posttoday

นิพนธ์ เล็ง ดัน ทุเรียน เป็นผลไม้เชิงพาณิชย์ใต้ ส่งออกเทียบยางพารา

18 มิถุนายน 2566

นิพนธ์ บุญญามณี เตรียมดัน สงขลา เป็นเมืองทุเรียน หนุน เป็นผลไม้เชิงพาณิชย์ของภาคใต้ ส่งออกหลายแสนล้านเทียบเท่ายางพารา


ดร.ถาวร เรืองวรุณวัฒนา ประธานกรรมการโรงงานถาวรอุตสาหกรรมยางพารา 1982 จำกัด ในฐานะประธานกลุ่มทุเรียนแปลงใหญ่ สวนสี่พันไร่ บ้านทับโกบ อ.สะเดา จ.สงขลา พร้อมด้วย นายนิพนธ์ บุญญามณี อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายวุฒิศักดิ์ เพชรมีศรี เกษตรจังหวัดสงขลา และนายธนากร กิจจารักษ์ นักวิชาการเกษตร ตัวแทนบริษัทยารา (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมงานฟิลด์เดย์ฝึกอบรมถ่ายทอดความรู้ด้านการปลูกทุเรียนสู่เกษตรกรชาวสวนทุเรียน ซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ ในอำเภอสะเดาและอำเภอใกล้เคียง เช่น สะบ้าย้อย เทพา อำเภอนาทวี อำเภอรัตภูมิ โดยมีทีมนักวิชาการและเกษตรจังหวัดสนับสนุนด้านวิชาการ โดยเชิญเกษตรกรผู้ปลูกสวนทุเรียนแปลงใหญ่มาเข้ารับการฝึกอบรมจำนวนกว่า 300 ราย  แยกฐานปฏิบัติการเป็น 4 ฐาน เช่นเทคนิคการใส่ปุ๋ย การลดต้นทุนการปลูกทุเรียน การวิเคราะห์ความเป็นกรดเป็นด่างของดินและการป้องกันแมลงศัตรูพืช  ซึ่งดร.ถาวร เรืองวรุณวัฒนา สนับสนุนเปิดสวนทุเรียนขนาดใหญ่ บริเวณบ้านทับโกบ หมู่ที่ 4 อำเภอสะเดา เป็นสถานที่ในการถ่ายทอดเทคโนโลยี โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

   

นายนิพนธ์ฯ ในฐานะผู้ให้ความสนใจเรื่องทุเรียน ได้กล่าวว่า วันนี้ได้มาร่วมศึกษาการปลุกทุเรียน ด้วยเห็นว่าในอนาคตทุเรียนสามารถสร้างรายได้สร้างมูลค่าให้กับประเทศไทย ให้กับเกษตรกร ภาคใต้มีพื้นที่ที่เหมาะสมเป็นแหล่งปลูกทุเรียน “เป็นผลไม้ในเชิงพาณิชย์ มีมูลค่าการส่งออกนับแสนล้านใกล้เคียงกับยางพารา นี่คือสิ่งที่ต้องส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาปลูกทุเรียน ให้มีความรู้ในการจัดการขั้นพื้นฐาน มีความรู้ดูแลต้นทุเรียนและการบริหารเทคนิคการจัดการมีมาตรฐาน เป็นสิ่งที่ผมต้องการมาเรียนรู้ซึ่งในอนาคตอาจจะสนับสนุนให้ลูกหลานมาทำสวนทุเรียนเพื่อการส่งออก โดยเตรียมพื้นที่ไว้บ้างแล้ว”
 

 

ด้าน นายวุฒิศักดิ์ เพชรมีศรี เกษตรจังหวัดสงขลา เปิดเผยว่าในจังหวัดสงขลา มีการปลูกทุเรียนเชิงพาณิชย์จำนวน 16,000 ไร่ พื้นที่หลักคืออำเภอสะเดา อำเภอสะบ้าย้อย อำเภอนาทวี อำเภอรัตภูมิ และอำเภอเทพา แนวทางของสำนักงานเกษตรจังหวัด เน้นการทำให้ได้มาตรฐานของเกษตร มีแปรงที่ได้มาตรฐาน GAP ประมาณ 700 -800 แปลง เป็นเรื่องที่เร่งสร้างมาตรฐาน และส่งเสริมการทำเกษตรกรรม

   

สำหรับในแนวทางของปีหน้าเราจะขับเคลื่อน 2 แนวทาง ในเรื่องของมาตรฐานคุณภาพ GAP  และส่งเสริมในระบบสวนทุเรียนแปลงใหญ่ และการปั้นสมาคมสวนทุเรียนในจังหวัดสงขลา ซึ่งในอนาคตจะขับเคลื่อนสงขลาเป็นเมืองทุเรียน โดยร่วมกับเอกชน เกษตรกรในพื้นที่

   

ด้านนายธนากร จิตจารักษ์ นักวิชาการเกษตรบริษัทยารา (ประเทศไทย) จำกัด บอกว่าวันนี้ทางบริษัทได้จัดกิจกรรมถ่ายทอดความรู้เทคโนโลยีด้านเกษตรกรรม การปลูกทุเรียนการดูแลสวนและการวิเคราะห์ดินให้กับเกษตรกร กลุ่มใหญ่ของอำเภอสะเดา  ซึ่งมีทีมนักวิชาการคอยสนับสนุนข้อมูลวิชาการโดยการแบ่งสถานีถ่ายทอดความรู้เป็น 4 สถานี เช่นความแตกต่างของปุ๋ย การใช้ปุ๋ยผลิตภัณฑ์ของบริษัทวิธีใช้ปุ๋ยอย่างไร ให้ถูกช่วงถูกเวลาตามคำแนะนำ และลดต้นทุน รวมทั้งการดูแลโรคและแมลงต่างๆ ที่เป็นศัตรูต้นทุเรียน  เพื่อให้เกษตรกรสวนทุเรียนได้สัมผัสได้เรียนรู้อย่างเต็มรูปแบบ