posttoday

'ชูศักดิ์'ทำประชามติ-ร่างรธน.ใหม่ใช้เวลาไม่น้อยกว่า3ปี

31 สิงหาคม 2566

"ชูศักดิ์ ศิรินิล"รักษาหัวหน้าพรรคเพื่อไทย แจงขั้นตอนประชามติ-ยกร่าง รธน.ใหม่ คาดใช้ระยะเวลารวมไม่น้อยกว่า 3 ปี - มั่นใจไม่กระทบหมวด 1-2

นายชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะรักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และทีมกฎหมายของพรรคฯ กล่าวถึงขั้นตอนการจัดการออกเสียงประชามติ เพื่อสอบถามความเห็นประชาชนในการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร.ว่า ในขั้นตอนการจัดการออกเสียงประชามตินั้น จะต้องมีคำถาม ซึ่งพรรคเพื่อไทย จะเสนอให้ถามประชาชนว่า เห็นควรให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดย ส.ส.ร. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนหรือไม่ และให้คณะรัฐมนตรี เป็นผู้พิจารณาปรับแก้คำถาม และเมื่อคณะรัฐมนตรี เห็นชอบให้มีการจัดการออกเสียงประชามติแล้ว กกต.จะต้องดำเนินการจัดการออกเสียงประชามติ ในระยะเวลาไม่น้อยกว่า 90 วัน แต่จะต้องไม่เกิน 120 วัน
 

ทั้งนี้ หากการออกเสียงประชามติ ประชาชนมีมติเสียงข้างมากให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้ว รัฐสภา ก็จะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ในมาตรา 256 โดยเพิ่มหมวดว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดย ส.ส.ร. ก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง ส.ส.ร. ขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และคาดว่า กระบวนการทั้งหมด น่าจะต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 3 ปี และเมื่อมีผลประชามติจากประชาชนมาแล้ว ก็มั่นใจว่า รัฐสภา จะสนับสนุน 
 

นายชูศักดิ์ ยังชี้แจงกรณีที่พรรคเพื่อไทย ไม่สนับสนุนพรรคก้าวไกลให้มีการเลื่อนวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้สภาผู้แทนราษฎร ได้พิจารณา และมีมติให้คณะรัฐมนตรี จัดการออกเสียงประชามติจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่า แม้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร จะมีมติเห็นชอบแล้ว ก็ยังจะต้องนำไปขอความเห็นชอบจากวุฒิสภาอีก เพราะพระราชบัญญัติว่าด้วยการจัดการออกเสียงประชามติ ระบุว่า จะต้องเป็นมติของรัฐสภา ที่จะเสนอให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการ ดังนั้น หากให้คณะรัฐมนตรีมีมติในการประชุมคณะรัฐมนตรีทันที ก็จะเป็นการย่อระยเวลาได้ 

นายชูศักดิ์ ยังกล่าวถึงกรณีที่มีข้อห่วงกังวลของ สว.ในการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่อาจไปกระทบต่อหมวด 1 รูปแบบรัฐ และหมวด 2 สถาบันพระมหากษัตริย์ จึงจำเป็นต้องกำหนดเงื่อนไขการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไว้ในการออกเสียงประชามติด้วยเลยหรือไม่ว่า ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 255 บัญญัติไว้แลวว่า การปรับแก้รัฐธรรมนูญห้ามกระทบต่อรูปแบบการปกครอง และรูปแบบของรัฐ พร้อมเชื่อมั่นว่า โดยทั่วไปแล้วคงจะไม่มีใครประสงค์ที่จะแก้ไขหมวด 1 และหมวด 2 ของรัฐธรรมนูญ