posttoday

'สรวิศ'โฆษกศาลยุติธรรมย้ำยึดหลักนิติรัฐ-นิติธรรมคดีทานตะวัน-แบม

03 กุมภาพันธ์ 2566

สรวิศ ลิมปรังษี โฆษกศาลยุติธรรมเเจงขั้นตอนปล่อยชั่วคราว-ถอนประกันคดีทานตะวัน-เเบม ยันใช้ดุลพินิจ อิสระของผู้พิพากษา ปราศจากการแทรกแซงเป็นไปตาม รธน. นิติรัฐ-นิติธรรม

เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 นายสรวิศ ลิมปรังษี โฆษกศาลยุติธรรม ได้เเถลงข่าวถึงข้อเท็จจริงและแนวทางการพิจารณาและการยกเลิกการปล่อยชั่วคราว น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือตะวันและน.ส.อรวรรณ หรือ แบม ภู่พงษ์ ผู้ต้องหาในคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เพื่อให้ประชาชนมีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของศาลยุติธรรม โดยเฉพาะกระบวนการปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญา ศาลยุติธรรมขอแจ้งให้ทราบ ดังนี้

ศาลยุติธรรมมีหน้าที่ตามกฎหมายในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของผู้เสียหาย ผู้ต้องหา และจำเลยในคดีอาญา ควบคู่ไปกับการรักษาความสงบเรียบร้อยในสังคม การพิจารณาปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลย ศาลจะดำเนินการตามหลักเกณฑ์ของรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และหลักนิติธรรม ภายใต้มาตรฐานเดียวกันทุกคดี และศาลถือหลักการไม่ปล่อยชั่วคราวเป็นข้อยกเว้น ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ตลอดจนข้อบังคับของประธานศาลฎีกาว่าด้วยการปล่อยชั่วคราวและวิธีเรียกประกันในคดีอาญา พ.ศ. 2565 ซึ่งกำหนดให้ศาลต้องพิจารณาปัจจัยต่าง ๆ เช่น ความหนักเบาแห่งข้อหา พยานหลักฐานที่ปรากฏ พฤติการณ์แห่งคดี ตลอดจนภัยอันตรายหรือความเสียหายที่จะเกิดจากการปล่อยชั่วคราว การพิจารณาอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว และการกำหนดเงื่อนไขอย่างใดในแต่ละคดีเป็นการใช้ดุลพินิจโดยอิสระขององค์คณะผู้พิพากษาตามกฎหมายภายใต้หลักประกันความอิสระของ ฝ่ายตุลาการ ตามมาตรา 188 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งศาลมีระบบตรวจสอบและป้องกัน การแทรกแซงการทำหน้าที่ขององค์คณะผู้พิพากษาที่เข้มแข็ง ในระบบศาลยุติธรรมไม่มีผู้ใดมีอำนาจสั่งการองค์คณะผู้พิพากษาในการวินิจฉัยคดีได้

เมื่อมีการขอปล่อยชั่วคราว และเข้าเกณฑ์ที่จะอนุญาต ศาลจะมีคำสั่งปล่อยชั่วคราว โดยวางเงื่อนไขหรือวิธีการที่เหมาะสมและได้สัดส่วนกับพฤติการณ์ให้ผู้ต้องหาปฏิบัติในระหว่างที่ได้รับการปล่อยชั่วคราวตามที่กฎหมายบัญญัติ เช่น การกำหนดข้อห้ามไม่ให้ทำกิจกรรมบางอย่าง การห้ามเข้าหรือห้ามออกจากสถานที่ การแต่งตั้งผู้กำกับดูแล การใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว (กำไล EM) หรือการเรียกหลักประกัน เป็นต้น
   
โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวต่อว่า ดุลพินิจของศาลในการสั่งคดี มีการตรวจสอบตามลำดับชั้นศาลในทางวิธีพิจารณาคดี คดีนี้ หากศาลอาญาไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ผู้ต้องหาก็มีสิทธิที่จะยื่นอุทธรณ์คำสั่งไปยังศาลอุทธรณ์ได้
    
