posttoday

นายกฯปลื้มความร่วมมือ IMT-GT ปั้นมูลค่าการค้ากว่า 6 แสนล้านดอลลาร์ในปี 64

14 สิงหาคม 2566

นายกฯ ปลื้มความร่วมมือ อินโด-มาเลย์-ไทย (IMT-GT) ปี 64 มูลค่าการค้ารวม 618,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ พร้อมเดินหน้าร่วมมือพัฒนาทุนมนุษย์และการท่องเที่ยว

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยินดีต่อผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมของแผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle: IMT – GT)

โดยกว่า 30 ปีที่ผ่านมา อนุภูมิภาคมีพัฒนาการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมาก ช่วยลดช่องว่างการพัฒนาภายในประเทศและอนุภูมิภาค ส่งเสริมบทบาทของประชาชนควบคู่ไปกับการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจทั้ง 6 สาขา คือ 1) สาขาการค้าและการลงทุน 2) สาขาโครงสร้างพื้นฐานและการคมนาคม 3) สาขาการท่องเที่ยว 4) สาขาการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ 5) สาขาการเกษตร อุตสาหกรรมการเกษตรและสิ่งแวดล้อม และ 6) สาขาผลิตภัณฑ์และบริการฮาลาล 

นอกจากนี้ ยังได้ขยายพื้นที่ความร่วมมือครอบคลุม 35 รัฐ และจังหวัดของทั้ง 3 ประเทศ โดยมีมูลค่า GDP ภายในอนุภูมิภาคเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จาก 12,790 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี พ.ศ. 2527 เป็น 405,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี พ.ศ. 2564 และมีมูลค่าการค้าระหว่างกันเพิ่มขึ้นจากในปี พ.ศ. 2527 ที่ 97,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็น 618,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี พ.ศ. 2564

นางสาวรัชดา กล่าวต่อว่า ด้านโครงการความเชื่อมโยงทางกายภาพตามแนวระเบียงเศรษฐกิจทั้ง 6 สาขา มีกว่า 36 โครงการก็มีความก้าวหน้าอย่างมาก คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 57,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยโครงการดังกล่าวมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนการเคลื่อนย้ายข้ามพรมแดนอย่างไร้รอยต่อของทั้งสินค้า บริการ และคน อาทิ โครงการรถไฟเชื่อมหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์-กัวลาลัมเปอร์ โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลก แห่งที่ 2 (สุไหงโก-ลก-รันเตาปันยัง) โครงการทางด่วนสุมาตรา และการฟื้นฟูการเชื่อมโยงทางอากาศภายหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19

อย่างไรก็ตาม ภายใต้แผนการดำเนินงานระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2565-2569) สาขาความร่วมมือต่าง ๆ มีความก้าวหน้าอย่างมาก อาทิ โครงการเพื่อพัฒนาเกี่ยวกับความมั่นคงทางอาหาร ความมั่นคงทางพลังงาน การเสริมสร้างการเชื่อมโยง และการฟื้นฟูการท่องเที่ยว

ส่วนทิศทางการดำเนินงานในอนาคตนั้น มุ่งเน้นใน 6 ประเด็น เช่น การเพิ่มขีดความสามารถของทุนมนุษย์ด้านเทคโนโลยีดิจิทัล การพัฒนาศักยภาพการท่องเที่ยว ภายในช่วงปีแห่งการท่องเที่ยว IMT-GT และการเร่งการลงนามกรอบความร่วมมือด้านศุลกากร การตรวจคนเข้าเมือง และตรวจโรคพืชและสัตว์ ระหว่างรัฐบาลอินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย เป็นต้น

นางสาวรัชดายังกล่าวอีกว่า นายกรัฐมนตรียินดีที่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้ผลักดันความร่วมมืออินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย จนเกิดความสำเร็จที่จับต้องได้ เป็นประโยชน์ต่อประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ และเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ

ทั้งนี้ กว่า 30 ปีนับตั้งแต่ก่อตั้ง IMT-GT ตั้งแต่ปี 2536 ทั้งสามประเทศได้ร่วมกันสร้างความก้าวหน้าที่สำคัญในการพัฒนาการเติบโตทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคและภูมิภาค มีวิสัยทัศน์และเป้าหมายร่วมกัน เพื่อทำให้อนุภูมิภาคนี้มีการบูรณาการ มีนวัตกรรม ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และยั่งยืน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เกิดการเชื่อมโยงแบบไร้รอยต่อ” กล่าว