posttoday

ถึงเวลาปฏิรูปนโยบายพลังงานหรือยัง? ฟัง 6 พรรคการเมืองตอบคำถามภาคประชาชน

01 มีนาคม 2566

เวทีพลังงานระอุ เมื่อภาคประชาชน นักวิชาการร่วมกันตั้งคำถามต่อปัญหาหมักหมมเรื่องของพลังงานในประเทศไทย โดยมีนักการเมืองจาก 6 พรรคมาร่วมตอบคำถามพร้อมนำเสนอนโยบายที่จะแก้ไขปัญหาในอนาคตหากมีอำนาจเป็นรัฐบาล

ถึงเวลาปฏิรูปนโยบายพลังงานหรือยัง? ฟัง 6 พรรคการเมืองตอบคำถามภาคประชาชน

ในวงเสวนา “พรรคการเมืองตอบประชาชน อนาคตพลังงานไทย” ซึ่งจัดโดยเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ มีการเสนอประเด็นพลังงานจากนักวิชาการ อาทิ ประเด็น “พลังงงานโลกกับการบริหารจัดการ” “ถึงเวลาก้าวข้ามพลังงานฟอสซิล” “โครงสร้างราคาแก๊สและน้ำมัน”  “การจัดการทรัพยากรพลังงานเพื่อประโยชน์ของประชาชน" และ “ไฟฟ้าถูกทำได้อย่างไร” เป็นต้น

นายปานเทพ  พัวพงษ์พันธ์ กรรมการเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย ได้กล่าวถึงความสำคัญการเคลื่อนไหวของประชาชนต่อการดำเนินงานด้านพลังงานของรัฐว่า ปีนี้ เข้าปีที่ 8 แล้วที่ภาคประชาชนหลากหลายกลุ่มพยายามเนินหน้าให้รัฐปรับปรุงปัญหาพลังงาน ซึ่งหลายครั้งถูกดำเนินคดีโดนกลุ่มทุนพลังงาน การเลือกตั้งครั้งนี้จึงอยากจะเห็นการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงานที่เป็นไปได้ให้เกิดความเท่าเทียม

ถึงเวลาปฏิรูปนโยบายพลังงานหรือยัง? ฟัง 6 พรรคการเมืองตอบคำถามภาคประชาชน

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้กล่าวในหัวข้อ “พลังงานโลกกับการบริหารจัดการ” ว่าการใช้สิทธิใช้เสียงของประชาชนในครั้งนี้จะมีผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องมากว่าครั้งอื่น เพราะอะไร สิ่งที่จะต้องติดตามเลือกพรรคเลือกนโยบายของพรรคที่สำคัญที่สุดคือนโยบายด้านเศรษฐกิจโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องพลังงาน มีสองเหตุผลที่สำคัญคือ:

ประการแรก น่าเสียดายที่ประเทศไทยมีการบริหารนโยบายด้านพลังงานที่สร้างปัญหา สะสมมาหลายปี จะด้วยตั้งใจหรือไม่รู้เท่าทันก็ตาม แต่ตอนนี้มาถึงจุดที่รัฐบาลจะต้องทำการแก้ไข เพราะถ้าทิ้งไว้เหมือนเดิมประชาชนจะมีแต่เดือดร้อน ประชาชนคนจนก็จะถูกเฉือนเนื้อไปแปะให้คนรวยอยู่เรื่อยๆ

และสองรัฐบาลหน้าจะเป็นรัฐบาลที่จะต้องเผชิญปัญหาเศรษฐกิจโลกที่ผันผวนเป็นพิเศษจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ของโลกหลายเรื่อง เพราะฉะนั้นวันนี้จึงตั้งใจเสนอ 3 โจทย์ให้พรรคการเมืองนำไปคิดและออกมาเป็นนโยบายคือ: 

