posttoday

'นิวัติไชย'แจงตั้ง'สุภา'คุมศึกษาแจกเงินดิจิทัลไม่ใช่ขัดขวางโครงการ

27 ตุลาคม 2566

'นิวัติไชย เกษมมงคล'เลขาป.ป.ช.แจงตั้ง'สุภา ปิยะจิตติ' คุม คกก.ศึกษานโยบายดิจิทัลวอลเล็ต เพราะมีประสบการณ์เพื่อวางแนวทางให้คำแนะนำไม่ใช่ขัดขวางโครงการแต่ไม่รู้ศึกษาจบเมื่อใดเพราะแนวทางรัฐบาลก็ยังไม่ชัดเจน

นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวถึงกรณี ป.ป.ช. เห็นชอบแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาและดำเนินการรับฟังความเห็นเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณีการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัดวอลเล็ต ว่า คณะกรรมการชุดนี้ตั้งมาเพื่อศึกษา เสนอแนะ และให้ข้อแนะนำไม่ใช่การระงับยับยั้งไม่ให้ทำโครงการเพราะเป็นนโยบายที่รัฐบาลหาเสียงไว้ อีกทั้งมีอำนาจหน้าที่บริหารจัดการเรื่องนี้ได้ 

เพราะฉะนั้นในหลักการที่ ป.ป.ช. พิจารณา เนื่องจากมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ หรืออาจจะมีการส่อไปในทางทุจริต จึงตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาและวางแนวทางป้องกันไว้ก่อนซึ่งขับเคลื่อนไปแล้วอาจไม่มีปัญหาก็ได้ แต่ถ้ามีเกิดจากช่องทางไหนก็ต้องดู พร้อมมองว่าเมื่อมีนโยบายแล้วก็ต้องมีแผนงานโครงการในการปฎิบัติตามนโยบายว่าจะทำอย่างไรตามแผนงาน วัตถุประสงค์ เป้าหมายแก่ใครบ้าง ประชาชนกี่คน อนุมัติวงเงินงบประมาณเท่าไร และการดำเนินการ รวมถึงเอาเงินไปจ่ายประชาชนอย่างไร ผ่านอะไร ประชาชนจะได้รับเงินหรือไม่ก็ต้องไปดู 

วันนี้เท่าที่ทราบ เราเพิ่งรู้จากนโยบาย แต่การขับเคลื่อนให้เป็นไปตามนโยบายยังไม่ตกผลึกว่าสรุปแล้วจะแจกให้แก่ใครบ้าง อายุ 16 ปีขึ้นไปเลยหรือไม่ หรือจะแบ่งเป็นกลุ่ม มีฐานะแบบไหน มีรายได้เท่าไร หรือรายได้สูงมากแล้วจะไม่ให้ มีกี่คน และเม็ดเงินที่จะนำมาใช้ในโครงการเท่าไรก็ยังไม่ทราบ จะเอามาจากไหนก็ยังไม่รู้ เพราะฉะนั้นถ้าคำสั่งตั้งคณะกรรมการฯ ออกวันนี้ได้ ก็จะมีการนัดประชุมในอีก 1-2 สัปดาห์ เพื่อวางกรอบการดำเนินการแค่นั้นเอง เพราะยังไม่มีรายละเอียดที่จะให้พิจารณาศึกษาก็ต้องขอเอกสารและรายละเอียดเข้ามาดูก่อน

สำหรับการพิจารณาตัวคณะกรรมการที่เข้าร่วม นายนิวัติไชย บอกว่า มีผู้เชี่ยวชาญหลากหลาย บางคนเป็นที่ปรึกษาหรือผู้เชี่ยวชาญที่ประจำอยู่ ป.ป.ช. แต่ส่วนใหญ่เป็นหัวหน้าหน่วยหรือผู้แทนของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ถ้าเป็นองค์กรอิสระ ก็มีกกต. ผู้ตรวจการแผ่นดิน สตง. ถ้าเป็นหน่วยงานรัฐ ก็มีกระทรวงการคลังที่เป็นเจ้าภาพรับผิดชอบ หัวหน้าส่วนราชการต่างๆ ซึ่งที่ปรากฏตามข่าวก็ยืนยันว่ามีบุคคลเหล่านี้ร่วมด้วย

