posttoday

'ศุภมาส อิศรภักดี'มอบนโยบายกระทรวงอว. เรียนดี มีความสุข มีรายได้

19 กันยายน 2566

“ศุภมาส อิศรภักดี ” มอบนโยบายขับเคลื่อนกระทรวง อว. ชู “เรียนดี มีความสุข มีรายได้  พร้อม “วิจัย-นวัตกรรมดี ตอบโจทย์ ตรงความต้องการ” เปิดมหาวิทยาลัยเป็นพื้นที่แห่งโอกาสกำชับทุกหน่วยงานใน อว. แต่งตั้งโยกย้าย ต้องโปร่งใสและเป็นธรรม


เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2566 น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)  มอบนโยบายการทำงานต่อผู้บริหารกระทรวงว่า จะมุ่งเน้นเรื่องการ“เรียนดี มีความสุข มีรายได้” ให้ยึดนักศึกษาเป็นศูนย์กลาง หัวใจสำคัญ คือ การลดภาระของนักศึกษาและผู้ปกครอง และการลดภาระของอาจารย์ผู้สอนและเมื่อจบแล้วมีอาชีพ มีรายได้ 

จัดให้มีระบบแนะแนวการเรียน (Coaching) และเป้าหมายชีวิต, จัดให้มีแพลตฟอร์มเรียนได้ทุกที่ทุกเวลา (Anywhere Anytime) เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และลดค่าใช้จ่าย ให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะ โดยเฉพาะหลักสูตรประกาศนียบัตรระยะสั้น (Non-Degree) รวมถึงการจัดทำระบบวัดผลทักษะตามมาตรฐานวิชาชีพ (Skill Certificate), เพิ่มความยืดหยุ่นในการลงทะเบียนเรียนตามความต้องการ สามารถลงทะเบียนโดยไม่จำกัดจำนวนหน่วยกิตในแต่ละภาคการศึกษา พร้อมสนับสนุนให้มีรายได้ระหว่างเรียน หรือ “ทำงานไปด้วยเรียนไปด้วย” 

ในส่วนการลดภาระอาจารย์ผู้สอน จะมีการปรับการเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการของอาจารย์ โดยเพิ่มน้ำหนักการประเมินเรื่องความสามารถและความสำเร็จของนักศึกษานอกเหนือจากความสามารถทางวิชาการ รวมถึงกำหนดกรอบระยะเวลาที่ชัดเจนในการประเมินการเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการในแต่ละขั้นตอน

นโยบายมุ่งเน้นในด้านการวิจัยและนวัตกรรม คือ “วิจัย-นวัตกรรมดี ตอบโจทย์ ตรงความต้องการ” และ "เน้นประเด็นสำคัญของประเทศ ได้แก่ Go Green, พอเพียง, ความยั่งยืน (Sustainabilty), ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality), พลังงานสะอาด, เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม, เศรษฐกิจชีวภาพ, เศรษฐกิจสร้างสรรค์ และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI)" โดยมีทั้งมิติที่ทำเพื่อความเป็นเลิศ และมิติเพื่อสร้างความมั่นคงของชีวิตและเศรษฐกิจ 

ศุภมาส มอบนโยบายกระทรวงอว.

ส่วนการวิจัยเพื่อความเป็นเลิศจะสนับสนุนให้ดำเนินการตามภารกิจของหน่วยงานต่อไปเพื่อพัฒนาองค์ความรู้แก่ประเทศในระยะยาว ซึ่งประเด็นที่ อว. อยากจะมุ่งเน้น คือ การวิจัยและนวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการแก้ไขปัญหาสำคัญของประเทศ ซึ่งจะต้องพึ่งพาข้อมูล ความรู้ และวิทยาการด้วยอย่างมาก โดย อว. จะเน้นหลักการสำคัญ คือ "เอกชนนำ รัฐสนับสนุน" โดยให้เอกชนผู้ที่จะใช้ประโยชน์เป็นผู้กำหนดทิศทางว่าควรจะทำเรื่องอะไร อย่างไร แล้วสถาบันวิจัย และมหาวิทยาลัยต่างๆ ของ อว. จะเข้าไปดำเนินการและสนับสนุนอย่างเต็มกำลัง ใช้ความต้องการเป็นตัวนำ (market-driven) พร้อมปลดล็อกระเบียบ ข้อจำกัดต่างๆ

