posttoday

เปิด 4 รายชื่อ ตัวเต็งนั่ง ผบ.ตร.คนใหม่ นายกฯ นัดเคาะ 27 ก.ย.นี้

23 กันยายน 2566

"นายกฯ เศรษฐา" นัดประชุม ก.ตร. เคาะ “ผบ.ตร.คนใหม่” 27 ก.ย.นี้ พร้อมขยายเวลาแต่งตั้งนายพลตำรวจ ตั้งแต่ระดับ รอง ผบ.ตร.-ผบก.ประจำปี 2566 ออกไปอีก 1 เดือน

วันนี้ (23 ก.ย.66) ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) นัดประชุม ก.ตร. ครั้งที่ 10/2566 ในวันพุธที่ 27 ก.ย. เวลา 13.30 น. ณ ห้องประชุมศรียานนท์ ชั้น 2 อาคาร 1 ตร. 

ทั้งนี้ มีวาระสำคัญ คือ พิจารณาคัดเลือกแต่งตั้งข้าราชการตำรวจให้ดำรงตำแหน่ง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) คนใหม่ และเรื่องที่ประธานแจ้งที่ประชุมทราบ, เรื่องรับรองรายงานการประชุม ก.ตร. เรื่องที่เสนอเพื่อทราบ เรื่องที่เสนอพิจารณาการขอขยายระยะเวลาการพิจารณาอุทธรณ์, ข้าราชการตำรวจอุทธรณ์คำสั่งลงโทษ, ข้าราชการตำรวจอุทธรณ์คำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน, ข้าราชการตำรวจร้องทุกข์ กรณีแต่งตั้งโยกย้ายไม่เป็นธรรม วาระประจำปี 2565, ข้าราชการตำรวจร้องทุกข์ กรณีไม่ได้รับการแต่งตั้งเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้น นอกวาระประจำปี ข้าราชการตำรวจอุทธรณ์คำวินิจฉัยของผู้บังคับบัญชาที่พิจารณาเรื่องร้องทุกข์, ข้าราชการตำรวจร้องทุกข์ขอความเป็นธรรม กรณีถูกลงโทษภาคทัณฑ์, ข้าราชการตำรวจร้องทุกข์ กรณีไม่ได้รับความเป็นธรรม จากการประเมินเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่ทำหน้าที่อาจารย์ (สบ4)

การเลื่อนเงินเดือน หรือให้ได้รับเงินตอบแทนพิเศษ ประจำปี 2566 ครั้งที่ 1 ครึ่งปีแรก (1 เม.ย. 66) แก่ข้าราชการตำรวจผู้รับเงินระดับ ส.6 ขึ้นไป, การกำหนดตำแหน่งข้าราชการตำรวจ ตามร่าง พ.ร.ฎ.แบ่งส่วนราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. … และ ร่างกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการ เป็นกองบังคับการ หรือ ส่วนราชการ หรือหน่วยงานอื่น หรือในระดับต่ำลงไปในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. … ที่ออกตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565, การกำหนดตำแหน่งข้าราชการตำรวจเพื่อรองรับการยุบเลิก บก.รฟ., ขอขยายระยะเวลาการคัดเลือกแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ และเรื่องอื่นๆ (ถ้ามี)  

อย่างไรก็ตามมีรายงานว่า การประชุม ก.ตร. ในครั้งนี้ จะมีการขอขยายระยะเวลาการพิจารณาแต่งตั้งนายพลระดับ รอง ผบ.ตร.-ผบก.ประจำปี 2566 ออกไปอีก 1 เดือน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับผู้ที่อยู่ในข่ายได้รับการคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร. คนที่ 14 ไล่เลียงตามลำดับอาวุโส พบว่ามี 4 คน ประกอบด้วย 

“บิ๊กรอย” พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รอง ผบ.ตร. มีอาวุโส ลำดับที่ 1 เป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 24 และ นักเรียนนายร้อยตำรวจ (นรต.) รุ่นที่ 40 เกษียณอายุราชการ ในปี 2567

ตามด้วย “บิ๊กโจ๊ก” พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. มีอาวุโสอยู่ในลำดับ 2 นักเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 31 และ จบปริญญาตรีโรงเรียนนายร้อยตำรวจ (นรต.) รุ่น 47 เกษียณอายุราชการ ปี 2574 ถือได้ว่าอายุน้อยที่สุดในบรรดาผู้เข้าชิงตำแหน่ง และเหลืออายุราชการมากที่สุด โดยจะเกษียณในปี 2574

ขณะที่ “บิ๊กต่าย” พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รอง ผบ.ตร. มีอาวุโสอยู่ในลำดับที่ 3 เป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 25 และปริญญาตรีจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ(นรต.) รุ่น 41 ครบวาระเกษียณอายุราชการ ในปี 2569

