posttoday

'ชลน่าน'ชี้เพิ่มเงินอบต.เสี่ยงผิดกฎเหล็ก 180วัน

10 กุมภาพันธ์ 2566

'ชลน่าน ศรีแก้ว' หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ยินดีอบต.ได้เงินเพิ่ม แต่ตั้งข้อสังเกต เลขานายกฯ รีบอนุมัติปรับขึ้นช่วงใกล้เลือกตั้ง เสี่ยงผิดกฎเหล็ก 180 วัน เนื่องจากผู้อนุมัติเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองและนายกฯมีฐานะเป็นสมาชิกพรรค เอื้อต่อคะแนนความนิยม

เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2566 นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่สมาคม อบต.แห่งประเทศไทย เข้าพบนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เลขาธิการนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ เพื่อติดตามความคืบหน้าการขอปรับขึ้นค่าตอบแทนของ อบต.ซึ่งกระทรวงมหาดไทยเตรียมอนุมัติเห็นชอบ จะเป็นการหาเสียงหรือไม่ว่า ขอแสดงความยินดีกับท้องถิ่นที่มีโอกาสได้รับการปรับขึ้นค่าตอบแทน  พรรคไม่ต้องการปิดกั้นหรือขวางกั้นในสิ่งที่ท้องถิ่นพึงมี หรือพึงได้  เรายินดีส่งเสริม เพราะพรรคเพื่อไทยก็มีนโยบายกระจายรายได้ กระจายงบประมาณไปยังท้องถิ่นอยู่แล้ว  

แต่ขอตั้งข้อสังเกตว่าเหตุใดข้อเสนอการขอปรับขึ้นค่าตอบแทนดังกล่าวที่ถูกเรียกร้องมานานหลายปี ต้องรีบอนุมัติในนามของเลขาธิการนายกรัฐมนตรีที่นำเสนอต่อนายกรัฐมนตรี  ทั้งที่เป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งมีระเบียบรองรับอยู่แล้ว  และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยก็ขานรับ  แต่จะเกี่ยวเนื่องกับการหาเสียงหรือการเมืองหรือไม่ ขอย้ำว่าการใช้อำนาจหน้าที่ในการปฎิบัติหน้าที่ราชการในช่วงที่มีกฎหมายประกาศชัดเจน 180 วันก่อนหมดวาระของอายุสภาผู้แทนราษฎร  ซึ่งในช่วงนี้จะเหมือนกับช่วงเวลาของการมีพระราชกฤษฎีกาการเลือกตั้ง  มีข้อที่พึงระวังในการหาเสียงเลือกตั้ง หมายความว่าแม้หาเสียงในช่วงเวลานี้ได้  แต่มีข้อห้าม เช่น ห้ามให้ ห้ามเสนอให้ ห้ามใช้ทรัพยากรของรัฐ ดำเนินการเข้าข่ายหาเสียงเลือกตั้ง รวมไปถึงห้ามใช้เวลา ห้ามใช้เครื่องมือ ห้ามใช้อุปกรณ์หรือตำแหน่งหน้าที่ หรืองบประมาณ  ซึ่งต้องดูว่าการกระทำดังกล่าวเอื้อต่อการได้มาซึ่งคะแนนความนิยมหรือไม่ 

ทั้งนี้ ส่วนตัวเชื่อว่าหากมีการปรับขึ้นค่าตอบแทนของ อบต.ในรัฐบาลนี้  จะใช้เม็ดเงินงบประมาณจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเองในหมวดหมู่ค่าจ้าง  ค่าตอบแทนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละระดับเอง  ไม่ใช่เม็ดเงินของรัฐบาลที่อุดหนุนให้  โดยต้องไปดูว่าแม้จะมีระเบียบรองรับ แต่ท้องถิ่นสามารถจ่ายได้หรือไม่  โดยเฉพาะงบประมาณปี 2566 ที่สภาผู้แทนราษฏรอนุมัติผ่านแล้ว มีการระบุเม็ดเงินชัดเจน ท้องถิ่นแต่ละแห่งได้รับงบประมาณไปเท่าไหร่ งบประมาณมาจากส่วนไหน ซึ่งมีการระบุชัดของแหล่งที่มาของเม็ดเงินนั้น การปรับขึ้นค่าตอบแทนของ อบต.ในอัตราดังกล่าวต้องไปดูศักยภาพในการจ่ายและรายละเอียดของแต่ละท้องถิ่นตามข้อเท็จจริง รวมทั้งระเบียบและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องด้วย  

“แต่หากจะมีบุคคลไปร้องให้ตรวจสอบ จะเป็นการตรวจสอบการใช้อำนาจหน้าที่รัฐของเจ้าหน้าที่รัฐว่าทำโดยชอบหรือไม่  ฝากไปถึงผู้มีอำนาจ โดยเฉพาะเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ที่มีฐานะหัวหน้าพรรคการเมือง นายกรัฐมนตรีเองก็มีฐานะเป็นสมาชิกพรรคการเมือง  เป็นว่าที่แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคการเมือง  การกระทำอะไรที่เป็นการใช้อำนาจและหน้าที่ของตัวเอง  แม้จะไม่เกี่ยวกับตัวเอง แต่มีเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกระทำให้ ล้วนไม่เหมาะสม เช่น ป้ายใหญ่ๆ ที่มีรูปของหัวหน้าพรรคการเมือง รูปของบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการเมืองปรากฏอยู่ แล้วอ้างว่าเป็นนโยบาย  มีการขึ้นป้ายหัวหน้าพรรคการเมืองเอง  อาจจะไม่สามารถถูกกล่าวหาได้ว่าเขาได้กระทำการ  แต่ส่วนราชการประจำที่เกี่ยวข้อง ต้องไปดูข้อกฎหมายว่าการกระทำลักษณะนี้เหมาะสมหรือไม่  เข้าข่ายสุ่มเสี่ยงต่อเจตนาให้สำหรับใครบางคน  หรือพรรคการเมืองบางพรรคหรือไม่  มีการใช้งบประมาณของรัฐที่มีลักษณะบ่งชี้ว่า  มีส่วนได้เสียหรือได้มาซึ่งคะแนนนิยมหรือไม่ หากทำได้อาจเข้าข่ายการใช้หน้าที่ และอำนาจหน้าที่มิชอบได้” นายแพทย์ชลน่าน กล่าว