posttoday

เกาะติดการเมือง เลือกตั้ง66 คนอุดรหนุนแพทองธารเป็นนายกฯ

13 มีนาคม 2566

"นิด้าโพล" เผยผลสำรวจ คนอุดรโหวตอุ๊งอิ๊งค์ เป็นนายกฯ "จุรินทร์" มั่นใจคนพังงาสนับสนุนปชป. สุดารัตน์ ชูแก้ ทุกข์ มหานคร กทม. "อรรถวิชช์" ท้วง กกต.กทม.แบ่งเขตเลือกตั้งแบบที่ 1,2 ผิดกฎหมาย

นิด้าโพล เผยคนอุดรหนุนแพทองธาร นายกฯ

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “คนอุดรธานีเลือกพรรคไหน” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 24 กุมภาพันธ์-2 มีนาคม 2566  อันดับ 1 ร้อยละ 48.24 ระบุว่า จะสนับสนุนน.ส.แพทองธาร (อุ๊งอิ๊งค์) ชินวัตร (พรรคเพื่อไทย) เป็นนายกรัฐมนตรี อันดับ 2  ร้อยละ 11.96 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ (พรรคก้าวไกล) อันดับ 3 ร้อยละ 10.29 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา (พรรครวมไทยสร้างชาติ)  อันดับ 4 ร้อยละ 7.84 ระบุว่า ยังหาคนที่เหมาะสมไม่ได้ 

อันดับ 5 ร้อยละ 7.55 คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ (พรรคไทยสร้างไทย) อันดับ 6 ร้อยละ 5.59 พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส (พรรคเสรีรวมไทย) อันดับ 7 ร้อยละ 2.45 ระบุว่าเป็น นพ. ชลน่าน ศรีแก้ว (พรรคเพื่อไทย) อันดับ 8 ร้อยละ 2.06 ระบุว่าเป็น นายอนุทิน ชาญวีรกูล (พรรคภูมิใจไทย)  อันดับ 9 ร้อยละ 1.18 นายกรณ์ จาติกวณิช (พรรคชาติพัฒนากล้า)  
และร้อยละ 2.84 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ (พรรคประชาธิปัตย์) ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ (พรรคสร้างอนาคตไทย) พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ (พรรคพลังประชารัฐ) นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ (พรรคพลังประชารัฐ) น.ส.กัญจนา ศิลปอาชา (พรรคชาติไทยพัฒนา) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค (พรรครวมไทยสร้างชาติ) นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ (พรรคไทยศรีวิไลย์) นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม (พรรคไทยภักดี) และไม่ตอบ/ไม่สนใจ
 

จุรินทร์มั่นใจคนพังงาหนุนปชป.

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมทีมงานพรรค เดินทางไปที่อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา ขึ้นเวทีปราศรัยแนะนำผู้สมัครรับเลือกตั้งส.ส.พรรคในพื้นที่สำหรับการเลือกตั้ง 66 ที่ใกล้เข้ามาทุกขณะ ประกอบด้วย เขต1  นางกันตวรรณ ตันเถียร  ผู้แทน5สมัย และเขต2 นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคปชป. 

พื้นที่พังงา ถือเป็นบ้านเกิดและฐานที่มั่นสำคัญของนายจุรินทร์ เรียกว่า แพ้ไม่ได้ทั้ง2เขต โดยยุทธวิถีเพื่อรักษาพื้นที่ก็คือ อุดมการณ์ประชาธิปัตย์ ความยึดมั่นในอุดมการณ์ ซึ่งนายจุรินทร์ก็มั่นใจในผลงานที่ได้ทำมาในพื้นที่รวมทั้งศักยภาพของตัวผู้สมัครทั้ง 2 คน และยังมีนโยบายใหม่ของพรรคมั่นใจว่าคนพังงาจะช่วยสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ต่อไป

