข้องใจ เทียบกับปีก่อนราคาข้าวเปลือกพอกัน ใช้งบไม่ต่างกัน ไม่ท้วงติง จวก ธปท. ไม่รู้ลึกซึ้งเท่า เกษตรฯ-พาณิชย์ ระบุ ขอให้คนที่แม่นยำตัดสินใจดีกว่า

วันที่ 21 พ.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีหนังสือให้ความเห็นกลับมายังสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ไม่จำเป็นต้องออกมาตรการจ่ายเงินชาวนาไร่ละ 1 พันบาทว่า เข้าใจว่า เป็นหนังสือจากสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีสอบถามความเห็นไปยัง ธปท. เกี่ยวกับกรณีที่ประชุม ครม.เมื่อวันที่ 7 พ.ย. มีมาตรการช่วยเหลือชาวนาด้วยการแทรกแซงโดยการซื้อราคานำ และวันที่ 14 พ.ย. มีมาตรการช่วยเหลือชาวนาด้วยการให้เงินไร่ละ 1 พันบาท

หนังสือเปิดผนึกที่ ธปท.ให้ความเห็นมาว่า เนื่องจากราคาข้าวเปลือกในปัจจุบันกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น และต้นทุนการผลิตลดต่ำลง ธปท.จึงเห็นว่าการให้เงินช่วยเหลือกสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพข้าวไร่ละ 1 พันบาทอาจไม่จำเป็นแล้ว ไม่เหมือนก่อนหน้านี้นั้น ขอชี้แจงว่า หนังสือที่ธปท.บอกว่าความจำเป็นมันน้อยลงแล้ว ความหมายคือ เมื่อเทียบกับเมื่อปีที่แล้ว ฤดูกาลผลิตข้าวนาปี 2565 ในส่วนราคาข้าวเปลือกจ้าว ข้าวเปลือกหอมมะลิ ข้าวเปลือกเหนียว รัฐบาลที่แล้วใช้เงินอุดหนุนช่วยเหลือชาวนาผ่านโครงการต่างๆ ทั้งหมดเกือบ  1.5 แสนล้านบาท  ในจำนวนดังกล่าวมีอยู่ 8.6 หมื่นกว่าล้านบาทใช้เพื่อประกันราคาข้าวเปลือก ปีที่แล้วราคาไม่ดีเท่าไหร่ รัฐบาลที่แล้วใช้การประกันราคา ถ้าราคาต่ำให้มารับส่วนต่างจากรัฐบาล อีกทั้งยังมีการให้เงินสนับสนุนการบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพข้าวเช่นเดียวกับรัฐบาลนี้ 

นายชัยกล่าวว่า หนังสือแสดงความเห็นจาก ธปท.ที่บอกว่าความจำเป็นน้อยแล้ว เพราะปีนี้ข้าวราคาดี ต้องขอเรียนว่า เงินที่ชาวนาได้จากการขายข้าวเปลือกในปีนี้แม้จะสูงกว่าปีที่แล้ว แต่ปีที่แล้วชาวนาได้เงินอุดหนุนที่มาจากการประกันราคา ซึ่งเมื่อบวกเงินอุดหนุนจากการประกันราคาแล้ว เงินที่ชาวนาขายข้าวได้ ฤดูกาลผลิตปีที่แล้วกับฤดูกาลปีนี้พอๆ กัน แทบไม่ต่างกันเลย เพราะปีนี้ราคาข้าวเปลือกขึ้นรัฐบาลก็ไม่ได้ประกัน เงินที่ได้เพิ่มขึ้นเทียบเท่ากับปีที่แล้วที่ขายแล้วได้น้อยหน่อย แต่รัฐบาลควักมา 8.6 หมื่นกว่าล้านบาท ฉะนั้น รายได้ชาวนาจากการขายข้าว 2 ปีไม่ต่างกันเท่าไหร่

ขณะเดียวกัน ปีนี้ สิ่งที่แย่กว่าปีที่แล้วคือ ตั้งแต่ปลายเดือน ต.ค.จนถึงต้นเดือน พ.ย. ที่รัฐบาลได้มีมติ ครม. 2 ออกมาช่วยเหลือชาวนา เป็นช่วงเวลาที่ข้าวเปลือกหอมมะลิกำลังจะออกตลาด และราคาข้าวเปลือกหอมมะลิแม้จะมีการประกาศราคาพอๆ กับปีที่แล้ว ตันละ 14.500 – 15,000 บาท แต่เวลารับซื้อจริง ราคาตันละ 14.500 – 15,000 บาท แต่มันคือความชื้นที่ 15% แต่ในภาคปฏิบัติ เวลาเก็บข้าวมาแล้ว ความชื้นคือ 25% เวลาส่งไปขาย เขารับซื้อแค่ตันละ 10,800 บาท ทำให้ชาวนาขายได้น้อยลงกว่าเดิมและไม่มีเงินประกัน รอบนี้รัฐบาลจึงไม่จ่ายเงินประกันให้ เพราะราคาข้าวเปลือกอย่างอื่นดี เพียงแค่อุดหนุนในเรื่องของการบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพข้าวเท่าๆ กับปีที่แล้วคือ 5.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งใช้เงินอุดหนุนน้อยกว่าปีที่แล้วเกินกว่าครึ่ง และราคาข้าวเปลือกถึงแม้จะขึ้นบางตัว แต่ข้าวเปลือกหอมมะลิไม่ได้ขึ้น ตัวอื่นๆ ที่ขึ้นรัฐบาลก็ถอนการประกันออกไป

