posttoday

เลขากฤษฎีกา โอดถูกด่า ทำงานช้า ชี้ คลังยังไม่ส่ง พ.ร.บ.กู้เงิน มาให้ตีความ

21 พฤศจิกายน 2566

เลขาฯกฤษฎีกา ตัดพ้อ โดนด่า ทำงานช้า แจง กระทรวงการคลัง ยังไม่ส่งพ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท มาให้ตีความ เผย กฤษฎีกาแค่ให้ความเห็นทางกฎหมาย เข้าเงื่อนไขกู้เงินได้-ไม่ได้ เท่านั้น ย้ำ ไม่ใช่นักการเมือง ไม่มีหน้าที่บอก หากทำไปแล้ว ประเทศวิกฤตหรือไม่

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ถึงกรณีได้พบกับ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ตามที่รัฐบาลมีข้อสอบถามเรื่องการออก พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อนำมาใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ว่าจะมีหนังสือมาถึงกฤษฎีกาเมื่อใดและสามารถทำได้หรือไม่ว่า ได้คำตอบจากรัฐมนตรี ว่ากำลังดูอยู่

ตามขั้นตอน เมื่อคณะกรรมการดิจิทัลวอลเล็ตชุดใหญ่ มีมติให้กระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นฝ่ายเลขานุการ ถามมาที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา หากพบเงื่อนไขจะสามารถกู้ได้หรือไม่เท่านั้น โดยมติมีเพียงแค่นั้น ยังไม่ได้ไปถึงขั้นตอนการยกร่างกฎหมาย

ขอย้ำว่าเป็นการให้ถามคำถามเท่านั้น เมื่อส่งคำถามมา แล้วจะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาตามปกติ ไม่มีการตั้งคณะกรรมการชุดพิเศษแต่อย่างใด ทุกอย่างตรงไปตรงมา ถ้าเข้าเงื่อนไขก็สามารถทำได้ ถ้าไม่เข้าเงื่อนไขก็ทำไม่ได้ คำตอบมีเพียงเท่านั้น หากสามารถทำได้ก็จะเป็นการยกร่างกฎหมายอีกขั้นตอนหนึ่ง

“เมื่อเช้า21พ.ย. ได้ทวงถามจากรัฐมนตรีเรื่องนี้ เพราะผมถูกด่าว่าทำงานช้า ทั้งที่เรื่องยังไม่ส่งมาถึง ทางสภาพัฒน์ก็รอ เพราะนึกว่าเรื่องได้ส่งมาแล้ว ทุกคนคิดแบบนี้ แต่ปรากฏว่านักข่าวรู้มากกว่าผมอีก” นายปกรณ์ กล่าว 

เมื่อถามว่า สภาพัฒน์ฯ บอกว่าถ้าคณะกรรมการกฤษฎีกา ให้ความเห็นมาว่า ถ้าครม.ไปต่อทางนี้ไม่ได้ อาจมีทางอื่นหรือไม่ นายปกรณ์ กล่าวว่า ไม่รู้ เป็นเรื่องของรัฐบาลที่ต้องคิด ไม่ใช่เรื่องของตน และคณะกรรมการกฤษฎีกาให้คำแนะนำไม่ได้ เพราะไม่ใช่นักการเมือง แต่เป็นนักกฎหมาย กฎหมายที่จะนำมาพิจารณาประกอบมีทั้งรัฐธรรมนูญ เรื่องการจ่ายเงินแผ่นดิน และยังมีกฎหมายหลายฉบับประกอบ เช่น กฎหมายงบประมาณ กฎหมายการเงินการคลัง กฎหมายหนี้สาธารณะ พ.ร.บ.เงินตรา จึงไม่สามารถตอบแทนได้ว่าวิกฤตหรือไม่วิกฤต

เมื่อถามว่า รัฐบาลฝากความหวังไว้ที่คณะกรรมการกฤษฎีกา ถ้าวิธีออกพ.ร.บ.กู้เงิน ไม่ได้ จะใช้ช่องทางใดได้บ้าง นายปกรณ์กล่าวว่า การจะเข้าเงื่อนไขหรือไม่ ต้องดูสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ ซึ่งไม่รู้และไม่สามารถตอบแทนได้ 

เมื่อถามย้ำว่าเลขาธิการนายกฯ อยากขอคำแนะนำจากคณะกรรมการกฤษฎีกาว่า จะทำอย่างไรถึงจะเดินหน้าโครงการได้ นายปกรณ์กล่าวว่า คำถามที่ว่าทำอย่างไรให้ทำได้ ไม่ควรมาถาม เพราะไม่ใช่คนกำหนดนโยบาย ไม่ใช่หน้าที่ เรื่องวิกฤตหรือไม่วิกฤต ไม่ใช่หน้าที่ของกฤษฎีกาแต่เป็นหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีที่จะหาข้อมูลมาสนับสนุน ที่โต้เถียงกันก็ไม่รู้

ส่วนกรณีที่ นายศรีสุวรรณ จรรยา ผู้นำองค์กรรักชาติรักแผ่นดิน ร้อง ป.ป.ช.ว่า รัฐบาลกระทำการขัดรัฐธรรมนูญ นายปกรณ์ กล่าวว่า เรื่องยังไม่มีอะไรเกิดขึ้น เป็นการไปร้องล่วงหน้าก่อนหรือไม่ก็ไม่ทราบ เพราะคณะกรรมการยังไม่มีมติ