เมื่อถามว่า เรื่องเงินดิจิทัลถือเป็นเรื่องใหม่ สำหรับ ป.ป.ช.หรือไม่ ซึ่งเป็นรายละเอียดปลีกย่อยที่เราต้องเข้มกับตรงนี้มากขึ้น นายนิวัติไชย กล่าวว่า ป.ป.ช. ไม่ได้ศึกษาเรื่องนี้เรื่องเดียว แต่ศึกษาโครงการของรัฐบาลมาหลายโปรเจ็คแล้ว และมีข้อเสนอแนะไปให้รัฐบาล ซึ่งก็รับทราบรับฟัง และปฏิบัติตาม มีเพียงไม่กี่โครงการที่รัฐบาลเห็นว่ารับทราบ มีการขับเคลื่อนไป แต่ก็มีช่องโหว่ช่องว่างไปเอื้อประโยชน์ให้กับภาคธุรกิจหรือเอกชนบางรายมันก็เลยเป็นประเด็นย้อนกลับมาว่าสิ่งที่ปอปอชอให้ข้อเสนอแนะแล้วก็ต้องระมัดระวังแต่กลับยังไม่มีการระวังเท่าที่ควรส่วนท่านจะไปร่วมด้วยหรือไม่เราไม่มีพยานหลักฐานรู้แต่ว่าการไม่ปฏิบัติตามและก่อให้เกิดความเสียหายก็ถือเป็นการปฏิบัติโดยมิชอบ มันมี 2 กรณีคือ โดยมิชอบ กับ โดยทุจริต ซึ่งแปลว่ารับรู้ แต่เพื่อต้องการแสวงหาผลประโยชน์เข้ามา

เมื่อถามว่า มีการตั้งข้อสังเกตว่าอาจซ้ำรอยกับคดีในสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ทาง ป.ป.ช. ต้องดูเรื่องนี้รอบคอบหรือไม่ นายนิวัติไชย กล่าวว่า ถ้าในฝั่ง ป.ป.ช. ก็จะศึกษามาตรการตามแนวทางที่เคยปฏิบัติ และในส่วนของรัฐบาลก็คิดว่าคงไม่มีใครอยากจะเดินซ้ำรอย เพราะเขารู้อยู่แล้ว และยิ่งมีคนจับจ้องอย่างนี้ ถ้าตนเป็นนายกรัฐมนตรีก็คงไม่อยากจะเข้าไป โดยเฉพาะท่านเป็นนักธุรกิจ มันมีตัวอย่างเยอะแยะไปหมด แต่เชื่อว่าเจตนาของนายกฯ คือต้องการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะที่เคยประกาศหาเสียงไว้มากกว่า ถ้าเป็นเรื่องที่ดีก็สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ เพียงแต่ช่วยระมัดระวังบ้าง อาจจะมีรอยรั่วต่างๆ รับฟังกระแสวิพากษ์วิจารณ์ แต่การตัดสินใจเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกฯ โดยตรง

เมื่อถามย้ำว่า ทำได้ แต่อย่าให้พลาดใช่หรือไม่ นายนิวัติไชย บอกว่า ไม่ใช่อย่างงั้น อย่าไปคิดแบบนั้นเดี๋ยวจะกลายเป็น ป.ป.ช. ไปจับจ้อง คนจะรู้สึกว่าถ้าเราถูก ก็ผิดหรือ แต่ถ้าเราช่วยกัน ไม่ใช่จับจ้อง และเสนอแนะไปแล้ว ถ้าปฏิบัติตามก็โอเค แต่ถ้าไม่ปฏิบัติตามเรา มีความเห็นที่ดีกว่าและเกิดประโยชน์ดีกว่า ก็ไม่จำเป็นต้องฟังข้อเสนอแนะของ ป.ป.ช. หรือสามารถรับฟังแล้วเอาไปรีวิวอีกที ก็อาจไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามนี้ก็ได้ แต่ต้องมีเหตุผลว่าการไม่ทำตามเพราะอะไร มีอะไรที่ดีกว่าทำได้หมด ก็เป็นอำนาจหน้าที่ในการบริหาร ประชาชนเลือกมาแล้ว ป.ป.ช. ไม่ได้ไประงับยับยั้ง หรือจับ้อง หรือจะเล่นงาน ขอยืนยันได้เลย

ส่วนที่ประชาชนบางส่วนมองว่าการที่ ป.ป.ช. ออกมาตั้งคณะกรรมการฯ เผื่อจะขวางนโยบายนี้ ทำให้รัฐบาลกังวล ไม่กล้าขยับอะไรมากนั้น นายนิวัติไชย บอกว่า ตนย้ำอยู่เสมอว่าไม่ได้จับจ้อง และเอาไปเปรียบเทียบกับอีกโครงการที่เคยทุจริตขึ้น มันไม่ใช่ มันเป็นหน้าที่และอำนาจโดยตรงที่กฎหมายกำหนด ว่าถ้ามีโปรเจคอะไรที่ส่อไปในทางทุจริต หรือรู้อยู่แล้ว ให้ ป.ป.ช. เข้าไป แล้ววันนี้อีกกระแสมองว่ามันอาจก่อให้เกิดอะไรขึ้น ถ้า ป.ป.ช. ไม่มีบทบาท นิ่งเฉย ก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้นเราใช้อำนาจตามที่ พ.ร.บ. ป.ป.ช. กำหนดบทบาทเอาไว้ แต่ไม่ได้ไปจ้องจับผิด

