posttoday

อัยการสูงสุดแจงไม่ได้ชักช้าปมพิธาถูกร้องล้มล้างการปกครอง

27 มิถุนายน 2566

อัยการสูงสุดแจงอยู่ระหว่างรอข้อมูลหน่วยงานเกี่ยวข้องประกอบการพิจารณาคำร้อง"พิธา"เสนอเเก้ ม.112ใช้หาเสียงเลือกตั้งขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่กางข้อกฎหมายเขียนชัดหากอัยการสูงสุดไม่มีคำสั่งภายใน 15 วัน สามารถร้องศาลรธน.ได้

เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติให้สอบถามอัยการสูงสุดว่ามีคำสั่ง รับหรือไม่รับดำเนินการตามที่นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร อดีตทนายความพุทธะอิสระ ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ว่าการกระทำของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ผู้ถูกร้องที่ 1 และพรรคก้าวไกล ผู้ถูกร้องที่ 2 ที่เสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา เพื่อยกเลิกมาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง และยังคงดำเนินการต่อเนื่องในการใช้สิทธิและเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง หรือไม่นั้น

นายโกศลวัฒน์ กล่าวว่า นายธีรยุทธได้เดินทางมายื่นคำร้องดังกล่าวผ่านสำนักงานอัยการสูงสุดจริง ซึ่งทางอัยการสูงสุดก็ได้พิจารณาคำร้องเเละมีการ ตั้งคณะทำงานขึ้นพิจารณาประกอบด้วย นายอุทัย อาทิเวท รองอัยการสูงสุด, ผู้ตรวจการอัยการ, อธิบดีอัยการฝ่ายการสอบสวน,  และอัยการฝ่ายการสอบสวน เป็นเลขาคณะทำงาน ได้เชิญผู้ร้องมาให้ถ้อยคำประกอบคำร้องเพื่อความครบถ้วนสมบูรณ์ และประสานหาพยานหลักฐานเพิ่มเติมในเรื่องที่มีการร้องเรียน ไปยังหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง มากกว่า 2 หน่วยงาน เพื่อขอเอกสารที่เกี่ยวข้องมาตรวจสอบตามคำร้อง เพื่อประกอบการพิจารณา เเต่หน่วยงานที่ทางอัยการสูงสุดประสานไปยังไม่ส่งเอกสารข้อมูลกลับมา ประกอบการพิจารณา 

สำหรับการใช้สิทธิต่อศาลรัฐธรรมนูญ กรณีการร้องขอให้เลิกการทำอันเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีประมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ประกอบ พรป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561มาตรา 7(3) เกี่ยวกับหลักเกณฑ์เเละวิธีการ บัญญัติไว้ว่า
   
1.ผู้ใดทราบว่ามีการกระทำอันเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขดังกล่าว มีสิทธิที่จะยื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุดเพื่อร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าวได้ 
   
2.หากอัยการสูงสุดมีคำสั่งไม่รับดำเนินการตามที่ร้องขอหรือไม่ดำเนินการภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำร้อง ผู้ร้องจะยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญก็ได้ 

ซึ่งจะเห็นได้ว่ากรณีดังกล่าวมีข่าวว่าทางผู้ร้องไปยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรงเเล้ว ซึ่งก็เป็นไปตามบทบัญญัติที่กฎหมายกำหนดไว้ ส่วนทางอัยการสูงสุดพอได้รับคำร้องมาก็ดำเนินการควบคู่ไปด้วยเพียงเเต่เราต้องรอข้อมูลประกอบคำร้องไม่ใช่รับคำร้องอะไรมาก็ส่งศาลรัฐธรรมนูญ  อัยการเราต้องพิจารณา คำร้องและข้อเท็จจริงตรวจสอบเอกสารและเรื่องให้ถูกต้องเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป ซึ่งกรณีเช่นนี้ที่ผ่านมาศาลรัฐธรรมนูญก็มีหนังสือขอทราบข้อมูลมาเป็นปกติอยู่แล้ว