นายชัย กล่าวว่า เรื่องต้นทุนการผลิตที่ ธปท.ระบุว่า ไม่น่าจำเป็นเพราะต้นทุนต่ำนั้น ข้อเท็จจริงไม่ใช่ เพราะปุ๋ยที่ราคาลงมีตัวเดียว แต่อีก 3 ตัวแพงกว่าปีที่แล้ว ต้นทุนปีนี้เทียบกับปีที่แล้ว ไม่ได้ถูกลง แต่สูงขึ้นเล็กน้อย หนังสือแสดงความเห็นของ ธปท.ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง จึงขอเรียนว่าข้อมูลที่เกี่ยวกับเกษตรกร เกี่ยวกับชาวนา ข้อมูลของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับภาคเกษตรโดยตรง จะมีความละเอียดลึกซึ้งกว่าข้อมูลของ ธปท.

ธปท.จะดูรายงานกว้างๆ ไม่ได้เจาะลึกเหมือนกับหน่วยงานที่เขาดูโดยตรง จึงขอชี้แจงว่าข้อเท็จจริงไม่ใช่ตามที่ ธปท.ชี้ ยิ่งไปกว่านั้นที่แปลกใจมากๆ คือ เมื่อปีที่แล้วรัฐอุดหนุนช่วยชาวนาใช้เงินเกือบ 1.5 แสนล้านบาท และชาวนาได้เงินพอๆ กับปีนี้ ถึงแม้จะขายข้าวเปลือกได้ถูกหน่อยแต่ได้รับเงินประกันจากรัฐบาล บวกแล้วพอๆ กับปีนี้ที่ชาวนาขายข้าวเปลือกแต่ไม่มีเงินประกัน ปีที่แล้วก็มีโครงการให้ไร่ละ 1 พันบาท เหมือนกับปีนี้ แต่ปีที่แล้ว ธปท.ไม่มีความเห็น ไม่ได้มีหนังสือเปิดผนึกโต้แย้งว่าไม่ควรทำ อันนี้เป็นเรื่องที่ตนค่อนข้างแปลกใจ เรื่องแบบเดียวกัน ตัวหนังสือแทบจะลอกกันมา แต่ปีที่แล้วไม่ท้วงติง ไม่แสดงความเห็น ไม่ปรากฏในรายงานการประชุม แต่ปีนี้มีและเป็นข่าวด้วย 

“ขอเรียนว่า เรื่องนี้มันเป็นโยบายทางการคลัง เป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลที่จะดูแลชีวิตความเป็นอยู่ รายได้ทางเศรษฐกิจของชาวนา ส่วนความเห็นของ ธปท. เราพร้อมรับฟัง แต่บทบาทหน้าที่มันแบ่งกันทำ ธปท.ดูแลด้านการเงิน ถ้าจะมีหนังสือท้วงติงหรือแสดงความเห็น เช่น อัตราดอกเบี้ยที่ควรคิดควรจะเป็นเท่าไหร่ ระยะเวลาคืนเงินต้นควรจะเป็นเท่าไหร่ หลักประกันเรื่องความเสี่ยงของการปล่อยสินเชื่อให้ชาวนาควรจะเป็นอย่างไร อย่างนี้เป็นบทบาทหน้าที่โดยตรงของ ธปท. แต่โครงการควรจะช่วยชาวนาหรือไม่ ช่วยในหลักเกณฑ์เท่าไหร่ อย่างไร ต้นทุนแพงขึ้นหรือถูกลง ราคาข้าวเปลือกเป็นอย่างไร เรื่องนี้เป็นเรื่องที่รัฐบาลมีรายละเอียดอยู่ในมือ เราพิจารณาอย่างถี่ถ้วน เราน้อมรับฟังในเรื่องที่หน่วยงานนั้นๆมีบทบาทหน้าที่เกี่ยวข้องโดยตรง แต่เรื่องอื่นนอกเหนือจากประเด็นทางการเงิน เราคิดว่าขอให้หน่วยงานของภาครัฐที่มีความข้อมูลลึกซึ้งแม่นยำกว่าเป็นผู้พิจารณาและตัดสินใจ น่าจะดีกว่า”นายชัย กล่าว