เมื่อถามว่า ป.ป.ช. จะมีข้อเสนอแนะไปยังรัฐบาลเกี่ยวกับเรื่องสินค้าเกษตรที่เคยทำไว้ เพื่อป้องกันช่องโหว่และความเสียหาย หรือไม่ นายนิวัติไชย กล่าวว่า มาตรการที่เราเสนอไปกำลังกำกับติดตาม ว่ามีการขับเคลื่อนตามมาตรการที่ครม. มีมติรับทราบและมอบหมายให้หน่วยงานรับไปปฏิบัติหรือไม่ดูว่ามีการขับเคลื่อนหรือไม่ ถ้าไม่มีเราก็จะรีวิวว่าหน่วยงานนี้ ครม. มีมติรับทราบไปแล้ว มอบหมายให้ไปดำเนินการแล้ว แต่ทำไมหน่วยงานยังไม่ปฏิบัติ ซึ่งหัวหน้าส่วนราชการคงต้องรับผิดชอบเรื่องพวกนี้ และต้องตอบคำถาม ถ้าพบว่ามีการละเลยหรือละเว้น โดยมีเจตนา ก็เข้าข่ายการปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ป.ป.ช. มีมาตรการดำเนินการหรืออาจจะรับเรื่องเข้ามาดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง นี่ไม่ใช่การขู่ ไม่อย่างนั้นก็ขับเคลื่อนไม่ได้ ออกมาตรการมาแล้ว ครม.มีมติเห็นชอบแล้วผ่านแล้ว แต่หน่วยงานไม่ทำก็ต้องรับผิดชอบ วันนี้เรากำลังเตือนในมาตรการต่างๆว่า มีการดำเนินการไปถึงขั้นตอนไหนอย่างไร ถ้าไม่ขยับอะไรเลยก็คงต้องคุยกับ ป.ป.ช. หรือทางหัวหน้าหน่วยนั้น

เมื่อถามถึงการเลือกประธานคณะกรรมการชุดดังกล่าว นายนิวัติไชย กล่าวว่า ความความจริงแล้ว นางสุวณา สุวรรณจูฑะ กรรมการ ป.ป.ช. จะเป็นผู้กำกับดูแลเรื่องการเฝ้าระวัง แต่เห็นว่า น.ส.สุภา ปิยะจิตติ เคยมีองค์ความรู้ในเรื่องนี้ และเคยทำสำนวนในเรื่องพวกนี้อาจจะมีมุมมองที่ดีกว่า จึงให้ น.ส.สุภา เป็นประธานคณะกรรมการชุดนี้ 

ส่วนที่ น.ส.สุภา กำลังจะหมดวาระ แต่ให้มารับหน้าที่นี้ ก็คงไม่ใช่การจงใจ เพราะยังไม่รู้ว่าโครงการศึกษานี้จะเสร็จเร็วหรือช้าอย่างไร แต่วันนี้เมื่อ น.ส.สุภา ยังอยู่ก็ต้องทำงาน เพราะยังสามารถทำงานได้ ก็ให้ทำไป ไม่เช่นนั้นกลายเป็นว่าต่อไปจะตั้งใครแทบไม่ได้ เพราะจะหมดวาระ ดังนั้นคนจะมีมุมมองอย่างไรคงห้ามไม่ได้ แต่ข้อเท็จจริงก็เป็นอย่างที่บอก ซึ่งคนที่ขับเคลื่อนจริงๆคือองค์คณะกรรมการ ส่วนประธานอย่างมากก็นั่งหัวโต๊ะ แต่องค์ความรู้จริงๆคือองค์ความรู้ของบอร์ดที่ฝ่ายสำคัญได้มีการรวบรวมข่อมูลไว้แล้ว ซึ่งถ้า น.ส.สุภา หมดวาระ ก็ให้นางสุวณา ขึ้นเป็นประธานแทน แต่ระหว่างการขับเคลื่อนนี้ น.ส.สุภา อาจจมีมุมมองความเห็นในเรื่องที่ประสบมา จึงก็ดูเรื่องเหล่านี้ได้