กรณีนางสาวทานตะวัน พนักงานสอบสวนได้ยื่นคำร้องขอฝากขังครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2565 ศาลอาญามีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว โดยกำหนดเงื่อนไขห้ามมิให้ผู้ต้องหากระทำการในลักษณะแบบเดียวกับที่ถูกกล่าวหา หรือเข้าร่วมในกิจกรรมใด ๆ ที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง หรือทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และให้ติดกำไล EM (โดยความยินยอมของผู้ต้องหา) คำสั่งศาลอาญานี้ เป็นกรณีที่ศาลเห็นว่า คดีมีเหตุที่จะออกหมายขังได้ตามกฎหมาย แต่สมควรอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวโดยกำหนดเงื่อนไขให้นางสาว ท. ปฏิบัติ เพื่อป้องกันความเสี่ยงในการไปก่อเหตุต่าง ๆ ดังที่กล่าวมาข้างต้น
   
ต่อมาวันที่ 18 มี.ค. 2565 พนักงานสอบสวน สน.นางเลิ้ง ยื่นคำร้องขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งที่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว เนื่องจากปรากฏข้อเท็จจริงว่า น.ส.ทานตะวัน ได้ทำกิจกรรมที่เข้าข่ายเป็นการผิดเงื่อนไข ศาลไต่สวนแล้วพบว่าปฏิบัติผิดเงื่อนไขจริง จึงมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว
  
วันที่ 20พ.ค. 2565 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคก้าวไกล ใช้ตำแหน่งยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวโดยนางสาวทานตะวันและนายพิธายืนยันรับที่จะปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ศาลกำหนดทุกประการ ศาลจึงมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวอีกครั้ง โดยกำหนดเงื่อนไขห้ามออกนอกเคหสถาน เว้นแต่เป็นกรณีเจ็บป่วยหรือได้รับอนุญาตจากศาล ห้ามทำกิจกรรมในลักษณะเดียวกันกับที่ถูกกล่าวหา ให้ติดกำไล EM (โดยความยินยอมของผู้ต้องหา) และให้ตั้งนายพิธาเป็นผู้กำกับดูแลนางสาวทานตะวันเงื่อนไขที่ศาลกำหนดดังกล่าว 

ศาลกำหนดให้ใช้แก่คดีต่าง ๆ มามากแล้ว มิใช่เจาะจงใช้เฉพาะแก่คดีนี้หรือคดีกลุ่มนี้ และเป็นการกำหนดตามที่กฎหมายบัญญัติ เช่น การติดกำไล EM ก็ดำเนินการภายใต้ความยินยอมของผู้ต้องหาให้ติดได้ การห้ามออกนอกเคหสถานหรือห้ามกระทำการในลักษณะเดียวกันกับที่ถูกกล่าวหา ก็เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการปล่อยชั่วคราว (ม.108 วรรคสาม)

แม้นางสาวทานตะวันจะยินยอมสวมกำไล EM และยอมรับเงื่อนไขห้ามออกนอกเคหสถาน แต่ก็ได้รับอนุญาตจากศาลให้ไปทำกิจธุระหรือแม้แต่การไปเที่ยวพักผ่อนได้ตามสมควร ซึ่งนางสาวทานตะวันได้ขออนุญาตศาลไปทำกิจธุระรวม 19 ครั้ง ศาลอาญาได้พิจารณาอนุญาตถึง 14 ครั้ง เช่น นำคอมพิวเตอร์ไปซ่อม ทำบัตรประจำตัวประชาชน ตัดชุดกระโปรงนักศึกษา ซื้อเอกสารประกอบการเรียน ไปเที่ยวจังหวัดระยอง เล่นบอร์ดเกม ฉลองหลังสอบเสร็จ ชมงานศิลปะ โดยศาลไม่อนุญาตเพียง 5 ครั้ง ด้วยเหตุกิจกรรมที่ขออนุญาตไปดำเนินการ มีลักษณะที่จะผิดเงื่อนไขในการปล่อยชั่วคราว
   
