posttoday

รัฐบาลตื่นยอมรับภัยอาชญากรรมทางเทคโนโลยีในประเทศอยู่ในขั้นวิกฤต

22 กุมภาพันธ์ 2566

โฆษกรัฐบาลรับภัยเทคโนโลยีอยู่ในขั้นวิกฤต นายกฯสั่งหน่วยงานเกี่ยวข้องแก้ปัญหา เชื่อมั่นร่างพ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ... จะเป็นเครื่องมือสำคัญช่วยพัฒนาป้องกัน ควบคุมบริการธุรกรรมออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชันสถาบันการเงิน

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามและแก้ไขปัญหาอาชญากรรมไซเบอร์ของไทยที่สร้างความเสียหายให้ประชาชนคนไทยเพิ่มขึ้นทุกปี เชื่อมั่นว่าเมื่อร่างพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.... มีผลบังคับใช้จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการป้องกันความเสียหายที่เกิดขึ้น โดยธนาคารสามารถระงับธุรกรรมที่ผิดปกติ หรือต้องสงสัยได้ทันที

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากสถิติการรับแจ้งความออนไลน์ตั้งแต่ 1 มีนาคม 2565 – 6 กุมภาพันธ์ 2566 มีการแจ้งความอาชญากรรมทางเทคโนโลยี จำนวนทั้งสิ้น 192,031 คดี เท่ากับมีสถิติคดีแจ้งความประมาณ 1,000 รายต่อวัน มูลค่าความเสียหาย 29,546,732,805 บาท สามารถติดตามอาญัติบัญชี 65,872 บัญชี อายัดได้ทัน 445,265,908 บาท มีผู้เสียหายสูงสุดมูลค่าถึง 100 ล้านบาท จึงเป็นสถานการณ์ขั้นวิกฤต ส่วนรูปแบบกลโกงของมิจฉาชีพ 5 อันดับแรก ได้แก่ 1) การหลอกลวงซื้อสินค้า 2) การโอนเงินหารายได้พิเศษ 3) การหลอกให้กู้เงิน 4) คอลเซ็นเตอร์ และ 5) การหลอกให้ลงทุน 

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้พิจารณาแนวทางดำเนินการเพื่อแก้ไข ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติร่วมกับกระทรวงดีอี เสนอออกพระราชกำหนดปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เพิ่มอำนาจในการสืบสวนสอบสวนให้มีประสิทธิภาพพร้อมประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรู้เท่าทัน ซึ่งการร่วมมือของภาครัฐและภาคเอกชน (Public Private Partnership PPP) เป็นการบูรณาการความร่วมมือเพื่อเป็นเครือข่ายในการยับยั้ง ป้องกัน และสร้างภูมิคุ้มกัน (Cyber Vaccine) แก่ประชาชนเพื่อให้รู้เท่าทันกลโกงของมิจฉาชีพ ล่าสุดได้ร่างพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ... ซึ่งคาดการณ์ว่าจะมีผลบังคับใช้ภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้

นอกจากนี้ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ผู้ให้บริการสัญญาณโทรศัพท์มือถือ และ NT ผู้ให้บริการโซเชียลมีเดีย ได้ร่วมกันดำเนินการ ดังนี้ ตรวจสอบปิดไลน์ปลอมของธนาคาร ควบคุมและจัดการ ชื่อผู้ส่ง SMS (SMS Sender) ปลอม ปิดกั้น URL ที่เป็นอันตราย พร้อมทั้งหารือแนวทางกับธนาคารสมาชิก พัฒนาระบบความปลอดภัยแชร์เทคนิคและแนวทางการป้องกันภัย เช่น พัฒนาการป้องกันและควบคุมบริการธุรกรรมออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชันของสถาบันการเงิน (Mobile Banking Application) กรณีมือถือมีการเปิดใช้งาน Accessibility Service เพิ่มระบบการพิสูจน์ตัวตน (Authentication) ด้วย Biometrics Comparison เช่น ลายนิ้วมือ รูม่านตา และโครงสร้างใบหน้า เป็นต้น

“นายกรัฐมนตรีคำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชนในการใช้เทคโนโลยี ซึ่งปัจจุบันเป็นเรื่องใกล้ตัว และเกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตประจำวัน จึงได้สั่งการกำชับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งดำเนินงานปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีนี้ เพื่อให้พี่น้องประชาชนคนไทย ไม่ตกเป็นเหยื่อการฉ้อโกงและหลอกลวงผ่านสื่อออนไลน์ในทุกรูปแบบ โดยร่าง พ.ร.ก. มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีนี้ จะเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการป้องกันความเสียหายแก่ประชาชนนี้” นายอนุชาฯ กล่าว