1. โจทย์จากสงครามยูเครน โดยเรียกสงครามนี้ว่า เป็นสงครามเปลี่ยนโลกในเชิงเศรษฐกิจ เพราะกำลังจะส่งผลกระทบเพิ่มเติมทั้งในเรื่องของราคาน้ำมัน ในเรื่องของอัตรากำไรของโรงกลั่นน้ำมันและในเรื่องของราคาก๊าซ ในแง่ของการขายน้ำมันดิบ ก่อนหน้านี้รัสเซียเป็นผู้ส่งออกอันดับสองของโลกรองจากซาอุดิอาระเบีย แต่รัสเซียถูกมาตรการแซงก์ชันของประเทศตะวันตกกำหนดราคาเพดานน้ำมันดิบ สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ เวลานี้รัสเซียได้ประกาศแล้วว่า เดือนมีนาคมจะลดการผลิตน้ำมันลง 500,000 บาเรลต่อวัน เมื่อมีการลดการผลิตน้ำมันลง ราคาน้ำมันจะมีแนวโน้มสูงขึ้น ขณะนี้มีการสู้กันระหว่างรัสเซียและสหรัฐฯ ประธานาธิบดีไบเดนตัดสินใจ เอาสำรองน้ำมันฉุกเฉินของรัฐบาลสหรัฐฯออกมาสู้ เพื่อจะกดราคาน้ำมันเอาไว้ แต่จะสู้กันได้มากน้อยแค่ไหน 

“ผมคิดว่าเป็นปัญหา เพราะฉะนั้นสิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือว่า ในรัฐบาลหน้าราคาน้ำมันดิบมีโอกาสจะผันผวนสูง ทุกครั้งที่ราคาน้ำมันดิบดิบผันผวนสูงคนไทยก็จะเกิดข้อสงสัยว่า ทำไมราคาตลาดโลกน้ำมันมันลดลงแล้วแต่ในเมืองไทยราคามันยังไม่ลดลง ตรงนี้พรรคจะมีคำตอบในแง่ของนโยบายให้แก่ประชาชนอย่างไร”

 

2. โลกตะวันมีการลงทุนในโรงกลั่นน้ำมันน้อยเพราะว่า ยึดนโยบายสู้กับโลกร้อน  และตอนนี้ โลกตะวันตกยังแซงก์ชันรัสเซียเพิ่มเติม นอกจากแซงก์ชันในเรื่องน้ำมันดิบตอนนี้ยังขยายแซงก์ชันในเรื่องของน้ำมันสำเร็จรูปอีกด้วย โดยตนมองว่า ข้อนี้มีความเสี่ยงสูงที่จะทำให้น้ำมันสำเร็จรูปในโลกไม่พอใช้ เพราะจะมีการแย่งซื้อนำมันสำเร็จรูปโดยเฉพาะน้ำดีเซล เพราะฉะนั้นสิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ อัตรากำไรค่าการกลั่นของโรงกลั่นทั่วโลกก็สามารถปรับสูงขึ้นจากสถานการณ์นี้ และเนื่องจากกติกาของไทยตอนนี้ ราคาน้ำมันไทยไปอ้างอิงกับราคาหน้าโรงกลั่นที่สิงคโปร์ และถ้าอัตรากำไรค่าการกลั่นของโลกเพิ่มสูงขึ้น ราคาน้ำมันสิงคโปร์ก็จะบวกกำไรลาภลอยสูงขึ้นไปด้วย คนไทยก็จะต้องจ่ายกำไรลาภลอยนี้ให้กับโรงกลั่นในประเทศไทยสูงขึ้นไปด้วย ทั้งที่ต้นทุนค่าการกลั่นในประเทศไทยยังคงเดิม พรรคจะมีคำตอบให้กับประชาชนอย่างไร

 

3. เรื่องของก๊าซ เดิมยุโรปอาศัยก๊าซของรัสเซียส่งมาทางท่อ ซึ่งขณะนี้มีน้อยมาก เพราะว่า นอกจากรัฐเดิมของรัสเซียเลิกส่งแล้ว ขณะนี้ ท่อก๊าซหลักของรัสเซียยังถูกวินาศกรรม กู้กลับคืนมาไม่ได้ ราคาก๊าซในยุโรปก่อนหน้านี้ขึ้นไป 6-8 เท่าแต่เวลานี้ลดกลับมา แต่อย่าเพิ่งวางใจ เพราะว่ายุโรปนั้นอาศัยระบบซื้อก๊าซธรรมชาติเหลวลงเรือแล้วไปอัดลงในสำรองใต้ดิน เวลานี้อัดเต็ม ราคาก๊าซก็ตก และเมื่อการใช้พร่องไปเมื่อไหร่ราคาก๊าซก็จะขึ้น เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าสูตรราคาก๊าซที่ประชาชนคนไทยจะต้องจ่ายในแต่ละวัน มีอะไรที่ไปผูกกับราคาก๊าซตลาดโลก เราก็กำลังจะเดือดร้อน เพราะราคาก๊าซในตลาดโลกจะหวือหวา ถามว่าพรรคการเมืองจะมีแนวทางป้องกันปัญหานี้ได้อย่างไร