ไทยสร้างไทยมั่นใจการุณปักธงดอนเมือง

คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย เปิดเวทีปราศรัยที่เขตดอนเมือง แนะนำตัวนายการุณ โหสกุล ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.พรรค ที่ย้ายมาจากเพื่อไทย ชูนโยบาย"แก้ ทุกข์ มหานคร กทม." เขตดอนเมืองเป็นพื้นที่ซึ่งคุณหญิงสุดารัตน์ ลงสมัครรับเลือกตั้งได้เป็นส.ส.ครั้งแรกเมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2535 ดังนั้นความผูกผันที่มีต่อพื้นที่มาอย่างยาวนานจึงเห็นปัญหาเห็นความทุกข์ยากและคอยดูแลช่วยเหลือกันมาตลอด 

คุณหญิงสุดารัตน์ได้แนะนำตัวนายการุณกับประชาชนเขตดอนเมืองว่า ถือเป็นนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย จนถูกตั้งข้อหา ก่อการร้าย นอกจากนี้เป็นคนที่มีจิตวิญญาณรับใช้พี่น้องชาวดอนเมืองมาอย่างยาวนาน เป็นคนที่ทุ่มเททำงานจริงจังจริงใจ ตามสโลแกนที่ว่า "ดอนเมืองไม่ทิ้งกัน การุณไม่ทิ้งใคร" จึงมั่นใจว่านายการุณ จะสามารถปักธงในเขตดอนเมืองได้อีกครั้ง และจะเป็นอีกหนึ่งกำลังของไทยสร้างไทยที่ช่วยกันสร้างทางรอดให้กับประเทศไทยได้ 

ท้วงกกต.กทม.แบ่งเขตเลือกตั้งผิดกฎหมาย
 
นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี รองหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า เปิดเผยข้อมูลว่าการแบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส.กรุงเทพมหานคร 4 รูปแบบ ที่กำลังจะหมดเขตรับฟังความเห็นวันนี้ (13มี.ค.66) พบว่ารูปแบบที่ 1 และ 2 เข้าข่ายผิดกฎหมาย ขัดมาตรา 27 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.นำวิธีรวมแขวงต่างๆประกอบเป็นเขตเลือกตั้งใหม่ ยกตัวอย่างเขตจตุจักร กลับแยกร่างเขตจตุจักร เขตหลักสี่ เขตบางเขน นำแขวงจันทรเกษมและแขวงเสนานิคมของเขตจตุจักร ไปรวมกับแขวงท่าแร้งของเขตบางเขน และแขวงตลาดบางเขนของเขตหลักสี่ มารวมเป็นเขตใหม่ สร้างความสับสนให้ประชาชนที่คุ้นเคยกับเขตเลือกตั้งเดิม ไม่ได้เลือกผู้แทนของเขตเลือกตั้งเดิมเคยทำงานในพื้นที่มา ขณะที่รูปแบบที่ 3 และ 4 เป็นรูปแบบที่สอดคล้องกับกฎหมายมากที่สุด เพราะมีเขตเลือกตั้งที่ถูกแยกเขวงเพียง 8 เขต โดยเฉพาะรูปแบบที่ 3 มีเขตที่เคยเป็นเขตเลือกตั้งเดิมที่คุ้นเคยมาก่อนถึง 17 เขตเลือกตั้ง

“การแบ่งเขตรูปแบบที่ 1 และ 2 นอกจากผิดกฎหมายชัดเจนแล้ว ยังสร้างความสับสนให้ประชาชนที่คุ้นเคยกับเขตเลือกตั้งเดิม เขาไม่ได้เลือกผู้แทนของเขตเลือกตั้งเดิมเคยทำงานในพื้นที่มา ขณะที่รูปแบบที่ 3 และ 4 เป็นรูปแบบที่สอดคล้องกับกฎหมายมากที่สุด เพราะมีเขตเลือกตั้งที่ถูกแยกเขวงเพียง 8 เขต โดยเฉพาะรูปแบบที่ 3 มีเขตที่เคยเป็นเขตเลือกตั้งเดิมที่คุ้นเคยมาก่อนถึง 17 เขตเลือกตั้ง” ดร.อรรถวิชช์ กล่าว