posttoday

ตั้งรัฐบาล66:เส้นทาง ขวากหนาม ก้าวไกล-พิธา นายกรัฐมนตรีคนที่30

16 พฤษภาคม 2566

เลือกตั้ง 14พ.ค.66 พรรคก้าวไกล ได้อันดับหนึ่ง152 เสียง เดินหน้าจับขั้ว ประสาน พันธมิตรการเมืองร่วมอุดมการณ์ เพื่อไทย ประชาชาติ ไทยสร้างไทย เสรีรวมไทย เป็นธรรม ผนึก 6 พรรค 310 เสียง หนทางเข้าสู่อำนาจ ต้องรวมให้ได้ 376เสียง โหวตเลือกนายกฯ ที่ต้องฝ่าฟัน อีกหลายด่าน


ผลจากการเลือกตั้ง 14พ.ค.66 ประชาชนเสียงส่วนใหญ่ มอบฉันทามติให้ 'พรรคก้าวไกล' เป็นพรรคอันดับหนึ่ง ได้จำนวนส.ส.ทั้งระบบเขต บัญชีรายชื่อ ทั้งสิ้น 152 เสียง ทำให้ พรรคเพื่อไทย จากที่เคยครองตลาดการเมืองมาตลอด 22 ปี รับบท 'พระรอง'

หลังผลเลือกตั้งออกมา พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ก้าวไกล พร้อมกับคณะแกนนำพรรค เดินหน้าจับขั้วประสานไปยัง พันธมิตรการเมืองร่วมอุดมการณ์ พรรคเพื่อไทย พรรคประชาชาติ พรรคไทยสร้างไทย พรรคเสรีรวมไทย พรรคเป็นธรรม ผนึก 6 พรรค ได้เสียง 310 เสียง

การรวมเสียง 'จัดตั้งรัฐบาล' ฉลุย 'ไม่มีปัญหา' แต่ข้อกังวล การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี เพื่อเอาชนะ สมาชิกวุฒิสภา(สว.)ทั้ง 250คน จะทำอย่างไร 

ต้องไม่ลืม ในบทเฉพาะกาล รัฐธรรมนูญ2560 ใน5ปีแรก สว.ยังมีส่วนในการโหวตนายกรัฐมนตรีอยู่ เพื่อให้ได้ เสียงเกินกว่า 376 เสียง' (ใช้เสียงประชุมร่วมสภา ให้ได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งจาก 500ส.ส. และ 250สว. ) 


ตามทฤษฎี การเมืองว่าด้วย สมการตัวเลข เริ่มเห็นกองเชียร์ กองหนุน ออกมาเร่งเร้า ให้ทั้ง พรรคการเมือง ส.ส.ที่ยังอยู่ในสนามการเมือง และ สว.ให้กลับใจ มาสนับสนุน ทิม-พิธา  

 

ก้าวไกล + พรรคพันธมิตรการเมือง 310 เสียง   'เพียงพอ' สำหรับ 'จัดตั้งรัฐบาล'


ก้าวไกล + พันธมิตรการเมือง 310 เสียง  'ไม่เพียงพอ'  พา พิธา ชนะเกมในสภาฯ หักด่านสว. ก้าวขึ้นเป็น 'นายกรัฐมนตรีคนที่ 30'

 

'มีลุง ไม่มีเรา มีเรา ไม่มีลุง' แต่ถ้า ไม่มีเสียงจากเขา(กลุ่มส.ส.  หรือ  สว.มาสนับสนุน) ก็ไม่มี ทิม-พิธา เป็นนายกรัฐมนตรี เหมือนกัน 

 

ประวัติศาสตร์การเมือง พรรคที่เคยได้เสียงมากสุด แต่รวมเสียงตั้งรัฐบาลไม่ได้ 


หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ ผู้นำคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ทำรัฐประหารครั้งที่สอง พร้อมกับแต่งตั้งคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาอีก 35 คน มีการเปิดช่อง ให้นายกฯ เป็นคนเลือก ส.ว. และให้ ส.ว. มีอำนาจเลือกนายกฯ ในช่วงเวลาดังกล่าว พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เป็นนายกฯ 

