posttoday

เสธ.หิมาลัย ประกาศอยู่ช่วยข้าง "ประยุทธ์" เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์

14 ธันวาคม 2565

“เสธ.หิมาลัย” ประกาศขอลุยการเมืองช่วยงาน “พล.อ.ประยุทธ์” ยึดหลัก 3 ประการ คือ กตัญญู สัจจะและการเมือง แนะ กกต. จัดเลือกตั้งล่วงหน้าให้แค่เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน

นายหิมาลัย ผิวพรรณ หรือ เสธ.หิ อดีตนายทหารชื่อดัง และที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการตำรวจ สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยถึงการทำงานการเมืองของตนเองว่า ตนไปช่วยงานการเมืองพรรครวมไทยสร้างชาติแน่นอน แต่เป็นการไปช่วยส่วนตัวในฐานะกองเชียร์  และไม่ได้มีตำแหน่งในพรรค 

เมื่อถามว่า อยู่กับลุงตู่ใช่หรือไม่ นายหิมาลัย กล่าวด้วยเสียงหนักแน่นว่า “100% อยู่แล้ว” เพราะการทำงานของตนยึดหลัก 3 ประการ คือ กตัญญู สัจจะ และการเมือง ในฐานะที่เคยเป็นรุ่นน้องทหารเสือราชินี ร.21 รอ. กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงถือเรื่องนี้เป็นสำคัญ รวมทั้งการรักษาสัจจะในการทำงานการเมืองด้วย

นายหิมาลัย ยังเชื่อมั่นว่า พรรครวมไทยสร้างชาติมีโอกาสที่จะได้รับเลือกตั้งมากกว่าที่มีการประเมินกัน แต่ตอนนี้ยังฟันธงไม่ได้ เพราะต้องรอกฎหมายลูกประกาศใช้ รอการแบ่งเขตเลือกตั้ง และการออกระเบียบต่างๆ ให้จบก่อน  แต่จากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาทำให้เกิดความสงสัย และเกิดคำถาม 3 ข้อ คือ 1.เมื่อคนไทยในประเทศเลือกผู้สมัครคนนี้มา แต่เมื่อบัตรเลือกตั้งจากต่างประเทศมาเปลี่ยนผลการเลือกตั้งในประเทศ อย่างนี้เป็นตรรกหรือไม่ เพราะคนที่เลือกในต่างประเทศก็ไม่ได้มาเสียภาษีในประเทศไทย และคนที่ได้รับผลกระทบคือคนที่อยู่ตรงนี้ แต่เลือก ส.ส.ของตัวเองไม่ได้ ดังนั้นคนที่ได้เป็น ส.ส. ก็ไม่ตรงกับความต้องการของคนในเขตนั้น

2.ไม่ควรจัดการเลือกตั้งล่วงหน้านอกราชอาณาจักร หรือการเลือกตั้งล่วงหน้าในประเทศทุกพื้นที่ เพราะป็นการสิ้นเปลือง ถ้าจะจัดก็ควรให้สิทธิเฉพาะเจ้าหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติหน้าที่เท่านั้น โดยให้เหตุผลว่า หากคนไทยให้ความสำคัญกับประชาธิปไตยและสิทธิของตัวเอง ก็ควรกลับมาใช้สิทธิเลือกตั้งในพื้นที่  

3.การกำหนดผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งอายุ 18 ปี สามารถลงคะแนนกำหนดอนาคตประเทศชาติได้ แต่เลือกอนาคตของตัวเองไม่ได้ ต้องรออายุ 21 ปี จึงจะบรรลุนิติภาวะ

“การเมืองในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงช่วง 4 ปีที่ผ่านมา หลังการเลือกตั้งปี 62 คนรุ่นใหม่มีสิทธิเลือกตั้งมากขึ้น และให้ความสำคัญกับนโยบายพรรคมากขึ้นด้วย แต่ขอตั้งข้อสังเกตอีกเรื่องคือ การให้บุคคลอายุ 18 ปีขึ้นไป มีสิทธิเลือกตั้งชี้ชะตาอนาคตประเทศได้ แต่ขณะเดียวกันกฎหมายประเทศไทยระบุให้ผู้ที่บรรลุนิติภาวะ ต้องอายุ 21 ปีขึ้นไป จึงจะสามารถทำนิติกรรมในทางกฎหมายได้ ถือเป็นสิ่งที่ย้อนแย้งกัน สรุปก็คือ กำหนดอนาคตประเทศได้ แต่กลับกำหนดอนาคตตัวเองไม่ได้”

อย่างไรก็ตาม ตนไม่ได้เรียกร้องให้หน่วยงานไปพิจารณา แต่เป็นข้อสงสัยและกลายเป็นคำถามที่เกิดขึ้น