posttoday

ไม่เห็นด้วย เศรษฐา เตรียมเชิญทักษิณ หลังพ้นโทษ เข้ามามีบทบาทในรัฐบาล

22 กันยายน 2566

สมชาย สว.ไม่เห็นด้วย เศรษฐา เตรียมตั้ง ทักษิณ หลังพ้นโทษให้มีบทบาทในรัฐบาล หวั่น กระทบความเชื่อมั่น แนะ อยู่เรือนจำให้ครบ1ปี ไล่บี้เปิดเผยอาการรักษาตัว ระบุ 25ก.ย.เชิญหน่วยงานเกี่ยวข้องแจง เสนอรัฐบาล นิรโทษกรรมคู่ขัดแย้งการเมือง ยกเว้นความผิดม.112

ที่รัฐสภา นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา(สว.) กล่าวถึงกรณีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง​ ให้สัมภาษณ์กับสื่อต่างประเทศ ถ้านายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯพ้นโทษ จะให้มีบทบาทในรัฐบาลชุดนี้ว่า ต้องดูในหลักนิติธรรมเป็นหลัก โดยเฉพาะในการควบคุมนักโทษ จะดำเนินการอย่างไร ให้เป็นกระบวนทางการกฎหมายมีความน่าเชื่อถือ แม้นายทักษิณ จะเคยเป็นอดีตนายกรัฐมนตรี มีคุณงามความดี แต่ก็มีคดีติดตัวถึง 3 คดี

เพื่อให้เกิดหลักนิติธรรม และ เกิดการสร้างความปรองดองในประเทศ ควรพิจารณาเรื่องนิติธรรมควบคู่ไปกับความเหมาะสม นายทักษิณ ควรเข้าสู่ระบบนิติธรรมอย่างตรงไปตรงมา รวมถึงเปิดเผยการรักษาตัวที่โรงพยาบาลพยาบาลตำรวจ ที่ยังไม่ทราบเรื่องว่า ทำการรักษาอย่างไร ในวันที่ 25 ก.ย. กรรมาธิการฯ ได้เชิญผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งปลัดกระทรวงยุติธรรม อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ผู้บัญชาการเรือนจำ รวมถึงผู้อำนวยการทัณฑสถาน ที่ดูแลอาการเจ็บป่วยของนายทักษิณ และเชิญผู้อำนวยการโรงพยาบาลตำรวจ มาให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าขั้นตอนการรักษา มีมาตรฐานอย่างไร แต่คงไม่ถึงขั้นก้าวล่วง ถามถึงอาการเจ็บป่วยของนายทักษิณ 

ขณะเดียวกันการที่นายเศรษฐา พูดถึงนายทักษิณ จะแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีนั้น จะต้องผ่านด่านที่1 ก่อน อยากให้นายทักษิณ เข้าสู่กระบวนการรับโทษ ส่วนเกณฑ์การขอรับโทษเพิ่มเติม คิดว่านายทักษิณได้มากพอสมควรแล้ว ในระยะเวลาที่เหลือนั้นควรดำเนินการให้เป็นแบบอย่าง นายทักษิณเอง เคยพูดเสมอว่า อยากเห็นประเทศไทยมีรัฐบุรุษในเรื่องคดีความแบบนี้ อีกทั้งอดีตผู้นำหลายประเทศ ที่มีคดีทุจริต ก็ต่างเข้าสู่กระบวนการด้วยกันทั้งสิ้น 

นายสมชายกล่าวว่า หลักนิติธรรมที่นายเศรษฐาพูด ประการแรกคือต้องทำให้ นายทักษิณอยู่ในความน่าเชื่อถือ ไม่ได้คืบเอาศอก ไม่ได้ศอกเอาวา ประการต่อมา ถ้านายทักษิณจะเป็นต้นแบบในการปรองดอง รัฐบาลน่าจะหยุดคดีความเรื่องของความขัดแย้งในอดีตหลังรัฐธรรมนูญปี 2540 ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรในปี 2547-2548 จนนำไปสู่การรัฐประหารในปี 2549 ในคดีการชุมนุมของกลุ่มนปก. กลุ่มนปช. ที่มีการบาดเจ็บล้มตาย รวมถึงคดีปิดสนามบิน คดีเผาศาลากลาง คดีอื่นๆถ้าเป็นเหตุเรื่องการเมือง ที่ไม่ทำให้เกิดการเสียชีวิต เพียงแค่มีความเสียหายด้านทรัพย์สิน สิ่งเหล่านี้น่าได้รับการเข้ามาอยู่ในคณะกรรมการปรองดอง ที่พิจารณาออก พรก. นิรโทษกรรม ให้กับกลุ่มต่างๆที่มีความขัดแย้งทางการเมือง เว้นแต่คดีมาตรา 112 ซึ่งบุคคลที่จะได้รับอภัยโทษ อาจต้องได้รับพระมหากรุณาธิคุณเอง และต้องสำนึกผิดเอง คิดว่าเป็นเรื่องที่นายกรัฐมนตรีควรเร่งดำเนินการ

ถ้าเป็นได้นายทักษิณอยู่ครบในเรือนจำ 1 ปี เรื่องของการปรองดอง อภัยซึ่งกันและกัน โดยให้ทุกฝ่ายยอมรับกับสังคม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มใดก็ตาม ยอมรับเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเปลี่ยนผ่าน รวมถึงการอภัยซึ่งกันและกัน ต้นคิดว่าถ้าทำพร้อมกันก็เสร็จ หากปล่อยนายทักษิณออกมาก่อน ภายใน 1 ปี ก็จะทำให้เกิดความสมานฉันท์ที่แท้จริง หากปล่อยนายทักษิณออกมาก่อนแล้วคนอื่นๆยังติดคดี คิดว่าสังคมอาจจะไม่สงบ อาจเกิดคลื่นใต้น้ำ ไปยังรัฐบาลเศรษฐาได้

ประเด็นต่อมาการที่นายกรัฐมนตรี แต่งตั้งนายทักษิณมาเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ส่วนตัวมองว่าไม่มีความจำเป็น เพราะมีอดีตนายกรัฐมนตรีหลายคน ควรพบและขอคำปรึกษาได้ เช่น นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายชวน หลีกภัย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายอานันท์ ปันยารชุน แม้กระทั่งนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แต่ให้อยู่นอกตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีในรัฐบาลนี้ดีกว่า เร็วเกินไปที่นายเศรษฐา จะมาตอบว่า จะให้นายทักษิณมาเป็นที่ปรึกษารัฐบาล เพราะเรื่องนี้จะกระทบความเชื่อมั่น กระทบเรื่องกระบวนการยุติธรรม ความศรัทธาต่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม เป็นไปได้ก็อย่าไปตั้งเลย ขอคำปรึกษาอย่างไม่เป็นทางการดีแล้ว