การเลือกตั้งส.ส. วันที่ 22 เมษายน 2522 ไม่มีกลุ่มการเมืองใดได้ที่นั่ง ส.ส. เกินกึ่งหนึ่งของสภาที่มีทั้งหมด 301 คน แต่กลุ่มการเมืองที่มีจำนวน ส.ส. มากที่สุดในสภา คือ กลุ่มกิจสังคม นำโดย หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช มี ส.ส. 88 คน เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ รวมเสียงส.ส. ในสภาได้ 190 เสียง กลับไม่ได้เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล ขณะที่ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ รวมเสียง ส.ส.ในสภาได้ 111 เสียง กลับได้รับเลือกเป็นนายกฯ เพราะมีเสียงสนับสนุนจากส.ว. ที่ตัวเองเป็นคนแต่งตั้งเมื่อครั้งเป็นนายกฯ อีกจำนวน 200 เสียง รวมเป็น 311 เสียง และกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการเอา ส.ว. มาช่วยหนุนให้พรรคที่ไม่ได้มี ส.ส. มากเป็นอันดับหนึ่งขึ้นเป็นรัฐบาล

 

ในยุคสมัย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หลังการเลือกตั้งปี 2562


บทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดให้ช่วง 5 ปีแรกนับตั้งแต่มีรัฐสภาชุดแรก ให้ ส.ว. 250 คน มีอำนาจร่วมเลือกนายกฯ พร้อมกับ ส.ส.อีก500คน  ผู้ที่จะได้รับเลือกให้เป็นนายกฯ ต้องได้รับเสียงเห็นชอบจากรัฐสภาถึง 376 เสียง

การเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 ไม่มีพรรคการเมืองใดได้จำนวน ส.ส. เกินกึ่งหนึ่งของสภา พรรคที่ได้ ส.ส. มากสุด คือ พรรคเพื่อไทย มีส.ส. 136 คน พรรคพลังประชารัฐ ที่เป็นพรรคซึ่งประกาศสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช. ให้เป็นนายกฯ อีกสมัย กลับได้ที่นั่งเป็นอันดับสอง จำนวน 116 คน

พรรคพลังประชารัฐ มีจำนวน ส.ส. เป็นอันดับสอง เชิญชวน พรรคการเมืองต่างๆ ให้มาเข้าร่วม เพราะพลังประชารัฐมีแนวร่วมที่เป็น ส.ว.แต่งตั้ง อีก 250 คน ให้การสนับสนุน ทำให้พรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ ที่เคยประกาศไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ยอมไปเข้าร่วมกับรัฐบาล เมื่อมาถึงการลงมติเห็นชอบผู้ดำรงตำแหน่งนายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ ได้รับเสียงสนับสนุนจาก ส.ส. และ ส.ว. อย่างถล่มทลาย กลับเข้ามาเป็นนายกฯอีกสมัย 

 

ในนาทีนี้ อารมณ์ ผู้สนับสนุน(บางส่วน)ของก้าวไกล อันพลุกพล่าน เริ่มมีปฏิกิริยาออกไป หลายทิศหลายทาง บ้างก็ส่งสัญญาณให้ 250สว. 'เคารพเสียงประชาชน' โหวตเลือก แคนดิเดตนายกฯ จากพรรคก้าวไกล 

บ้างก็ออกแรง กดดันไปยัง พรรคการเมือง ภูมิใจไทย-ประชาธิปัตย์ แม้จะเป็น 'คนละขั้ว' การเมือง แต่เพื่อแนวทางประชาธิปไตยของเสียงข้างมากที่มอบฉันทานุมัติมา ขอให้มาร่วมสนับสนุน พิธา เพื่อโค่นอำนาจ 250 สว.

บ้างก็ออกไปในเชิง โพสต์ภาพสมัยการชุมนุมของแนวร่วมนิสิต นักศึกษา พร้อมกับข้อความ 'สว.ต้องไม่ฝืนเจตนารมณ์ประชาชน' ส่งสัญญาณเป็นนัยๆ หาก เจอเกมตุกติก ขบวนการสมคบคิด ขัดขวาง พิธา-ก้าวไกล ไม่ให้จัดตั้งรัฐบาล เป็นนายกรัฐมนตรีจริงๆ 

 

กระดานเข้าสู่อำนาจการเมือง พิธา มีประเด็น การถือหุ้นไอทีวี คดีค้างเก่าที่เหมารวม พิธา-พรรคก้าวไกล ในชั้น กกต. และ ปปช. ที่อาจเป็นอีกด่านสำคัญ คอยสกัดกั้นอีกชั้น

 

พิธา เส้นทาง นายกรัฐมนตรีคนที่30 ไม่ได้ โรยด้วยกลีบกุหลาบ นับจาก จบศึกเลือกตั้ง รวมเสียงตั้งรัฐบาล ไปจนถึง กระบวนการ ขั้นตอน โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ยังต้องเฝ้าลุ้น ประเมินสถานการณ์กัน วันต่อวัน กับการก้าวขึ้นสู่ตำแหน่ง ประมุขฝ่ายบริหาร อย่างสมบูรณ์แบบ