posttoday

สหภาพฯรฟท. จี้ ผู้ว่าฯ แจงเหตุข้ามขั้นตอนประกวดราคา ทำราคาป้ายสูง 33 ลบ.

03 มกราคม 2566

ประธานสหภาพการรถไฟฯ ยื่นหนังสือถึงผู้ว่าฯ รฟท. ชี้แจงขั้นตอนประมูลปรับปรุง ป้ายชื่อสถานีกลางบางซื่อ โดยข้ามขั้นตอนประกวดราคาตามปกติ ทำให้เสียโอกาสได้ผู้เสนอราคาเปรียบเทียบ ดันราคาพุ่ง ด้านรองผู้ว่าการฯ ยันราคา 33 ล้านบาท เหมาะสมแล้ว เพราะต้องรือของเก่าออกทั้งหมด

จากกรณีการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้ลงนามในสัญญาจ้างบริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ UNIQ ในการปรับปรุงป้ายชื่อสถานีกลางบางซื่อเป็นสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ และ ตราสัญลักษณ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย มูลค่าโครงการ 33,169,726.39 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) จนทำให้สังคมเกิดการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมาก ว่าราคาดังกล่าวสูงเกินไปหรือไม่นั้น

 

เมื่อวานนี้ (3 ม.ค.66) ที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (หัวลำโพง) นำโดย นายสราวุธ สราญวงศ์ ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท) ได้เข้ายื่นหนังสือต่อ นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เพื่อขอให้ตรวจสอบกระบวนการว่าจ้างเอกชนเปลี่ยนป้ายชื่อ "สถานีกลางบางซื่อ" เป็น "สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์" และตราสัญลักษณ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย โดยวิธีเฉพาะเจาะจง โดยมีนายสุชีพ สุขสว่าง รองผู้ว่าฯ รฟท.เป็นผู้แทนรับหนังสือ
 

นายสราวุธ สราญวงศ์ ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท) เปิดเผยว่า มายื่นหนังสือเพื่อขอให้การรถไฟฯตรวจสอบกระบวนการว่าจ้าง เพราะว่า ปกติแล้วการรถไฟฯ จะมีกระบวนการตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้าง และการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 อยู่แล้ว

 

โดยการรถไฟฯ จะต้องประกาศหาบริษัทหลายรายเพื่อเข้าสู่การแข่งขันประมูลก่อน จากนั้นจึงไปสู่การประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-bidding แต่ในกรณีนี้กลับใช้วิธีที่สาม คือ วิธีระบุเฉพาะเจาะจง

 

ซึ่งการปรับปรุงเปลี่ยนป้ายชื่อรถไฟดังกล่าว มองว่ามีความจำเป็นก็จริง แต่ความจำเป็นเร่งด่วน คือ การให้บริการผู้โดยสาร แต่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ตรงนี้เป็นเรื่องของการรักษาผลประโยชน์ขององค์กร เพราะหากดำเนินการตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างฯ จะได้ราคาถูกมากกว่านี้ จึงต้องการให้การรถไฟฯช่วยตรวจสอบ

 

ทั้งนี้ ได้เข้าไปดูที่เว็บไซต์ของการรถไฟฯ พบว่า เอกสารมีการระบุ วิธีเฉพาะเจาะจง แต่รายละเอียดปริมาณงานต่างๆ ไม่พบเอกสารเพิ่มเติม ส่วนจะเข้าข่ายฮั้วหรือไม่นั้น ตนมองว่า โดยหลักการตรวจสอบความโปร่งใส ถ้ารักษาผลประโยชน์ขององค์กร มันจะมีการเสนอราคาแข่งกัน เพื่อให้ได้สิ่งที่ดีที่สุด และราคาที่เหมาะสมที่สุด

 

ทั้งนี้งบประมาณจำนวน 33 ล้านบาทเท่าที่ตนดูเอกสาร พบว่าเป็นการเปลี่ยนเฉพาะป้ายชื่อฝั่งตะวันออก และฝั่งตะวันตก จำนวน 56 ตัวอักษร รวมทั้งในส่วนของตราโลโก้ของการรถไฟฯ เฉลี่ยตัวละ 5.8 แสนบาท เป็นค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าความเป็นจริง

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อตรวจสอบเว็บไซต์ของบริษัทที่ได้รับให้ดำเนินการเปลี่ยนป้าย พบว่ามีให้บริการราคา ตั้งแต่ 10,000 กว่าบาทและสูงสุด 100,000 กว่าบาทต่อตัว แต่ราคาป้ายรถไฟในครั้งนี้สูงเกือบตัวละ 500,000 บาท ตนจึงไม่ทราบว่าวัสดุ หรือ มีสเปคอย่างไร

 

ในฐานะที่การรถไฟฯ เป็นรัฐวิสาหกิจ การใช้งบประมาณ จึงควรจะมีการชี้แจง และ ประกาศให้สาธารณะชนได้รับรู้ว่ามีการดำเนินการขั้นตอนอย่างไรบ้าง

 

นายสราวุธ กล่าวด้วยว่า จริงๆแล้ว ในส่วนของชื่อที่ได้รับการพระราชทานมาแล้ว ก็สามารถเปลี่ยนไปตามชื่อที่ได้รับพระราชทานได้ แต่ว่าในกระบวนการ ความจำเป็นเร่งด่วน มองว่าไม่จำเป็นต้องทำภายใน 30 - 45 วัน เพราะจะต้องมีกระบวน ตั้งแต่การประกวดราคา การกำหนดสเปค และเมื่อได้ผลสรุปแล้วจึงจะดำเนินการเพื่อเป็นประโยชน์ต่อการรถไฟแห่งประเทศไทยและสาธารณะชน เพื่อให้สังคมสามารถตรวจสอบได้ด้วย
 

ด้านนายสุชีพ สุขสว่าง รองผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รักษาการแทนผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย) กล่าวว่า ขณะนี้ทางการรถไฟแห่งประเทศไทยกำลังรวบรวมข้อมูลเพื่อชี้แจงต่อประชาชนอยู่ ตามคำสั่งของ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่ให้ชี้แจง ภายใน 7 วัน

 

พร้อมยืนยันว่า การเปลี่ยนป้ายในราคา 33 ล้าน มีความเหมาะสมแล้วกับลักษณะตัวอักษรที่มีขนาดใหญ่ รวมไปถึงการเปลี่ยนโครงสร้างเพื่อรองรับป้ายใหม่ด้วย เพราะว่าจะต้องนำป้ายของเก่าออกทั้งหมดก่อนรวมถึงตัวกระจกด้วย จึงจะสามารถนำป้ายใหม่มาติดได้