posttoday

“เฉลิมชัย”ดันพัฒนาประจวบฯ'มหานครสับปะรดโลก' 

21 ธันวาคม 2565

'อลงกรณ์' เผย 'เฉลิมชัย'ดันตั้ง”มหานครสับปะรด Pineapple Metropolice”ที่ประจวบคีรีขันธ์หลังไทยยืนแชมป์ด้านส่งออก

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีเกษตรและสหกรณ์และรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ได้รับมอบหมายจาก ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้เป็นประธานเปิดงานและบรรยายในการประชุมใหญ่ครั้งที่38ของสหกรณ์ชาวไร่สับปะรดสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยมี นายมนตรี ปาน้อยนนท์ ส.ส.ประจวบคีรีขันธ์ นายณฐกร สุวรรณธาดา คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีเกษตรฯ นายอำเภอสามร้อยยอด สหกรณ์จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ส่วนราชการต่างๆ นายชาญชัย ธนะกมลประดิษฐ์ ประธานและคณะกรรมการอำนวยการสหกรณ์และสมาชิกให้การต้อนรับ

นายอลงกรณ์กล่าวบรรยายว่าสถานการณ์การเพาะปลูกและผลผลิตสับปะรดในปี 2565 มีพื้นที่เก็บเกี่ยว 457,255 ไร่ คิดเป็นปริมาณผลผลิต 1.772 ล้านตัน โดยแหล่งผลิตสำคัญ ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ ราชบุรี เพชรบุรี พิษณุโลกและระยอง ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก3ปีที่ผ่านมาร้อยละ 0.39 ร้อยละ 2.68 และร้อยละ 2.27 ตามลำดับ ทางด้านราคาตั้งแต่ปี 2563 ถึงต้นปี 2564 ราคาอยู่ในเกณฑ์ดีทำให้เกษตรกรรายใหม่ขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้น

นายอลงกรณ์กล่าวต่อไปว่าศักยภาพของประเทศไทยในฐานะประเทศผู้ส่งออกสับปะรดและผลิตภัณฑ์สับปะรดกระป๋องเป็นอันดับ1ของโลกด้วยมูลค่า2หมื่นล้านบาทครองสัดส่วนตลาดโลก32%ตามมาด้วยฟิลิปปินส์22% ซึ่งพื้นที่ปลูกสับปะรดมากที่สุดและมีโรงงานสับปะรดมากที่สุดคือประจวบคีรีขันธ์จึงเป็นเสมือนมหานครสับปะรดของไทยและของโลกโดยการบริหารจัดการสับปะรดเชิงโครงสร้างและระบบ และการกำหนดแผนและเป้าหมายการเป็นมหานครสับปะรดของโลก ภายใต้คณะกรรมการนโยบายและพัฒนาสับปะรดแห่งชาติที่มีรองนายกรัฐมนตรีจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์เป็นประธาน ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นรองประธาน ได้ปรับแผนเดิมเป็นแผนใหม่รับมือวิกฤติโควิด19เรียกว่าแผนพัฒนาสับปะรดปี2563-2565 พร้อมกับจัดทำแผนพัฒนาสับปะรด5ปี(2566-2570)เพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตการแปรรูปและการตลาด

สำหรับการขับเคลื่อนสำคัญในปีหน้าคือการจัดตั้ง”มหานครสับปะรด Pineapple Metropolice”ที่ประจวบคีรีขันธ์ ครอบคลุมพื้นที่แหล่งผลิตหลักจังหวัดเพชรบุรี ราชบุรี กาญจนบุรี และการยกร่างกฎหมายการพัฒนาผลไม้เศรษฐกิจ(สับปะรด ทุเรียน ลำไย ฯลฯ) มีกองทุนพัฒนาผลไม้เป็นกลไกสำคัญเพื่อยกระดับรายได้ของชาวไร่สับปะรดและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมสับปะรดตลอดห่วงโซ่อุปทานตั้งแต่ต้นน้ำกลางน้ำและปลายน้ำอย่างยั่งยืนด้วยแนวทางเกษตรมูลค่าสูง.