posttoday

กกต.พร้อมจัดเลือกตั้ง66 ไม่ว่าจะยุบสภาหรืออยู่ครบวาระ

01 กุมภาพันธ์ 2566

"กกต."ยันพร้อมจัดเลือกตั้งทั้งยุบสภา-ครบวาระ เตรียมเปิดรับฟังความเห็นประชาชนแบ่งเขตเลือกตั้ง 4-13 ก.พ.66 ก่อนประกาศเขตเลือกตั้งที่ชัดเจน ยึดเกณฑ์ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่ต่างกันไม่เกินร้อยละ 10 พร้อมเรียกพรรคการเมืองชี้แจงค่าใช้จ่าย-ไพมารีโหวต 8 ก.พ.66

ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) นายปกรณ์ มหรรณพ กรรมการการเลือกตั้ง ชี้แจงกรณีเกิดการวิพากษ์วิจารณ์ว่ากกต.ดอดพบรัฐบาลเพื่อขอเวลา 45 วันก่อนยุบสภาเพื่อเตรียมการก่อนการเลือกตั้ง ว่า เป็นเพียงการไปชี้แจงแผนงานของกกต. หลังกฎหมายลูกทั้ง 2 ฉบับมีผลบังคับใช้ เพราะที่ผ่านมา กกต.ได้ประสานงานกับรัฐบาลมาโดยตลอด ได้วางแผนเตรียมความพร้อมแบ่งเขตเลือกตั้งไว้เรียบร้อยแล้ว ซึ่งตั้งแต่วันที่ 1-3 ก.พ. ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดพิจารณารูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้งอย่างน้อย 3 รูปแบบ จากนั้นวันที่ 4-13 ก.พ. ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดปิดประกาศรูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้งเพื่อรับฟังความคิดเห็นของพรรคการเมืองและประชาชนในแต่ละพื้นที่ และวันที่ 14-16 ก.พ. ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดสรุปความเห็นและเสนอรูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้งมาให้กกต.พิจารณา โดยกกต.จะมีเวลาตั้งแต่วันที่ 20-28 ก.พ. เพื่อพิจารณารูปแบบการเลือกตั้งที่ชัดเจน ซึ่งกกต.จะพยายามให้เร็วที่สุด คาดว่าจะพิจารณาอย่างน้อย 4 วัน วันละ 100 เขต 

แต่ที่นายแสวง บุญมี เลขาฯกกต. ระบุว่า ขอเวลา 45 วันเป็นการคิดเผื่อพรรคการเมืองเพื่อให้มีเวลา 20 วันในการส่งผู้สมัครเลือกตั้งอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยวันพุธที่ 8 ก.พ.นี้ กกต.จะเชิญทุกพรรคการเมืองมารับฟังเรื่องค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง และทำไพมารีโหวต พร้อมยืนยันว่า กกต.มีความพร้อมในการจัดการเลือกตั้ง ทั้งในกรณียุบสภาจะมีเวลา 60 วัน แต่ถ้าอยู่ครบวาระจะมีเวลา 45 วันในการเตรียมจัดการเลือกตั้ง แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าการเลือกตั้งจะจัดขึ้นได้เมื่อใด เพราะต้องรอให้มีกฤษฎีกาประกาศการเลือกตั้ง พร้อมกับขอบคุณนายกรัฐมนตรีที่บอกว่าไม่ก้าวล่วงการทำหน้าที่ของ กกต. เพราะทำให้เห็นว่าการทำงานเป็นสิ่งที่ออกมาในรูปแบบที่ดี

ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตถึงการแบ่งเขตจากจำนวนราษฎรนั้น นายปกรณ์ กล่าวว่า กกต.จะ ยึดตามประกาศสำนักทะเบียนกลางของกระทรวงมหาดไทย เรื่องจำนวนราษฎรทั่วราชอาณาจักรตามหลักฐานการทะเบียนราษฎร ซึ่งจะมีการแยกประเภทราษฎรผู้ที่มีสัญชาติไทย และไม่มีสัญชาติไทยทั้งชายและหญิง แต่ราษฎรทุกคนไม่ใช่ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง โดยยืนยันว่า กกต.แบ่งเขตการเลือกตั้งตามกฎหมาย ส่วนที่มีสื่อพาดหัวข่าววิจารณ์ว่าการแบ่งเขตเลือกตั้งปีนี้อย่าให้สกปรกเหมือนการเลือกตั้งปี 2562 ตนยืนยันว่า การแบ่งเขตเลือกตั้งเมื่อปี 62 ชอบด้วยกฎหมาย การกล่าวหาว่าแบ่งเขตเป็นเส้นก๋วยเตี๋ยว ตนได้ไปตรวจสอบจุดเกิดเหตุที่จังหวัดสุโขทัย พบว่าดำเนินการอย่างถูกต้อง ความกว้างไม่ใช่เส้นก๋วยเตี๋ยวแต่กว้างเป็นกิโล

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบพบว่าทุกจังหวัดมีความพร้อมในการแบ่งเขตเลือกตั้ง โดยคำนึงถึงความสะดวกในการเดินทางและจำนวนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งในแต่ละเขตต่างกันไม่เกินร้อยละ 10 พร้อมย้ำว่า ประชาชนสามารถไปตรวจสอบการแบ่งเขตเลือกตั้งได้ที่สำนักงานกกต.ประจำจังหวัดตั้งแต่วันที่ 4-13 ก.พ.นี้ หากมีความเห็นต่างหรือต้องการคัดค้านสามารถยื่นเรื่องได้ที่ กกต.ประจำจังหวัดได้เลย