นอกจากนี้ อว. จะมุ่งส่งเสริมการสร้าง และสนับสนุนผู้ประกอบการนวัตกรรม เพิ่มจำนวนผู้ประกอบการนวัตกรรมทุกระดับ ตั้งแต่ระดับเยาวชน สตาร์ตอัป SMEs และบริษัทเอกชนขนาดใหญ่

นอกจากนี้ ตนยังได้มีประเด็นมุ่งเน้น 8 ข้อให้ผู้บริหาร อว. เร่งนำไปดำเนินการ ได้แก่ 
1. ให้ปฎิบัติตามที่นายกรัฐมนตรีแถลงต่อรัฐสภา และรัฐมนตรีมอบนโยบายให้สำเร็จโดยเร็ว 
2. ให้มหาวิทยาลัยและหน่วยงาน อว. จัดอบรมหลักสูตรระยะสั้น พัฒนาทักษะ พร้อม Skill Certificate ในสาขาที่ประเทศต้องการ โดยการเก็บสะสมหน่วยกิตในระบบธนาคารหน่วยกิต 
3. ให้มหาวิทยาลัยและหน่วยงาน อว. จับมือและมีส่วนร่วมกับพื้นที่และชุมชน เพื่อนำองค์ความรู้ไปพัฒนาชุมชนในพื้นที่ที่ตั้งของมหาวิทยาลัยนั้น ขับเคลื่อนงานวิจัยนำไปสู่การแก้ไขปัญหาปากท้องและเศรษฐกิจได้ 
4. ทุกหน่วยงานต้องไม่มีปัญหาทุจริต คอร์รัปชัน การแต่งตั้ง-สรรหาต้องโปร่งใส และเป็นธรรม 
5. การเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการ ให้เอาตัวชี้วัดด้านความสามารถและความสำเร็จของนักศึกษาเพิ่มเติมจากความสามารถทางวิชาการ  
6. ให้ขับเคลื่อนนวัตกรรมไทยที่ใช้ได้จริง เกิดผลจริง เช่น  อว. Fair ตลาดนัดนวัตกรรมไทย ที่ทำให้ทุกคนอยากมาและเป็นพื้นที่ให้นักนวัตกร นักประดิษฐ์มาจัดแสดงผลงาน จำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์ เพื่อสร้างชื่อเสียงทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ
7. การเดินทางเพื่อไปปฏิบัติภารกิจทั้งในและต่างประเทศให้คำนึงถึงประสิทธิภาพและผลประโยชน์ที่ประเทศจะได้รับ และต้องดำเนินการให้เหมาะสม ประหยัด คุ้มค่ากับงบประมาณ
และ 8. ให้ดำเนินการสรรหาผู้มีคุณสมบัติเหมาะสมเพื่อดำรงตำแหน่งที่ว่างในทุกหน่วยงานให้ครบถ้วนโดยเร็ว

ขณะเดียวกัน ประเด็นสำคัญเร่งด่วนที่ อว. ต้องทำทันที คือ การนำนวัตกรรมมาแก้ไขปัญหาของพี่น้องประชาชน อาทิ การจัดการน้ำชุมชน การจัดการภัยแล้ง การจัดการปัญหาหมอกควัน PM 2.5 Go Green และ นวัตกรรมแก้จน เป็นต้น รวมถึงการพัฒนาเชิงพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นการลดความเหลื่อมล้ำ การขับเคลื่อนระเบียงเศรษฐกิจภูมิภาค และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy)

ศาสตราจารย์นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล  

ด้าน ศาสตราจารย์นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวง อว. กล่าวว่า ตามที่รัฐมนตรีได้มอบนโยบาย ทางกระทรวงอว. ได้มอบให้แต่ละหน่วยงาน สนับสนุนนโยบายอย่างเต็มที่ ที่สำคัญคือจะต้องขับเคลื่อนทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว โดยที่ตอนนี้ทุกหน่วยงาน จะนำเสนอกิจกรรม และโครงการที่สามารถจะดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว ให้เสร็จได้ภายใน 1 เดือน หรือ 3 เดือน ซึ่งเป็นโครงงานหลัก ที่สำคัญจะต้องสอดคล้องการขับเคลื่อนงานวิจัยนวัตกรรมสามารถใช้งานได้จริง อีกทั้งเป็นประโยชน์กับประชาชนอย่างแท้จริง และดูแลสุขภาพอนามัยความเป็นอยู่  ความสุขของทั้งนักศึกษา และอาจารย์ผู้สอน ซึ่งในส่วนนี้จะรีบดำเนินการโดยทันที