posttoday

เรืองไกร จี้ ป.ป.ช. ตรวจสอบ ส.ส.และสว. โหวต พิธา เป็นนายกฯ ขู่ อาจมีความผิด

12 กรกฎาคม 2566

เรืองไกร ส่งหนังสือถึง ป.ป.ช. ตั้งเรื่องสอบ ส.ส. และ ส.ว. เตรียมโหวตนายกฯ ยกคำเตือน เสรี สุวรรณภานนท์ สว. บอกสมาชิก ระวังการโหวต บุคคลมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 159 ชี้ อาจเข้าข่ายฝ่าฝืน รธน. ม. 234 วรรคหนึ่ง1 หรือไม่

วันที่ 12 ก.ค. นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ เปิดเผยว่า ได้ส่งหนังสือทางไปรษณีย์ EMS ถึง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) เพื่อตั้งเรื่อง ตรวจสอบสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภาว่า จะเข้าข่ายมีพฤติการณ์จงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 234 (1) หรือไม่ 

นายเรืองไกร กล่าวว่า กรณีดังกล่าวมาจากการที่ กกต. มีมติให้ไต่สวนความผิดตามมาตรา 151 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 และต่อมามีสมาชิกวุฒิสภาบางคน ออกมาเตือนเรื่องการโหวตนายกรัฐมนตรีที่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) อาจจะกระทำมิได้ เพราะจะขัดต่อมาตรา 159 ซึ่งกรณีดังกล่าวเป็นเหตุให้ต้องร้องไปยัง ป.ป.ช. เพื่อตั้งเรื่องตรวจสอบต่อไป ดังนี้

 ข้อ 1. การที่นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา กล่าวไว้ส่วนหนึ่งว่า

“... ดังนั้นการทำหน้าที่ของส.ส.และส.ว.จะบัญญัติในรัฐธรรมนูญมาตราร 272 และส.ว.และส.ส.จะเห็นชอบบุคคลที่จะเป็นนายกฯตามมาตรา 159 ตรงนี้ถือว่ามีความสำคัญ ดังนั้นส.ส.และส.ว.จะต้องเลือกคนที่ไม่มีคุณสมบัติต้องห้ามคือการถือหุ้นสื่อไอทีวี ดังนั้นการทำหน้าที่ ไม่ต้องรอศาลรัฐธรรมนูญ แต่เป็นคุณสมบัติที่มีความผิดในตัวของมันเอง ถ้าถือหุ้นสื่อก็ขัดคุณสมบัติอยู่แล้ว ส่วนเรื่องส่งศาลรัฐธรรมนูญเพื่อหาข้อยุติที่ชัดเจน การถือหุ้นเป็นเหตุและขัดรัฐธรรมนูญ แต่ความขัดหรือไม่ขัดเกิดขึ้นแล้ว เพราะส.ส.และส.ว.ต้องทำตามรัฐธรรมนูญมาตรา 159”

ข้อ 2. การที่นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา กล่าวไว้ส่วนหนึ่งว่า  

“... ถ้าหากกกต.มีมติว่า ขาดคุณสมบัติส.ส. และรู้อยู่แล้วว่าไม่มีสิทธิรับสมัครรับเลือกตั้งอันเป็นความผิดตาม ม. 151 ด้วย” 

ข้อ 3. หาก ส.ส.และส.ว. ไม่ทำตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 159 การกระทำนั้น ก็อาจมีผลเป็นการขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ตามความในมาตรา 5 วรรคหนึ่ง ตามมาได้ ซึ่งผลแห่งการกระทำนั้น อาจเข้าข่ายฐานเป็น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ผู้ใดมีพฤติการณ์จงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ หรือฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตามความในรัฐธรรมนูญ มาตรา 234 วรรคหนึ่ง (1) ตามมาอีกด้วย  

ข้อ 4. เนื่องจากรัฐธรรมนูญ มาตรา 159 วรรคสาม ประกอบมาตรา 272 วรรคหนึ่ง บัญญัติบังคับไว้แล้วว่า มติของรัฐสภาที่เห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลใดให้เป็นนายกรัฐมนตรี ต้องกระทำโดยการลงคะแนนโดยเปิดเผย และมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ ของรัฐสภา

ข้อ 5. ดังนั้น การที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะสมาชิกรัฐสภา ผู้ใดจะกระทำการให้ความเห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลใดให้เป็นนายกรัฐมนตรี โดยรู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่า บุคคลมีจะให้ความเห็นชอบนั้น เป็นบุคคลซึ่งมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 160 ทั้งนี้ ตามมติ กกต. ที่ให้ดำเนินการตามความในมาตรา 151 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะสมาชิกรัฐสภา ผู้นั้น ย่อมอาจเข้าข่ายมีการกระทำอันฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ

ข้อ 6. กรณี จึงมีเหตุอันควรขอให้ ป.ป.ช. ทำการตั้งเรื่องเพื่อตรวจสอบผลแห่งการกระทำที่จะเกิดขึ้นตามมาดังกล่าวข้างต้นว่า มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภาว่า จะเข้าข่ายมีพฤติการณ์จงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 234 (1) หรือไม่