พร้อมเสริมไว้อีกเรื่องว่า ที่ผ่านมาเราจะมองพลังงานเป็นเรื่องของรายจ่าย เพราะฉะนั้น

ถึงเวลาแล้วที่จะเปลี่ยนมุมมองในเรื่องพลังงานจากรายจ่ายให้เป็นรายได้ โดยจะเอื้ออำนวยให้กับคนไทยสามารถที่จะพลิกแพลงพัฒนาความสามารถในการแข่งขันทั้งในระดับบุคคลและในระดับชุมชนให้มันสอดคล้องกับพลวัตโลกที่กำลังเปลี่ยนไป สอดคล้องกับสงครามการค้า เช่น ในเรื่องของการพัฒนาพลังงานทางเลือกให้เป็นธุรกิจใหญ่ หรือการพัฒนาเกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้าให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางมีความชำนาญด้านนี้ ถามว่า พรรคการเมืองมีแนวคิดในเรื่องนี้หรือไม่

สุดท้าย ปัญหาจัดการแปรรูปรัฐวิสาหกิจพลังงาน ประเทศไทยเราได้ทำการแปรรูปรัฐวิสาหกิจพลังงานแล้ว ธุรกิจบางอย่างของรัฐวิสาหกิจก็มอบให้เอกชนทำแทน มีการอ้างว่าทำแบบนี้จะเพิ่มการแข่งขัน จะเพิ่มประสิทธิภาพ จะทำให้ประชาชนได้รับประโยชน์ แต่ในข้อเท็จจริงในกิจกรรมพลังงานมีหลายเรื่องที่มีการผูกขาดในทางธรรมชาติ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ การแปรรูปที่ผ่านมาในประเทศไทยไม่ได้เกิดผลประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริง กลายเป็นไปสร้างให้เกิดเสือนอนกิน นอนกินและดูแลผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นเป็นหลัก

ทั้งหมดนี้ปัญหาแบบนี้เกิดขึ้นในประเทศอังกฤษประเทศต้นแบบของการแปรรูป ปรากฎว่าในปีที่แล้ว ราคาพลังงานโลกสูงขึ้น ราคาพลังงานของครัวเรือนของสหรัฐฯ แพงขึ้น 20% ในอียูที่ไม่รวมอังกฤษแพงขึ้น 34% แต่ในอังกฤษแพงขึ้นถึง 90% แพงกว่าสหรัฐเกินกว่า 4 เท่า เป็นเพราะขบวนการแปรรูปแบบเกินเหตุที่เริ่มมาหลายปีแล้ว ขบวนการเหล่านี้ทำให้ประชาชนทั้งในประเทศไทยและหลายประเทศไม่ได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่จากทรัพยากรของตัวเอง และจาก “ทรัพยสิทธิ” ซึ่งเป็นของส่วนรวม

คำถามคือ พรรคการเมืองจะดูแลปัญหาเหล่านี้ให้กับประชาชนอย่างไร

 

ถึงเวลาปฏิรูปนโยบายพลังงานหรือยัง? ฟัง 6 พรรคการเมืองตอบคำถามภาคประชาชน

ด้านนางสาวรสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา กล่าวในหัวข้อ “ถึงเวลาก้าวข้ามพลังงานฟอสซิล” โดยบอกว่า "ยุคหินผ่านไปไม่ใช่เพราะหินหมดแต่เป็นเพราะเราค้นพบเทคโนโลยีใหม่" ดังที่เราได้เห็นการดิสรัปทางเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงที่ผ่านมา  

และในรอบ 150  ปีที่ผ่านมาการใช้พลังงานฟอสซิล ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงมหาศาลจนอาจทำลายเผ่าพันธุ์มนุษย์ที่อยู่ในโลกมานานสองแสนปี