สำหรับประเด็นเรื่องการนัดไต่สวนกรณีผิดเงื่อนไขการปล่อยชั่วคราวของนางสาว ท. นั้น เป็นเรื่องที่ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาไปตามหลักเกณฑ์ของกฎหมาย โดยการคุมขังหรือปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหา นอกจากศาลต้องให้ความสำคัญกับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของผู้ต้องหาแล้ว ยังต้องคำนึงถึงการคุ้มครองความสงบเรียบร้อยของสังคมควบคู่กันไปด้วย ซึ่งในคดีที่มีการอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวแล้วปรากฏข้อเท็จจริงว่า ผู้ต้องหาไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ศาลกำหนด ศาลย่อมมีอำนาจใช้ดุลพินิจดำเนินการไต่สวนเพื่อให้ทราบว่าผู้ต้องหามีพฤติการณ์เช่นนั้นจริงหรือไม่ และสมควรที่จะเพิกถอนการปล่อยชั่วคราวหรือไม่ทุกคดีไป  

ในกรณีของนางสาวทานตะวันศาลนัดไต่สวนเพื่อพิจารณาเรื่องการผิดเงื่อนไขการปล่อยชั่วคราววันที่ 1 มี.ค. 2566 แต่เมื่อวันที่ 16 ม.ค. 2566 นางสาวทานตะวันและนางสาวอรวรรณยื่นคำร้องขอยกเลิกการปล่อยชั่วคราวตนเอง ศาลอาญาจึงมีคำสั่งไปตามที่ผู้ต้องหาประสงค์ เพราะพฤติการณ์ตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏเข้าเกณฑ์เป็นกรณีผู้ต้องหาแสดงเจตนาว่าไม่อาจปฏิบัติตามเงื่อนไขของการปล่อยชั่วคราวตามที่ผู้ต้องหาและผู้กำกับดูแลรับรองกับศาลไว้ได้ อันเป็นเงื่อนไขสำคัญที่มีขึ้นเพื่อป้องกันภัยอันตรายหรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการปล่อยชั่วคราวตามกฎหมาย เมื่อมีการยกเลิกการปล่อยชั่วคราวและศาลมีคำสั่งออกหมายขังแล้ว จึงไม่ต้องมีการไต่สวนอีก  
   
ศาลยุติธรรมขอย้ำว่า กระบวนการไต่สวนและการมีคำสั่งออกหมายขังหรือปล่อยชั่วคราว เป็นการใช้ดุลพินิจโดยอิสระของผู้พิพากษา ปราศจากการแทรกแซงใด ๆ ทั้งเป็นไปภายใต้รัฐธรรมนูญและกฎหมาย โดยข้อเท็จจริงในลักษณะเดียวกันก็จะมีการพิจารณาดำเนินการไปในแนวทางและมาตรฐานเดียวกันทุกคดี  ทั้งนี้ เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปโดยเสมอภาคและเป็นธรรม อันจะดำรงไว้ซึ่งหลักความเป็นนิติรัฐและนิติธรรมต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับในวันนี้นอกจากจะมีสื่อมวลชน มาร่วมฟังการเเถลงข่าวยังมีนาย กฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความผู้ต้องหาเเละจำเลย พร้อมด้วยนักกิจกรรมทางการเมืองที่ต้องคดีชุมนุม รวมถึงมาตรา 112 เเละมาตรา116 มาร่วมฟังเเถลงข่าว รวมถึงถามข้อซักถาม
   
ภายหลัง นายสรวิศ กล่าวว่าในการพิจารณาคดีของศาลจะต้องมีข้อเท็จจริงเข้ามาในสำนวนคดี เชื่อว่าศาลมีความพร้อมที่จะพิจารณาเพื่อที่จะมีคำสั่ง ส่วนข้อเรียกร้องที่จะให้มีการปล่อยนักโทษทางการเมืองทุกคนก่อนที่จะเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้นกับตะวันและแบมจะมีทางออกอย่างไรได้บ้างนั้น คิดว่าในคดี 112 ปัจจุบันมีในศาลอาญามีการปล่อยชั่วคราวเกือบทุกคดีมีเพิกถอนปล่อยชั่วคราว3คดี เนื่องจากมีการกระทำผิดเงื่อนไขอีกสองคดีเป็นคดีที่มีคำพิพากษาของศาลชั้นต้นแล้วทั้งสามคดีนี้ไม่รวมคดีของตะวันและแบมที่ยื่นขอถอนประกันตัวเอง ที่ศาลไม่อนุญาตให้ประกันเลยมีแค่คดีเดียวแต่อีกส่วนที่มีปัญหาคือเป็นคดี 112บวกกับความผิดข้อหาอื่นเพิ่มเข้าไปด้วยเช่นวางเพลิงวัตถุระเบิดซึ่งมีหลายคดีแต่ละคดีซึ่งจะเห็นว่าพฤติการณ์แต่ละคดีจะไม่เหมือนกันถ้าเฉพาะมาตรา 112ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ถ้ารวมข้อหาวางเพลิงมีวัตถุระเบิดต่อสู้ขัดขวางก็จะต้องแยก
   
เมื่อถามว่าคดีเหล่านี้เป็นเพียงแค่ข้อกล่าวหาอยู่ยังไม่มีคำพิพากษาออกมาอย่างน้อยก็ควรให้โอกาสออกมาต่อสู้คดีจะทำได้หรือไม่
   
นายสรวิศ กล่าวว่าในคดีที่ราษฎรฟ้องจะต้องมีการไต่สวนมูลฟ้องก่อนแต่คดีที่อัยการฟ้องผ่านการสอบสวนผ่านการสอบสวนของทั้งตำรวจและอัยการมาแล้วเปรียบเทียบ เพราะอย่างน้อยมีข้อเท็จจริงบางอย่างที่แสดงว่าเหตุที่เกิดมันเป็นไปได้ว่าจะมีการกระทำละเมิดกฏหมายศาลจึงจำเป็นต้องดูบริการแต่ละเรื่องประกอบด้วยเมื่อถามว่าการออกเงื่อนไขที่ห้ามกระทำความผิดซ้ำโดยที่ศาลยังไม่ได้พิพากษาว่าการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดสามารถทำได้หรือไม่ 
  
โฆษกศาลฯกล่าวว่า ในส่วนเงื่อนไขดังกล่าวตนขอย้ำว่าการวางเงื่อนไขเป็นไปตามกฎหมายปัจจุบันที่ระบุว่ายังการกระทำนั้นยังเป็นความผิดอยู่ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่สอดคล้องกับกฎหมายอยู่แล้ว ในส่วนที่มีการถามว่าข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นกับข้อเท็จจริงที่ถูกตั้งข้อหาทางการเมืองไม่เหมือนกัน
   
นายสรวิศ กล่าวว่า ก็เป็นไปได้เป็นเรื่องปกติในสังคมประชาธิปไตย ส่วนข้อเรียกร้องที่ขอให้ปล่อยผู้ต้องขังคดีการเมืองทุกคดีออกมาต่อสู้คดีนั้นตนไม่สามารถตอบแทนท่านผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนนั้นๆได้อย่างที่เคยบอกไว้ว่าพฤติการณ์แต่ละคดีไม่เหมือนกัน
   
ส่วนที่มีคำถามว่ามีเจ้าหน้าที่ศาลโทรมาบังคับให้ยอมรับเงื่อนไขติดกำไล EMในการขอประกันตัวนั้น
   
นายสรวิศกล่าวว่าตนไม่มั่นใจว่าคนที่โทรศัพท์ไปนั้นเป็นใครไม่รู้สำนวนไหนถ้ามีข้อมูลสามารถแจ้งมาได้แต่สุดท้ายเจ้าหน้าที่ไม่มีอำนาจออกคำบังคับในวันที่แต่วันที่มีผลก็คือวันที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยได้พบกับศาลซึ่งก็จะมีทนายความอยู่ในห้องพี่นาคดีอยู่ด้วยเงื่อนไขการพิจารณาเกี่ยวกับการให้ประกันก็ต้องอยู่ในห้องพิจารณาคดีตอนนั้นถ้ามีข้อเท็จจริงที่ไม่สอดคล้องกับกฎหมายก็สามารถคำชี้แจงหรือแถลงเข้ามาในคดีได้
   
ด้านกฤษฎางค์ ทนายความศูนย์สิทธิมนุษยชนถามว่าข้อเรียกร้องในการปฏิรูปการพี่นาคดีของศาลในคดี 112 จะเป็นรูปธรรมหรือไม่
   
นายสรวิทย์กล่าวว่าที่ผ่านมาศาลมีการเปลี่ยนแปลง ตามกฏหมายมาตลอดตั้งแต่ปี2540 เมื่อก่อนนั่งพิจารณาคดีคนเดียว จนมานั่งพิจารณาคดีครบองค์คณะสองคนศาลมีการเปลี่ยนแปลงการปฏิบัติตามกฏหมายตลอดที่บอกว่าให้ปฏิรูปหรือทำเป็นรูปธรรม จะทำแบบไหนอย่างไร แต่ละคนก็มีความคิดที่หลากหลายซึ่งทางศาลก็พร้อมที่จะรับฟัง แต่ต้องเป็นในรูปแบบการจัดเวทีหรือคนการรับฟังความเห็นที่มาร่วมพูดคุยกันอีกครั้งนึงเพราะว่าคำเดียวกันแต่ละคน เเต่ละคนก็อาจมีความเห็นแตกต่างกันในโอกาสที่เหมาะสม
   
เมื่อถามถึงเรื่องการพิจารณาสั่งคดีขององค์คณะปราศจากการแทรกแซงของผู้บริหารศาลจริงหรือไม่
   
โฆษกศาล กล่าวว่ายืนยันว่าการพิจารณาทุกคดีของศาลเป็นอิสระปราศจากการแทรกแซงส่วนเรื่องการให้คำปรึกษาของอุณหภูมิบริหารนั้นเป็นการให้คำแนะนำไม่ใช่เรื่องของการสั่งการหรือแทรกแซงคดีนอกจากนี้ศาลยังมีคณะกรรมการตุลาการ เป็นหลักคุ้มครองความอิสระของผู้พิพากษา ซึ่งมีการดำเนินการทางวินัยเป็นกลไกในการบังครับอยู่แล้ว
   
เมื่อถามถึงกรณีศาลอนุมัติคำสั่งให้ถอดกำไลอีเอ็มขณะปล่อยตัวชั่วคราว ของ พิงกี้-สาวิกา ไชยเดช นักแสดง และจำเลยที่ 7 คดีฉ้อโกงแชร์ FOREX-3D นั้น มีความเกี่ยวเนื่องมาสู่การอนุญาตถอดกำไลอีเอ็มของจำเลยคดีการเมืองอีกหลายรายตามมาหรือไม่ 
   
นายสรวิศ ชี้แจงว่า การเปลี่ยนเงื่อนไขของการประกันตัวชั่วคราว สามารถกำหนดให้สอดคล้องกับคดีแต่ละขณะ ก่อนปลดกำไลอีเอ็มใน พิงค์กี้ ได้มีการทำแบบทดสอบการเคลื่อนไหวของกำไลมาประกอบก่อน ว่าพฤติการณ์น่าเป็นห่วงหรือไม่ พร้อมย้ำว่าเป็นเพียงการปลดอีเอ็มชั่วคราว
   
ด้าน น.ส.เนติพร เสน่ห์สังคม หนึ่งในสมาชิกกลุ่มทะลุวัง ถามว่าศาลได้มีการส่งข้อมูลการเคลื่อนที่ของกำไลอีเอ็มที่ติดตัวนักกิจกรรมให้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจทราบหรือไม่ เนื่องจากที่ผ่านมานักกิจกรรมได้รับโทรศัพท์จากตำรวจเพื่อแจ้งว่า ขณะนี้รู้ว่าอยู่ที่ไหน แล้วตำรวจได้ข้อมูลได้อย่างไร 
   
โฆษกศาลฯ กล่าวว่า คงไม่ใช่ เพราะข้อมูลของกำไลอีเอ็มใช้เฉพาะในกิจการของศาล และไม่สามารถตอบได้ว่าตำรวจรู้ตำแหน่งของกำไลได้อย่างไร เพราะก็ไม่ค่อยเข้าใจกระบวนการทำงานภายในของตำรวจ