posttoday

'ก้าวไกล'กั๊กร่วมวงคณะกรรมการศึกษาทำประชามติแก้รธน.

03 ตุลาคม 2566

พริษฐ์ วัชรสินธุ เผยก้าวไกล ยังไม่ตอบรับหรือปฏิเสธคำเชิญร่วมคณะกก.ศึกษาทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญ ขอหารือในพรรคก่อน โยนพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน แบ่งเก้าอี้กมธ. พร้อมแจงกรณีวิปรัฐบาลขู่ฟ้องศาลรธน.ปมมติขับปดิพัทธ์พ้นพรรค

นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะโฆษกพรรคฯ กล่าวถึงกรณีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญ ระบุถึงพรรคก้าวไกลร่วมคณะกรรมการชุดดังกล่าวด้วย โดยยอมรับว่า มีการติดต่อมายังพรรคก้าวไกลจริง แต่พรรคก้าวไกล ยังไม่ได้ให้คำตอบ หรือปฏิเสธ เนื่องจากจะนำเรื่องเข้าที่ประชุม สส.พรรควันนี้ (3 ต.ค.2566) ก่อน

นอกจากนี้ พรรคฯ ยังไม่ทราบแนวทางการทำงานของคณะกรรมการชุดนี้ที่ชัดเจน เพราะพรรคก้าวไกล ย้ำหลักการที่การจะแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องเป็นการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือสสร. ที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งถือเป็นข้อสรุปที่มีการศึกษากันมาหลายครั้งของทั้งกรรมาธิการวิสามัญของสภาผู้แทนราษฎร และมติของรัฐสภาที่มีการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

ดังนั้น พรรคก้าวไกล จึงต้องการคำยืนยันของรัฐบาลที่จะยังคงยึดมั่นในหลักการนี้ พรรคก้าวไกลถึงจะส่งตัวแทนไปร่วมเป็นกรรมการเพื่อร่วมกันให้ความเห็นและกำหนดกรอบการทำงานในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อยกร่างฉบับใหม่ และการจัดการออกเสียงประชามติ แต่หากยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน พรรคก้าวไกล ก็กังวลว่า คณะกรรมการศึกษาชุดนี้ จะเป็นเครื่องมือย้อนหลักการทำให้ไม่มีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หรือแก้ไขเป็นเพียงบางหมวด บางมาตรา และกระบวนการเลือกตั้ง สสร. อาจจะไม่ได้มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด และมาจากกระบวนการแต่งตั้ง ซึ่งอาจถูกผูกขาดครอบงำจากบางกลุ่มได้ในการแต่งตั้ง 

ส่วนหน้าที่การทำงานของคณะกรรมการดังกล่าวจะเป็นการยื้อเวลาแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อยกร่างใหม่หรือไม่ นายพริษฐ์ ย้ำว่า ระยะเวลาที่นายภูมิธรรมยืนยันมาตลอด ควรจะเร็วกว่านั้นได้ 3-4 เดือน ฝ่ายการเมืองเคยมีข้อสรุปร่วมกันแล้ว และคณะกรรมการชุดศึกษาดังกล่าวก็ไม่ได้มีความจำเป็นต้องแต่งตั้งขึ้นมาแล้ว เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีการตั้งคณะกรรมการศึกษามาแล้วหลายชุด และหลายครั้ง หรือหากเป็นกรอบเวลา 3-4 เดือน ตามที่นายภูมิธรรมยืนยันจริง ก็ขอให้ยึดมั่นในหลักการที่จะต้องมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่มาจาก สสร. ที่มาจากการเลือกตั้ง 

ส่วนกรณีนายปดิพัทธ์ สันติภาดา สส.พิษณุโลก พรรคก้าวไกล ที่ถูกขับออกจากการเป็นสมาชิก จนทำให้สัดส่วนประธานกรรมาธิการของพรรคก้าวไกล ลดลง 1 ที่นั่ง นายพริษฐ์ ระบุว่า นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส.บัญชีรายชื่อของพรรคก้าวไกล ได้ชี้แจงไปแล้วและขอให้เป็นหน้าที่ของนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่2 ที่เป็นผู้รับผิดชอบในการจัดสรรกรรมาธิการได้นัดพูดคุยกับตัวแทนพรรคการเมืองอีกครั้ง 

ส่วนกรณีที่คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร หรือ วิปรัฐบาล จะยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยมติของกรรมการบริหารพรรคก้าวไกล ในการขับนายปดิพัทธ์ พ้นจากการเป็นสมาชิกชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ว่า เป็นสิทธิของวิปรัฐบาลที่จะยื่น และพรรคก้าวไกล พร้อมรับผิดชอบต่อกฎหมายและน้อมรับทุกความคิดเห็นที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ต่อการตัดสินใจดังกล่าว แต่ย้ำว่า การตัดสินใจขอพรรคฯเป็นไปตามแถลงการณ์ก่อนหน้านี้ ที่พรรคก้าวไกล ต้องการเป็นฝ่ายค้าน และให้หัวหน้าพรรคฯ ทำหน้าที่ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร เพื่อกำกับการทำงานของฝ่ายค้าน รวมถึงการตัดสินใจของนายปดิพัทธ์เอง ที่ทำให้ต้องนายปดิพัทธ์ ถูกยุติการเป็นสมาชิกพรรคก้าวไกล

ยืนยันว่า พรรคก้าวไกล ได้ดำเนินการตามข้อกฎหมาย และดำเนินการตามรัฐธรรมนุญ รวมถึงข้อบังคับพรรคก้าวไกล และไม่ว่าจะมีการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ พรรคฯ ก็พร้อมชี้แจง พร้อมมั่นใจว่า การเดินหน้าทำหน้าที่ฝ่ายค้านเต็มที่ มีประสิทธิภาพ จะเป็นข้อพิสูจน์การตัดสินใจของพรรคว่า เป็นการตัดสินใจที่สามารถขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงประเทศได้แท้จริง