การเปลี่ยนเทคโนโลยีหนักมาเป็นเทคโนโลยีเบาเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนยิ่งสำหรับวงการที่เกี่ยวข้องกับการผลิตพลังงาน รากลึกของวิกฤติพลังงานอยู่ที่แบบแผนการผลิต และการบริโภคที่สูญเปล่า

“เราไม่ได้ต้องการพลังงานเพิ่ม แต่เราต้องการการเปลี่ยนแปลงอย่างลึกซึ้งในทางคุณค่า ทัศนคติ และวิถีชีวิต”

โลกเราต้องการพลังงานเบาที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เช่น พลังงานหมุนเวียน พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม ที่มีราคาถูกลงเรื่อยๆ และมีประสิทธิภาพมากขึ้น เป็นต้น

ยุคพลังงานฟอสซิลใน 150 ปีที่ผ่านมา ได้ก่อให้เกิดวิกฤตการณ์ใหญ่ๆ 3 เรื่องคือ

1.โลกร้อน ก่อวิบัติภัยทางธรรมชาติที่อาจทำลายเผ่าพันธุ์มนุษย์

2.การสะสมทุนที่เกิดจากการผูกขาด ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ รวยกระจุกจนกระจาย

3.วิกฤติสุขภาพ PM 2.5 ทำลายชีวิตคนทั่วโลก ปีละ 10.2 ล้านคนและในประเทศไทยประมาณ 70,00 คนต่อปีที่เสียชีวิตจาก PM 2.5

และอ้างถึงรายงาน In Equality Report 2022 ที่ระบุว่าในปี 2564 คนรวยที่สุด10% ของโลก ครอบครองทรัพย์สินอยู่ 76% ของทรัพย์สินทั้งหมดที่มีอยู่ ส่วนคนจนที่สุด 50% ครอบครองทรัพย์สินแค่ 2% ของโลกเท่านั้น

และมีนายทุนไทยจำนวนหนึ่งก้าวกระโดดเป็นมหาเศรษฐีจากธุรกิจพลังงานในระยะเวลาไม่เกิน 8 ปี

พร้อมกันนี้ยังตอกย้ำว่า 

“ถึงเวลาที่เราจะก้าวข้ามยุคพลังงานฟอสซิล การเปลี่ยนผ่านพลังงานฟอสซิลสู่พลังงานหมุนเวียนต้องเป็นเจตจำนงค์ทางการเมือง ที่ประชาชนผลักดัน และรวมถึงนักการเมืองสามารถมีความตระหนักรู้ว่า โลกที่เราอยู่เปราะบางเหมือนกับชีวิตของเรา โลกไม่ใช่กำไร แต่โลกคือ ต้นทุนที่เราทุกคนต้องร่วมกันรักษาและใช้อย่างประหยัดที่สุด” และยังเสนอว่า 

  • พลังงานที่เราควรจะต้องเปลี่ยนผ่านมาคือ พลังงานจากแสงอาทิตย์ คนเข้าใจว่า คือพลังงานนิวเคลียร์แต่เป็นพลังงานนิวเคลียร์ที่อยู่นอกโลกต่อให้ใช้มากขนาดไหน พลังงานก็จะไม่ทำให้เกิดขยะนิวเคลียร์ในโลกนี้และสิ่งที่สำคัญคือ แสงอาทิตย์เป็นประชาธิปไตยทางพลังงาน เพราะทุกคนสามารถเข้าถึงได้ถ้าคุณมีเครื่องมือ ตอนนี้เครื่องมือมีแล้วแต่ที่ยังไม่เกิดขึ้นเพราะนโยบายทางการเมืองที่ยืนขวางแดดไว้ตลอดเวลา
  • นักการเมืองควรสนับสนุนให้ประชาชนติดโซลาร์รูฟ สามารถผลิตไฟได้บนหลังคา เรียกว่า  Solar Prosummer ทำให้ผู้บริโภคเป็นทั้งผู้ผลิต สามารถบริโภคไฟที่ผลิตขึ้นมาเองเพื่ดลดค่าใช้จ่าย มีระบบหัก ลบ กลบหน่วย มีระบบการรับซื้อพลังงานจากเทคโนโลยีเบา
  • คำตอบของพลังงานในอนาคต เชื่อว่าโซลาร์รูฟจะเป็นจุดเริ่มต้นของการก้าวข้ามพลังงานฟอสซิลและที่สำคัญคือ จะเปลี่ยนการผูกขาดเศรษฐกิจของฟอสซิลมาเป็นประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ 

