posttoday

'วันนอร์'ปัดตอบชงชื่อพิธาเป็นนายกฯรอบ2ขอดูผลโหวตครั้งแรก

11 กรกฎาคม 2566

'วันนอร์'ประธานรัฐสภา เผยวันโหวตนายกรัฐมนตรี 13ก.ค.66 เปิดโอกาสส.ส.-ส.ว.อภิปราย 6ชม.ก่อนลงมติเลือก5โมงเย็น

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภา กล่าวภายหลังการประชุมร่วมกันกับตัวแทน คณะกรรมาธิการสามัญกิจการวุฒิสภา หรือ วิปวุฒิสภา และตัวแทนจากพรรคการเมือง เพื่อเตรียมความพร้อม และทำความเข้าใจ ในการประชุมร่วมรัฐสภา ในวันที่ 13 กรกฎาคมนี้ เพื่อลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีว่า ที่ประชุมฯ มีความเห็นร่วมกัน จะทำให้การประชุมดังกล่าว เป็นไปด้วยความเรียบร้อย และมีประสิทธิภาพ และคาดว่า น่าจะมีการลงมติเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีได้ ในช่วงเวลาประมาณ 17.00 น. ซึ่งก่อนการจะมีการลงมตินั้น จะมีการเปิดโอกาสให้ ส.ส. และ ส.ว.อภิปรายก่อน โดยแบ่งเป็นเวลาของ วุฒิสภา 2 ชั่วโมง และ ส.ส.ทุกพรรครวมกัน 4 ชั่วโมง โดยไม่กำหนดเวลาของ ส.ส.ผู้ที่จะอภิปรายแต่ละคน และหากมีการพาดพิง ก็สามารถชี้แจงได้ในกำหนดเวลาที่เหมาะสม 
 

ส่วนการเปิดโอกาสให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะผู้ที่ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล สนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรี แสดงวิสัยทัศน์ก่อนการลงมติหรือไม่นั้น นายวันมูหะมัดนอร์ ชี้แจงว่า ตามขั้นตอนจะมีการเสนอชื่อบุคคล ที่มีคุณสมบัติตามที่รัฐธรรมนูญ และ กกต.กำหนด และพรรคการเมืองสนับสนุนเป็นนายกรัฐมนตรีต่อที่ประชุมรัฐสภาก่อน จากนั้นจะมีการอภิปรายโดย ส.ส. และ ส.ว. ซึ่งก่อนที่จะมีการลงมติ ก็สามารถอภิปรายถึงความเหมาะสม คุณสมบัติ และเรื่องต่าง ๆ ได้ เมื่อการอภิปรายเสร็จสิ้นแล้วก่อนมีการลงมติ หากมี ส.ส. หรือ ส.ว.เสนอให้ผู้ได้รับการเสนอชื่อแสดงวิสัยทัศน์ ก็จะต้องขอมติจากที่ประชุมก่อน เนื่องจาก ข้อบังคับการประชุมไม่ได้กำหนดขั้นตอนนี้ไว้
 

นายวันมูหะมัดนอร์ ยังปฏิเสธที่ตะกล่าวถึงกรณีที่หากรัฐสภา ไม่สามารถลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีได้ในครั้งแรก ในการประชุมเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งถัดไปจะสามารถเสนอชื่อนายพิธาได้อีกหรือไม่ เนื่องจาก ยังไม่สามารถทราบได้แน่ชัดว่า การลงมติครั้งแรกผลจะเป็นอย่างไร ซึ่งหากไม่ผ่านก็จะต้องมาพิจารณาอีกครั้ง โดยยึดรัฐธรรมนูญ ข้อบังคับการประชุม และคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ความเห็นของผู้ตรวจการแผ่นดินในอดีต และหน่วยงานที่เกี่ยวมาพิจารณาว่าจะ ดำเนินการต่อไปอย่างไร จึงขอให้การประชุมฯ ครั้งแรกผ่านพ้นไปก่อน หากยังไม่ได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ รัฐสภา ก็จะต้องดำเนินการหาตัวบุคคลมาเป็นนายกรัฐมนตรีให้ได้ เพราะเป็นหน้าที่ของรัฐสภา 

นายวันมูหะมัดนอร์ ยังยืนยันด้วยว่า ไม่รู้สึกกังวลต่อการอภิปรายบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีของที่ประชุมรัฐสภา เนื่องจาก มีข้อบังคับการประชุมกำกับไว้แล้ว จึงไม่น่าจะมีความวุ่นวายใด ๆ เช่นเดียวกับ การมีมวลชนมาติดตามการประชุมในวันดังกล่าว ซึ่งมีมาตรการในการดูแลรักษาความปลอดภัยของ ส.ส. และ ส.ว. รวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐสภา ที่มาปฏิบัติหน้าที่ และในวันนี้ (11 ก.ค.) ตนได้นัดประชุมร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อกำหนดแนวทางการปฏิบัติหลังจะมีการประกาศสถานการณ์การชุมนุมสาธารณะ ให้ผู้ที่จะมาชุมนุมต้องปฏิบัติตามกติกา และกฎหมาย ซึ่งเจ้าหน้าที่จะช่วยอำนวยความสะดวก และดูแลความปลอดภัยให้ รวมถึงจะมีการถ่ายทอดระบบภาพ และเสียงการประชุมไปยังสถานที่ที่กรุงเทพมหานคร จะจัดไว้รองรับให้ โดยหวังว่า การประชุมในวันที่ 13 กรกฎาคมนี้ เป็นไปด้วยความเรียบร้อย และได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ รวมถึงยังหวังว่า ทุกพรรคการเมือง ที่จะนำมวลชนมาส่วนหนึ่ง ไปพูดคุยกับมวลชนให้เข้าใจตรงกัน และเชื่อในเจตนาดีของประชาชน ที่ต้องการเห็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ และเห็นการเปลี่ยนแปลงของบ้านเมือง พร้อมเชื่อว่า หากเกิดเหตุความวุ่นวายทำให้การประชุมไม่เรียบร้อย ก็จะทำให้การได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ล่าช้า และกระทบต่อความเชื่อถือของประเทศ กระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศด้วย จึงขอให้มวลชนคิดให้หนัก 

นายวันมูหะมัดนอร์ ยังกล่าวถึงกรณีที่มีสมาชิกวุฒิสภา เสนอให้มีการเลื่อนการประชุมรัฐสภา เพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีออกไปก่อนว่า ยังไม่สามารถให้คำตอบได้ เพราะจะต้องรอดูในวันประชุมจริงก่อนว่าจะมีการเสนอหรือไม่