posttoday

'จุรินทร์' ถึงกรุงบรัสเซลส์ เตรียมถก FTA ไทย-อียู

25 มกราคม 2566

'จุรินทร์' รองนายกฯและรมว.พาณิชย์ ถึงกรุงบรัสเซลส์นำคณะ ถก FTA ไทย-อียู กับรองนายกสหภาพยุโรป หวังสร้างเงิน สร้างอนาคตให้ประเทศ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเวลา 9.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น วันที่ 25 มกราคม 2566 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์  จะเดินทางถึงกรุงบรัสเซลส์ ราชอาณาจักรเบลเยียม เพื่อนำคณะไปประชุมทวิภาคีกับสหภาพยุโรป หรือ อียู โดยจะมีการหารือนัดสำคัญระหว่างนายจุรินทร์ ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กับ H.E. Mr. Valdis Dombrovskis (นายวัลดิส โดมโบรฟสกิส) รองประธานคณะกรรมาธิการยุโรปด้านเศรษฐกิจและกรรมาธิการยุโรปด้านการค้า หรือรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าของสหภาพยุโรปในช่วงเย็นวันเดียวกัน 

ปัจจุบันสหภาพยุโรปมีสมาชิก 27 ประเทศ เป็นตลาดขนาดใหญ่เป็นลำดับ 2 ของโลก ประชากรรวมกันกว่า 447 ล้านคน และมี จีดีพี. กว่า 14.93 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือร้อยละ 18 ของจีดีพีโลก ในปี 2564 โดยสหภาพยุโรปเป็นคู่ค้าสำคัญลำดับที่ 5 ของไทย รองจากอาเซียน จีน ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ มีมูลค่าการค้าระหว่างกันในปี 2565 สูงถึง 41,038.06 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (1.46 ล้านล้านบาท) มีสัดส่วนการค้าคิดเป็นร้อยละ 6.95 นอกจากนี้สหภาพยุโรปยังเป็นนักลงทุนลำดับ 3 ของไทย รองจากญี่ปุ่น และจีน

การเดินทางมาประชุมกับสหภาพยุโรปของนายจุรินทร์ในครั้งนี้ถือเป็นการประชุมนัดสำคัญ อย่างยิ่งเพราะมีความจำเป็นที่รัฐมนตรีของทั้งสองฝ่ายที่เป็นผู้นำฝ่ายการเมืองจะมายืนยันเจตจำนงและความพร้อมในการทำ FTA ระหว่างกัน ก่อนที่แต่ละฝ่ายจะกลับไปดำเนินกระบวนการภายในต่อไปซึ่ง FTA ไทย-อียู ถือเป็นความหวังของภาคเอกชนไทยและนักธุรกิจต่างชาติที่ต้องการให้เร่งให้เกิดขึ้นโดยเร็วเพื่อสร้างโอกาสทางการค้า และการดึงดูดการลงทุนจากอียู รวมถึงลดความเสียเปรียบในการแข่งขันของไทยกับประเทศต่าง ๆ ที่มี FTA กับอียู โดยนายวัลดิส โดมโบรฟสกิส รองประธานคณะกรรมาธิการยุโรปด้านเศรษฐกิจและกรรมาธิการยุโรปด้านการค้าถือเป็นผู้มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการตัดสินใจเลือกประเทศที่สหภาพยุโรปจะเปิดเจรจา FTA ด้วย การพบกับนายวัลดิสของ นายจุรินทร์จะเป็นการส่งสัญญาณของไทยว่ามีพร้อมที่จะทำ FTA กับสหภาพยุโรป