“พรรคการเมืองที่อ้างตัวว่า เป็นประชาธิปไตยทางการเมืองจะต้องส่งเสริมให้เกิดประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจเป็นฐานรองรับประชาธิปไตยทางการเมืองซึ่งเป็นโครงสร้างส่วนบน ถ้าฐานปิรามิดกว้างเท่าไหร่ก็คือเกิดประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจซึ่งจะเป็นฐานที่มั่นคงสำหรับประชาธิปไตยทางการเมือง และสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้เมื่อเป็นนโยบายของพรรคการเมือง”

ทิ้งท้ายด้วยสิ่งสำคัญอีกเรื่องว่า พลังงานแสงอาทิตย์นอกจากตอบโจทย์ 3 เรื่องที่ว่ามา ยังสามารถทำให้เกิดการจ้างงานเพิ่มมากขึ้น และปิดท้ายด้วยวาทะของมหาตมะ คานธีที่เคยกล่าวไว้ว่า โลกของเราอยู่รอดไม่ใช่ด้วย  mass production แต่โลกจะอยู่รอดได้โดยการผลิตโดยคนส่วนใหญ่

นอกจากนี้ก็ยังมี การตั้งคำถามจาก รศ.ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ ในหัวข้อ “ไฟฟ้าถูกทําได้อย่างไร” ค่าไฟฟ้าแพงเพราะอะไร? ต้นตอไฟฟ้าแพง ไม่ได้มาจากเชื้อเพลิงราคาแพงแต่อยู่ที่โครงสร้างทางนโยบายของประเทศที่เป็นปัญหามานานแล้ว และกำลังการผลิตไฟฟ้ามากเกินไป จากจำนวนโรงไฟฟ้าที่มีจำนวนมากเกินไป กลายเป็นต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้ประชาชนต้องรับภาระ ทั้งนี้ ปัญหาการสร้างโรงไฟฟ้าที่ล้นเกินจำเป็น และเป็นโรงไฟฟ้าที่ใช้พลังานฟอสซิลทั้งสิ้น นักการเมืองจะมีวิธีแก้ไขปัญหานี้อย่างไร

ส่วนนายรุ่งชัย จันทสิงห์ กรรมการเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ระบุในหัวข้อ “โครงสร้างราคาแก๊สและน้ํามัน” ว่าค่าพรีเมี่ยม หรือค่าใช้จ่ายสมมติที่บวกเข้าไปแบบไม่เป็นธรรม ทำให้ราคาหน้าโรงกลั่นแพงกว่าสิงคโปร์ 1-2 บาท ก่อนทิ้งท้ายว่า ถ้าเราไม่แก้ไขเรื่องกองทุนน้ำมันก็จะทำให้เราใช้นำ้มันแพงตลอดไป

ด้านพรรคการเมือง 6 พรรคที่มาร่วมตอบคำถามอันร้อนระอุทุกหัวข้อที่ว่ามาสอดคล้องสอดรับทั้งเรื่องการแก้ปัญหาราคาพลังงานในระดับนโยบายที่เป็นปัญหา ค่าไฟแพง การแก้ปัญหาด้วยการติดโซลาร์รูป นโยบาย Net Metering การส่งเสริมพลังงานสะอาด พลังงานหมุนเวียน เป็นประเด็นหลัก โดยได้ส่งตัวแทนมาตอบคำถามดังนี้

พรรคประชาธิปัตย์ - ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ นำเสนอนโยบายที่จะส่งเสริมและสนับสนุนเสาหลักพลังงานที่มีความสำคัญ 5 เสาหลัก

1.ไฟฟ้า สนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ลดโลกร้อน ลดก๊าซเรือนกระจก ลด PM 2.5 และเรื่องของ Grid Modernization หรือ Smart Grid สนับสนุนเทคโนโลยี มีประสิทธิภาพมากขึ้นใช้พลังงานน้อยลง ส่งเสริมเทคโนโลยี CCUS หรือการดักจับและใช้ประโยชน์จากคาร์บอน เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรม

2.ก๊าซธรรมชาติ ส่งเสริมการใช้ก๊าซธรรมชาติในโรงงานอุตสหกรรม

3.น้ำมัน ส่งเสริมการใช้น้ำมันมาเป็นพลังงานไฟฟ้า

4.พลังงานทดแทน สนับสนุนพลังงานทดแทนเพื่อการขนส่ง สนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าหรือ EV และสนับสนุนการศึกษาวิจัยเทคโนโลยีพลังงานทดแทน ส่งเสริมชุมชนครัวเรือนผลิตพลังงานทดแทน

5.การอนุรักษ์พลังงาน ส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีที่ทำให้ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งเสริมการใช้แอปช่วยค่าไฟฟ้า แอปพลิเคชั่นที่จะตรวจสอบการใช้งานไฟฟ้าแบบเรียลไทม์ สนับสนุนการสร้างอาคารอนุรักษ์พลังงาน

ส่งเสริมให้ประชาชนใช้ระบบขนส่งมวลชน เช่น รถไฟฟ้ามากขึ้น ทำให้ค่าโดยสารรถไฟฟ้าถูกลงให้ได้

ชาติพัฒนากล้า - ดร.อรรถวิทย์ สุวรรณภักดี ยกหัวใจเสรีนิยมประชาธิปไตย สร้างสังคมแห่งโอกาส ผลักดันให้เกิดการแข่งขันเสรี และบอกว่า พลังงานไทยเป็นเรื่องโคตรผูกขาด ทำไมน้ำมันแพง เพราะรัฐยัดเยียดกลไกสมมติมารัฐบาลขี้ขลาด ให้กองทุนน้ำมันไปจ่ายแทน รัฐค้ำประกัน 7 ปี  สุดท้ายประชาชนต้องจ่าย และนำเสนอว่า ราคาน้ำมันต้องทุบที่ราคาที่โรงกลั่นเท่านั้น จี้รัฐบาลทำไมไม่ควบคุม เพราะจำนนต่อระบบ

และบอกว่าค่า FT ผันผวนด้วยปัจจัย 3 ประการ คือ ค่าเงินบาทอ่อน ราคาแก๊สของโลก

และการตั้งสำรองพลังงานสูง และสรุปว่า เป็นการค้ากำไรเกินควร ถ้าไม่ขยับค่า FT ไม่มีทางแก้ปัญหาได้

พรรคภูมิใจไทย - นางสาวธาดาท์ วรกานนท์ บอกว่า อย่าเพิ่งหมดหวังกับการพัฒนาพลังงานของไทย ย้ำต้องลุกขึ้นมาปฏิวัติพลังงาน ผลักดันนโยบายควบคู่กับภาคประชาชน เสนอทางเลือกพลังงานสะอาด และบอกว่า โลกเราจะเปลี่ยนเป็นพลังงานสะอาด 100% ในอนาคต และประเทศไทยจะเปลี่ยนไปใช้พลังงานแสงอาทิตย์ โดยบอกว่า เราโชคดีที่มีแสงแดดดี มีต้นทุนฟรีๆ ต้องทำให้เกิดประโยชน์ การจ่ายไฟด้วยไฟฟ้าจากแสงแดดทำให้คนไทยใช้ไฟฟรี 

ตอกย้ำ ทุกรัฐบาลที่อาสาเข้ามาแก้ไขปัญหาพลังงาน แต่ทุกวันนี้ปัญหานี้ยังดำเนินอยู่ เพราะยังไม่มีใครทำได้ เพราะมีกลุ่มทุนพลังงานที่หนุนหลังทุกรัฐบาล ทุกพรรคการเมือง เพื่อผูกขาดพลังงาน และบอกว่า กล้าพูดว่า พรรคภูมิใจไทยเป็นพรรคการเมืองเดียวที่ไม่มีกลุ่มทุนพลังงานหนุนหลัง ทิ้งท้ายเสนอให้ รื้อระบบฟอสซิล ปฏิรูป ปฏิวัติพลังงาน นำเสนอมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าฟรี

