posttoday

ตั้งรัฐบาล66:“พิธา”เข้าใจ“ปิยบุตร”ค้านปมMOU ไร้ปัญหาสอดคล้องรธน.

23 พฤษภาคม 2566

พิธา เข้าใจ ปิยบุตรค้าน MOU บางประเด็น ยันไร้ปัญหา เนื้อหาสอดคล้อง รธน. แจงข้อตกลงเป็นแค่วาระร่วมในขั้นต่ำ ระหว่างพรรคที่มาร่วมตั้งรัฐบาล ยืนยันก้าวไกลผลักดัน300นโยบายผ่านกลไกบริหาร นิติบัญญัติแน่นอน

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี  ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่สืบเนื่องจากการเซ็นต์MOU ว่า เป็นแค่การทำงานในวาระร่วมกัน23ข้อ ของพรรคร่วมในขั้นต่ำ แต่ยังมีวาระเฉพาะของของพรรคก้าวไกลกว่า300นโยบายที่หาเสียงไว้และพรรคก้าวไกลก็จะพยายามผลักดันต่อให้เป็นไปได้ โดยจะผลักดันผ่าน2กลไกคือ กลไกการบริหาร ในฐานะที่ตนเป็นว่าที่นายกรัฐมนตรี ก็จะมีอำนาจในการบริหารจัดการให้เกิดผลการเปลี่ยนแปลงให้ได้มากที่สุด และสอง คืออำนาจรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกลที่จะอยู่ในกระทรวงต่างๆ ในการผลักดันวาระที่อาจจะไม่ได้อยู่ในMOUแต่อยู่ในนโยบาย 300 ข้อของพรรคก้าวไกล และสาม หากพรรคก้าวไกลไม่ได้เป็นเจ้ากระทรวง เราก็ยังประสานงานกับรัฐบาลร่วม ในการพูดคุยเจรจาให้รัฐมนตรีแต่ละกระทรวงผลักดันนโยบายของพรรคเราได้ 

แต่อีกหลายเรื่องก็เป็นเรื่องของนิติบัญญัติ โดยเฉพาะ 45 กฎหมายที่เราได้สัญญากับประชาชนไว้ เนื่องจากเรามีส.ส. 152 คน ก็สามารถผ่านกฎหมายเพื่อให้เกิดการถกเถียง และให้เกิดกรรมาธิการเพื่อให้ผ่านสภาเป็นกฎหมาย มีอำนาจรองรับ เช่น พ.ร.บ.น้ำประปาสะอาด พ.ร.บ.รับรองคำหน้าอัตลักษณ์ทางเพศ เป็นต้น ถึงแม้เรื่องดังกล่าวจะไม่อยู่ในวาระร่วมของรัฐบาล แต่ก็มีหลายกฎหมายที่เราสามารถผลักดันได้ ให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่เราได้สัญญาไว้ให้กับประชาชน 

ทั้งนี้ การที่มีเอ็มโอยู 23 ข้อ เป็นวาระร่วมแค่ขั้นต่ำ แต่ในขณะเดียวกันหลายประเด็นที่อาจจะทำให้ประชาชนต้องลำบาก และต้องการความเปลี่ยนแปลงผ่านกฎหมายที่ก้าวหน้า และการบริหารงานของพรรคก็จะมีวาระเฉพาะที่สามารถผลักดันได้เช่นเดียวกัน

นายพิธา บอกถึงขั้นตอนต่อไปหลังจากลงนาม MOU แล้วว่า คงต้องเป็นการเดินสาย พบพี่น้องประชาชนกลุ่มต่างๆ ขณะที่คณะกรรมการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลก็ไม่ได้มีเพียงพรรคก้าวไกล ในการพบปะหารือครั้งต่อไปจึงจะเชิญพรรคร่วมรัฐบาลมาฟังปัญหาจากผู้ได้รับผลกระทบ เพื่อจัดทำนโยบายรวมแถลงต่อรัฐสภา และนำเอาผู้มีความรู้จริงมาบริหารกระทรวงที่เหมาะสม ส่วนตำแหน่งของกระทรวงเศรษฐกิจนั้น ก็จะต้องเป็นคนมีความรู้ความสามารถทางเศรษฐกิจ
    
เมื่อถามว่าจะสามารถคืนความมั่นใจของนักลงทุนได้อย่างไร เนื่องจากหลังเลือกตั้งหุ้นตกลงอย่างต่อเนื่อง นายพิธา ระบุว่า สิ่งที่น่ากังวลตอนนี้ไม่ใช่เรื่องศักยภาพของประเทศ แต่เป็นความผันผวนทางการเมือง เพราะเท่าที่ผ่านมา เคยมีพรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งแต่ไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี ทำให้เกิดความไม่มั่นใจในระบอบประชาธิปไตยที่ไม่แน่นอน จึงต้องเร่งสร้างความมั่นใจว่าระบบการเมืองมีความแน่นอน สะท้อนเจตจำนงของประชาชน จึงจะสามารถคืนเสถียรภาพของการลงทุนกลับมาได้

ส่วนกรณีที่ นายปิยบุตร แสงกนกกุล แกนนำคณะก้าวหน้า โต้แย้งบางประเด็นในเนื้อหา MOU โดยเฉพาะข้อห่วงใยเรื่อง ม.112 นายพิธา ระบุว่า เข้าใจความกังวลใจของนายปิยะบุตร แต่ข้อความก็คือข้อความ ส่วนเนื้อหาใน MOU ก็สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน จึงคิดว่าไม่น่ามีปัญหาอะไร 

เมื่อถามว่าสาเหตุที่การแถลงข่าวเมื่อวานนี้ ล่าช้ากว่ากำหนด ก็มีการแก้ไขเนื้อหาบางส่วนรวมถึงตัดประเด็นนิรโทษกรรมออกใช่หรือไม่ นายพิธา ระบุว่า ไม่ใช่แค่นั้น เพราะยังมีปัจจัยอื่นที่ทำให้ล่าช้า รวมถึงประเด็นกัญชาที่ต้องมาแก้ในวินาทีสุดท้าย