และ “บิ๊กต่อ” พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รอง ผบ.ตร. อาวุโสในลำดับ 4 จบระดับปริญญาตรี คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นสิงห์แดง รุ่นที่ 38 และปริญญาโท ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยศรีปทุม

สำหรับ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ เคยทำงานเป็นพนักงานในบริษัท น้ำมันคาลเท็กซ์ อยู่ได้ 7 ปี จึงลาออกมาสมัครรับราชการตำรวจ โดยเข้าอบรมหลัก สูตรการฝึกอบรม ผู้มีคุณวุฒิทางด้านนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ เพื่อบรรจุแต่งตั้งเป็นข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตร (กอต.) รุ่นที่ 4

ก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 30 ส.ค. 2566 ที่ผ่านมา พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ในฐานะ ผบ.ตร. ได้ส่งหนังสือถึง 4 รอง ผบ.ตร. ได้แก่ พล.ต.อ.รอย, พล.ต.อ.สุรเชษฐ์, พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ และ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ โดยระบุว่า เพื่อให้เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล โดยให้นายกฯ ท่านใหม่ ได้เป็นผู้พิจารณาคัดเลือกข้าราชการตำรวจที่จะดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร. ต่อไป

เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาของนายกรัฐมนตรี ในการคัดเลือกแต่งตั้งข้าราชการตำรวจที่จะดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร. จึงให้ท่านดำเนินการจัดทำผลการปฏิบัติงาน พร้อมทั้งสรุปสภาพปัญหาการปฏิบัติงาน หรือ สภาพปัญหาของสำนักงานตำรวจแห่งชาติในปัจจุบัน และแนวทางการแก้ปัญหาดังกล่าวในอนาคต หากได้รับการคัดเลือกแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร.โดยจัดทำเป็นเอกสารไม่เกิน 4 แผ่น (ขนาด A4) แล้วส่งไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ผ่าน สกพ.) ภายในวันที่ 1 ก.ย. 2566 

สำหรับการแต่งตั้ง ผบ.ตร. เมื่อ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ เกษียณอายุราชการในเดือน ก.ย.นี้ จะเป็นครั้งแรกที่ ผบ.ตร. ไม่มีอำนาจในการเสนอชื่อ ผบ.ตร.คนใหม่ แต่เป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรี ตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ 2565 

ทั้งนี้ ในการพิจารณแต่งตั้ง ผบ.ตร.คนใหม่ ก.ตร. จะเป็นไปตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 โดยมาตรา 77 ระบุว่า การแต่งตั้งข้าราชการตำรวจให้ดำรงตำแหน่ง ให้แต่งตั้งตามหลักเกณฑ์ต่อไปนี้

(1) ตำแหน่ง “ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ” จะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งจากข้าราชการตำรวจยศพลตำรวจเอก ซึ่งดำรงตำแหน่งจเรตำรวจแห่งชาติ หรือ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมาตรา 78 การคัดเลือกแต่งตั้งข้าราชการตำรวจให้ดำรงตำแหน่งตามมาตรา 77 (1)(2)(3)(4)(5)ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

การแต่งตั้งข้าราชการตำรวจให้ดำรงตำแหน่งตาม มาตรา 77 (1) ให้นายกรัฐมนตรีคัดเลือกรายชื่อพนักงานตำรวจผู้มีคุณสมบัติ ตามมาตรา 77(1) โดยคำนึงถึงอาวุโสและความรู้ความสามารถประกอบกัน โดยเฉพาะประสบการณ์ในงานสืบสวนสอบสวน หรือ งานป้องกันปราบปราม เสนอ ก.ตร.เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อน แล้วให้นายกรัฐมนตรีนำความกราบบังคมทูลพระกรุณาเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ต้องการให้การแต่งตั้ง ผบ.ตร. คำนึงถึงความอาวุโส และความรู้ความสามารถประกอบกัน 

ดังนั้น คณะกรรมการที่พิจารณาจะต้องนำอาวุโสขึ้นมาเป็นเกณฑ์หลักในการพิจารณาก่อน หลังจากนั้นถึงไปพิจารณาประสบการณ์ในงานสืบสวนสอบสวน หรือ งานป้องกันปราบปราม และในสายงานอื่นก็ต้องนำมาพิจารณาประกอบด้วย 

ก่อนหน้านี้ ตัวเต็งที่คาดว่าจะได้เป็น ผบ.ตร. คนที่ 14 คือ “บิ๊กต่อ” พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รอง ผบ.ตร. อาวุโส ในลำดับที่ 4 เมื่อการแต่งตั้งต้องคำนึงถึงเรื่องความอาวุโส ประสบการณ์ในการทำงาน โดยเฉพาะงานสืบสวนสอบสวน งานป้องกันปราบปราม ก็ไม่จำเป็นเสนอไปว่า “ผู้ที่มีอาวุโสสูงสุด” จะได้เป็น ผบ.ตร.คนใหม่ ขึ้นอยู่กับนายกฯเศรษฐา จะตัดสินใจ