พรรคพลังประชารัฐ - สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ นำเสนอวิสัยทัศน์พลังงานเพื่อประเทศไทยโดยระบุว่า นโยบายพลังงานจะต้องเป็นนโยบายชี้ขาดของปัญหาประเทศ นโยบายของทุกพรรคการเมืองจะต้องเปลี่ยนแปลงระบบพลังงานของประเทศ  และต้องการเจตจำนงค์ทางการเมืองที่แข็งกร้าว

  • เสนอนโยบาย Net Metering ค่าไฟฟ้า 0 บาทที่เคยเสนอมาแล้ว และเป็นนโยบายที่จะทำให้โซลาร์รูฟท้อปเกิดขึ้นจริงๆ การคืนค่ามัดจำมิเตอร์ไฟ ส่วนโรงไฟฟ้าชุมชน เป็นนโยบายได้รับการตอบรับอย่างกว้างขวาง แต่ยังไม่รันแม้แต่โรงเดียว
  • ต้องกล้าที่จะแก้ไขโครงสร้างราคาน้ำมัน พูดเหมือนกันทุกพรรคแต่ทำไมแก้ไม่ได้โครงสร้างราคาน้ำมันแก้ความสมดุลของการบริหารภาษีน้ำมันซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เสนอให้รื้อโครงสร้างราคาร่วมกับเอกชน เพราะการแก้ไขราคาน้ำมันทุกวันนี้เป็นการแก้ไขเฉพาะหน้า
  • ลดการใช้พลังงาน หนุนการใช้รถไฟฟ้า นำรถเครื่องยนต์สันดาปมาแลกรถไฟฟ้า ส่งเสริมให้การใช้รถไฟฟ้า ลดการใช้นำมันด้วยการเปลี่ยนผ่านไปสู่ EV
  • จะต้องมีการไฟฟ้าของชุมชน
  • ปฏิรูปโครงสร้างราคาแก๊สให้เหลือ 350 บาท

พรรคไทยสร้างไทย - ตรีรัตน์ ศิริจันทโรภาส กล่าวว่า รัฐบาลยุคนี้บริหารประเทศผิดพลาด ดำเนินนโนบายผิดพลาดในเรื่องพลังงาน ใช้ประชาชนเป็นเครื่องมือในการขูดรีดค่าพลังงาน กฟผ. ผลิตไฟฟ้าแค่ 30% ซื้อจากคนอื่น 70% เป็นแผน PDP ที่ผิดพลาด

และบอกด้วยว่า ไทยสร้างไทยก็ไม่เคยรับเงินจากนายทุนคนไหน

ข้อเสนอ

  • สนับสนุนให้ภาคครัวเรือนติดโซลาร์เซลล์ ผลิตไฟฟ้าใช้เอง
  • ลดการขออนุญาตตั้งโรงงานไฟฟ้าที่มีมากเกินไป ทำได้โดยต้องไม่ต่อใบอนุญาต ลดจำนวนซัพพลาย
  • การขอใบอนุญาตในการติดตั้งโซลาร์รูฟนั้นยังจุกจิกในเรื่องการยื่นขอต่อหน่วยงานต่างๆ ต้องขจัดอุปสรรคในการขอติดตั้งโซลาร์รูฟ ลดอุปสรรคทางด้านกฎหมาย
  • ถ้าได้เป็นรัฐบาลจะลดค่าไฟทันทีเหลือ 3.50 นำระบบปรสิตที่เอื้อนายทุนออกไปจากประเทศไทย

พรรคก้าวไกล - ดร.เดชรัต สุขกำเนิด นำเสนอเรื่องการติดตั้งโซลาร์รูฟ การซื้อ-ขายไฟฟ้าที่เป็นธรรม นำนโยบาย Net Metering มาใช้ให้เร็วที่สุด ด้วยการเสนอสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้ครัวเรือนติดตั้ง Solar cell และเป็นผู้ผลิตร่วมแบ่งรายได้กับรัฐ สนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้า ปรับโครงสร้างราคาน้ำมัน ปรับสูตรราคาแก๊สธรรมชาติ ลดค่าความพร้อมจ่าย แก้ปัญหาโรงไฟฟ้าล้นเกิน ปรับการพยากรณ์ไฟฟ้าเกินจริง และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก