posttoday

'นายกฯเศรษฐา'แสดงคำไว้อาลัยจุฬาราชมนตรีถึงแก่อนิจกรรม

23 ตุลาคม 2566

นายกฯเศรษฐา ทวีสิน แสดงคำไว้อาลัยในนามรัฐบาลและชาวไทยทุกคน ต่อการถึงแก่อนิจกรรมของนายอาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรี เผยประวัติตลอดเวลาที่ดำรงตำแหน่ง ได้สร้างคุณูปการด้านศาสนาอิสลามไว้บนแผ่นดินไทยนานัปการ

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แสดงคำไว้อาลัย ต่อการถึงแก่อนิจกรรมของนายอาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรี พุทธศักราช ๒๕๖๖ ในนามรัฐบาลและชาวไทยทุกคน ขอแสดงความเสียใจในการถึงแก่อนิจกรรมของนายอาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรีคนที่ ๑๘ ของประเทศไทย 

ตลอดระยะเวลาที่ท่านดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรี ได้สร้างคุณูปการด้านศาสนาอิสลามไว้บนแผ่นดินไทยนานัปการ

ท่านส่งเสริมการสร้างความสมานฉันท์เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติในสังคมพหุวัฒนธรรม ผ่านโครงการต่าง ๆ เช่น จัดตั้งสถาบันวะสะยะฮ์ เพื่อส่งเสริมการปฏิบัติตามหลักศาสนิกชนของศาสนาอิสลามแห่งสายกลาง ส่งเสริมการสร้างความเข้าใจระหว่างผู้นับถือ ต่างศาสนาอย่างเป็นรูปธรรม 

จัดตั้งสภาเครือข่ายด้านมนุษยธรรมเพื่อให้ความช่วยเหลือต่อเพื่อนมนุษย์โดยไม่คำนึงถึงเชื้อชาติ ศาสนา ส่งเสริมชมรมผู้นำศาสนาอิสลามรุ่นใหม่ เพื่อให้เข้าใจหลักคำสอน ทางศาสนา สังคม วัฒนธรรม และการอยู่ร่วมกันในสังคมที่มีความเชื่อหลากหลาย ตลอดจนโครงการอื่น ๆ อีกมากมายที่ฝากให้ชาวไทยมุสลิมรุ่นต่อไปได้สานต่อ 

โดยล้วนเป็นประโยชน์แก่การดำเนินงานตามนโยบายด้านศาสนาและสันติสุขแห่งสังคมไทย รวมถึงแนวทางการดำรงชีวิตของท่านจะเป็นแบบอย่างแก่พี่น้องชาวไทยมุสลิมตลอดไป

ในวาระที่ท่านได้กลับไปสู่ความเมตตาของพระผู้เป็นเจ้า ขอให้องค์อัลลอฮ์ทรงตอบรับความดีงามที่ท่านได้ประกอบไว้ขณะที่ท่านดำรงชีวิตอยู่ และขอได้โปรดรับดวงวิญญาณอันบริสุทธิ์ของท่านให้พำนักอยู่ในสรวงสวรรค์ด้วยเถิด

สำหรับประวัติของนายอาศิส เกิดเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2490 ที่ตำบลหัวเขา อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา ก่อนดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรี เคยเป็นอดีตประธานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย อดีตสมาชิกวุฒิสภาไทย ชุดที่ 7 อดีตประธานกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสงขลา อดีตสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (ประเทศไทย) พ.ศ. 2557

เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 นายอาศิส ได้รับลงคะแนนเสียงเป็นอันดับ 1 จากกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทั่วประเทศให้ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรีตามพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ. 2540 และได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นจุฬาราชมนตรีคนที่ 18 เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2553

คำปรารภเนื่องในโอกาสเข้ารับตำแหน่งจุฬาราชมนตรี

“ท่านที่เคารพรักทั้งหลาย บัดนี้ข้าพเจ้าได้รับเลือกให้เป็นผู้นำของพวกท่าน และไม่ใช่ว่าข้าพเจ้าจะดีที่สุดไปกว่าพวกท่าน ดังนั้นหากข้าพเจ้ากระทำในสิ่งที่ถูกต้อง แล้ว ขอให้ท่าน ทั้งหลายได้โปรดให้ความช่วยเหลือแก่ข้าพเจ้าด้วย และหากข้าพเจ้ากระทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้องขอให้ท่านทั้งหลายได้ช่วยกันแก้ไข ให้ข้าพเจ้าได้กระทำในสิ่งที่ถูกต้อง ตราบใดที่ข้าพเจ้ายังเชื่อฟังในอัลลอฮ์ (ซ.บ.) และร่อซูล (ศ.ล.) ของพระองค์ก็ขอให้ท่านโปรดเชื่อฟังข้าพเจ้า และหากข้าพเจ้าไม่เชื่อฟังในอัลลอฮ์ (ซ.บ.) และร่อซูล (ศ.ล.) ของพระองค์ ดังนั้น พวกท่านก็ไม่มีความจำเป็นใด ๆ ที่จะต้องเชื่อฟังข้าพเจ้า”

เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2557 นายอาศิส ได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ แต่ได้ปฏิเสธการรับตำแหน่งนี้โดยให้เหตุผลว่าตำแหน่งจุฬาราชมนตรีเป็นผู้นำศาสนาอิสลามในไทยไม่สมควรรับตำแหน่งใด ๆ ทางการเมืองและลาออกจากตำแหน่งสนช.เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2557 หลังเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ 5 วัน

บทบาทก่อนรับตำแหน่งจุฬาราชมนตรี

  • สมาชิกวุฒิสภาไทย ชุดที่ 7
  • รองประธานกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย คนที่ 1
  • รองเลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย คนที่ 1
  • ประธานกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสงขลา (พ.ศ. 2530–2566)
  • ประธานชมรมคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด 14 จังหวัดภาคใต้
  • สมาชิกสภาที่ปรึกษาเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้
  • ประธานคณะกรรมการยุติธรรม ความเสมอภาค และความมั่นคง ในสมาชิกสภาที่ปรึกษาเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้
  • ประธานคณะอนุกรรมาธิการกิจการฮัจญ์ ในสมาชิกสภาที่ปรึกษาเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้
  • กรรมาธิการวิสามัญติดตาม เร่งรัด ประเมินผลการแก้ไขปัญหา และการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ วุฒิสภา
  • ประธานคณะทำงานปรับปรุง ยกร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยครอบครัวและมรดกตามหลักการอิสลาม
  • ประธานคณะอนุกรรมาธิการกิจการฮัจญ์ ในคณะกรรมาธิการวิสามัญติดตาม เร่งรัด ประเมินผลการแก้ไขปัญหาและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ วุฒิสภา
  • กรรมการนโยบายและอำนวยการการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้
  • กรรมการอิสระไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีเหตุการณ์มัสยิดกรือเซะ
  • กรรมการอิสระไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีเหตุการณ์ตากใบ
  • ประธานคณะทำงานปรับปรุงยกร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยครอบครัวและมรดกตามหลักการอิสลาม
  • กรรมการจัดทำหลักสูตรและตำราอิสลามศึกษา กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ
  • กรรมการจัดทำหลักสูตรและตำราอิสลามศึกษา สมาคมคุรุสัมพันธ์
  • กรรมการส่งเสริม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่
  • กรรมการส่งเสริม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
  • กรรมการส่งเสริม วิทยาลัยอิสลามยะลา[9]
  • ดะโตะอิหม่าม มัสยิดยาบัลโรดเหร๊าะหม๊ะ

เครื่องราชอิสริยาภรณ์
พ.ศ. 2557 –  เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นที่ 1 ประถมาภรณ์มงกุฎไทย (ป.ม.) 
พ.ศ. 2541 –  เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นที่ 2 ทวีติยาภรณ์ช้างเผือก (ท.ช.) 
พ.ศ. 2533 –  เหรียญราชการชายแดน (ช.ด.)

ทั้งนี้ สำนักจุฬาราชมนตรีขอประกาศให้ทราบโดยทั่วกันว่า นายอาศิส พิทักษ์คุมพลจุฬาราชมนตรี คนที่ 18 แห่งราชอาณาจักรไทย ได้กลับไปสู่ความเมตตาของอัลลอฮ์ (ถึงแก่อนิจกรรม) แล้ว เมื่อวันอาทิตย์ที่ 22 ตุลาคม 2566 เวลา 10.32 น. และจะจัดพิธี ละหมาดญะนาชะห์ (ละหมาดขอพร) ในวันจันทร์ที่ 23 ตุลาคม 2566 เวลา 10.00 น. ณ มัสยิดกลางประจำจังหวัดสงขลา เลขที่ 352 ถนนลพบุรีราเมศวร์ ตำบลคลองแหอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา