posttoday

เพื่อไทยหนุนข้อเรียกร้องปล่อย2นักศึกษา'ตะวัน-แบม'

31 มกราคม 2566

เพื่อไทยหนุนข้อเรียกร้องกลุ่มคณะราษฎรยกเลิก112 ปล่อย2นักศึกษา ตะวัน-แบม จี้แพทย์ดูแลนักเคลื่อนไหวทางการเมืองตามจริยธรรทแห่งวิชาชีพ เสนอแก้ไข ม.116 ป้องกันถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง

เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2566 ที่พรรคเพื่อไทย คณะราษฎรยกเลิก 112 ซึ่งเป็นแนวร่วมระหว่างกลุ่มทะลุวัง กลุ่มโมกหลวงริมน้ำ กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย และเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน ร่วมกันจัดกิจกรรมปราศรัย ด้านหน้าที่ทำการพรรคเพื่อไทย และยื่นหนังสือถึงหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ให้แสดงจุดยืนสนับสนุนข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ของ น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือ ทานตะวัน และน.ส.อรวรรณ ภู่พงศ์ หรือ แบม นักกิจกรรมที่ทำการอดอาหารและน้ำประท้วงอยู่ภายในเรือนจำ
 

เพื่อเรียกร้องสิทธิในการประกันตัวแก่นักโทษทางการเมืองทุกคน สำหรับข้อเรียกร้องนั้น ประกอบด้วย 1.ปล่อยตัวนักโทษทางการเมืองทุกคน 2.ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมให้ศาลเป็นอิสระปราศจากการแทรกแซง 3.พรรคการเมืองต้องมีนโยบายรับประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชน ด้วยการยกเลิกมาตรา 112 และมาตรา 116 อย่างชัดเจน
 

นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย กล่าวว่า การที่พรรคเพื่อไทยไม่กล้าแก้ไข หรือไม่ยอมแตะต้องมาตรา 112 เรียกได้ว่าเป็นการนำความเจ็บปวดมายังประชาชนคนเสื้อแดง ซึ่งทางกลุ่มเห็นว่าข้อเรียกร้องทั้งสามข้อนี้ เป็นปัญหาในกระบวนการยุติธรรม นับตั้งแต่รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 อำนาจตุลาการได้มีส่วนสำคัญในการยุบพรรคการเมือง ทำลายประชาธิปไตย ตัดสินคดีสองมาตรฐาน ลิดรอนสิทธิเสรีภาพราษฎร แม้แต่คนของพรรคเพื่อไทยเอง อย่างเช่น
 
นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ พันเอกอภิวันท์ วิยะชัย นายจารพงษ์ เรืองสุวรรณ นายสุนัย จุลพงศธร นายจักรภพ เพ็ญแข ซึ่งต่างเป็นแกนนำคนสำคัญของพรรคเพื่อไทย ยังถูกกล่าวหาตามมาตรา 112 จนต้องลี้ภัยไปด่างแดน ดังนั้น การยกเลิก มาตรา 112 จะเป็นหลักประกันสิทธิเสภาพให้กับประชาชนเป็นการคืนความยุติธรรมในการนำผู้ลี้ภัยการเมืองกลับมายังประเทศไทยและปล่อยนักโทษการเมือง

“ถ้ายังไม่มีการแก้ปัญหาเรื่อง ม.112 หากยังมีนักโทษการเมือง ยังมีการกดขี่เอาเปรียบประชาชนอยู่ พรรคเพื่อไทยจะกลายเป็นรัฐบาลแลนด์สไลด์ แบบไร้ความหมาย” นายสมยศ ระบุ

ขณะที่ แกนนำพรรคเพื่อไทย นำโดย นายภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรค นายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรค นายแพทย์พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช ประธานนโยบายพรรค นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรค นายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรค เป็นตัวแทนรับหนังสือจากทางผู้เรียกร้องก่อนหารือร่วมกัน

ทั้งนี้ ภายหลังร่วมหารือพรรคเพื่อไทย นายประเสริฐ แถลงถึงจุดยืนข้อเรียกร้องของเยาวชน จำแนกเป็น 3 ประเด็นหลัก คือ

1. พรรคเพื่อไทยขอแสดงความเคารพในการตัดสินใจ ความเสียสละในการต่อสู้อย่างเด็ดเดี่ยวของ น.ส.ตะวัน ตัวตุลานนท์ และ น.ส.อรวรรณ ภู่พงษ์ ในครั้งนี้ต่อการถอนประกันตัวเอง อดอาหารและน้ำของตะวันและแบม เรามีความห่วงใยในความปลอดภัยแห่งชีวิตของน้องนักศึกษาทั้ง 2 ซึ่งควรจะมีชีวิต เป็นกำลังสำคัญของครอบครัวและชาติบ้านเมืองต่อไป มีข้อฝากว่าแพทย์มีหน้าที่รักษาผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะที่เสี่ยงอันตรายถึงชีวิต แม้จะขัดต่อเจตนารมณ์และความยินยอมของผู้ป่วย ตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม ข้อบังคับแพทยสภา และพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม จึงไม่ได้หมายความว่าแพทย์จะสามารถปล่อยให้ผู้ป่วยสิ้นชีวิตไปได้ต่อหน้าต่อตา โดยมิได้ทำอะไรเลย

2. พรรคเพื่อไทยเห็นว่าสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยเฉพาะสิทธิในการประกันตัว ย่อมได้รับความคุ้มครอง เพราะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในกระบวนการยุติธรรมทั้งของไทย และนานาอารยประเทศ พรรคเห็นว่าการให้ประกันตัวผู้ต้องหาซึ่งเป็นนิสิต นักศึกษา และเป็นเพียงผู้เห็นต่างทางความคิดมิได้ก่ออาชญากรรมร้ายแรงใด ๆ ควรได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม คำนึงถึงสิทธิมนุษยชนและสิทธิเสรีภาพเป็นหลัก จึงถึงเวลาที่ควรจะได้มีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ

ดังเช่นที่พรรคเพื่อไทยได้เคยเสนอขอแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องสิทธิในการประกันตัวจะต้องเป็นหลัก การไม่ให้ประกันต้องเป็นข้อยกเว้น จะคุมขังผู้ต้องหาหรือจำเลยไว้เกินหนึ่งปีมิได้ และให้เพิ่มเติมสิทธิในกระบวนการยุติธรรมไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยเร่งด่วนในชั้นนี้เห็นว่าการที่ศาลไม่ให้ประกันตัว โดยเหตุผลที่ไม่สอดคล้องกับ ป.วิ.อาญา การถอนประกันโดยศาลเองโดยมิได้มีคำร้องจากฝ่ายใด เป็นเรื่องที่จะต้องทบทวน นอกจากนี้พรรคจะเสนอเลื่อนญัตติด่วนเรื่องการใช้กฎหมายที่ล้นเกินอันกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่ค้างอยู่ในสภาขึ้นมาพิจารณาในสัปดาห์นี้

3.ข้อเสนอเรื่องประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และมาตรา 116 นั้น พรรคเพื่อไทยเห็นว่า กรณีตามมาตรา 116 นั้น เป็นความผิดที่เรียกว่าการยุยง ปลุกปั่น เป็นกฎหมายที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองมากที่สุดจนถูกเรียกว่ากฎหมายครอบจักรวาล มีองค์ประกอบหรือการตีความได้กว้างขวาง การแก้ไข จึงน่าจะกระทำได้

ส่วนกรณีตามมาตรา 112 นั้น พรรคเห็นว่ามาตรานี้ บัญญัติขึ้นเพื่อคุ้มครองประมุขของรัฐควบคู่กับประวัติศาสตร์ของประเทศที่ยอมรับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข การแก้ไขใด ๆ มีความเห็นหลากหลายในสังคมและมีความแตกต่างกันในทางความคิดแบบสุดขั้ว อาจเรียกได้ว่าถึงขั้นเป็นปฏิปักษ์ต่อกันจนยากที่จะหาบทสรุป ที่เป็นไปในทางสันติและความสมานฉันท์ของคนในประเทศ

นอกจากนั้นการแก้ไขกฎหมายเป็นหน้าที่ของรัฐบาล และรัฐสภา ที่ควรจะเป็นองค์กรรับผิดชอบ ในชั้นนี้พรรคจึงเห็นว่าการปรึกษาหารือกันในแนวทางปฏิบัติของการบังคับใช้มาตรา 112 จะเป็นทางออกทางหนึ่งที่จะแก้ไขปัญหาได้ในเบื้องต้นและไม่อาจกระทำได้ โดยลำพังของพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งเท่านั้น และเห็นว่าควรสนับสนุนส่งเสริมผลักดันให้สังคม ได้ร่วมกันพิจารณาประเด็นนี้กันอย่างกว้างขวาง และหากมีผลเป็นข้อสรุปที่เป็นประโยชน์ ต่อสังคมเรายินดีสนับสนุนส่งเสริมให้เกิดผล