posttoday

11พรรคเล็กจ่อสูญพันธุ์ ลุ้นศาลชี้ขาดสูตรส.ส.บัญชีรายชื่อ

29 พฤศจิกายน 2565

พรรคการเมืองขนาดเล็ก กลาง ตั้งใหม่ ลุ้น ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาด คำนวณสูตรส.ส.บัญชีรายชื่อ จับสัญญาณเคลื่อนไหว ยุบ ย้าย รวม ดิ้นสู้เลือกตั้ง

บรรดาพรรคการเมือง ต่างใจจดจ่อรอผลการวินิจฉัยชี้ขาดของศาลรัฐธรรมนูญ 30 พ.ย.2565ว่า ร่าง พ.ร.ป ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.(ฉบับที่...) พ.ศ. ... มาตรา 25 และมาตรา 26 มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 93 และมาตรา 94 หรือไม่ และตราขึ้นไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ หรือไม่ โดยเฉพาะพรรคการเมืองขนาดเล็ก

ทำความเข้าใจง่ายๆ เรื่องที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยชี้ขาด เกี่ยวหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณ ส.ส. บัญชีรายชื่อว่า ตกลงแล้วจะใช้สูตรไหน ระหว่าง สูตรหาร 100 คือเอาคะแนนเสียงเลือกตั้งของพรรคการเมืองทั้งหมดมาหารด้วยจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ (100 คน) แล้วถึงคำนวณหาจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองแต่ละพรรคตามสัดส่วนคะแนน หรือสูตรหาร 500 เอาคะแนนเสียงเลือกตั้งของพรรคการเมืองทั้งหมดมาหารด้วยจำนวน ส.ส. ทั้งหมด (500 คน) แล้วถึงมาคำนวณหาจำนวน ส.ส. พึงมีของแต่ละพรรค

สูตรหาร 100 มีความคล้ายคลึงกับการเลือกตั้ง จากรัฐธรรมนูญ 2540 ต่างกันเพียงบัตรเลือกตั้ง 2 ใบต่างเบอร์ หมายถึง หมายเลขผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขต จะตรงหรือไม่ตรงกับหมายเลขของพรรคการเมืองที่ผู้สมัครสังกัดก็ได้ ส่วนการเลือกตั้งจากรัฐธรรมนูญ 2560 บัตรเลือก ส.ส.เขตกับบัตรเลือกพรรค เป็นเบอร์เดียวกัน พรรคการเมืองขนาดใหญ่แข็งแกร่ง เพราะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อเป็นส่วนเสริม

สูตรหาร 500 มีความคล้ายกับการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 การนำ"ส.ส.พึงมี"มาคำนวณหา ส.ส.บัญชีรายชื่อ มีความต่างกันที่ปี 2562 เป็นการเลือกตั้งแบบบัตรใบเดียวนำคะแนนมานับและคำนวณหาส.ส.ทั้งแบบแบ่งเขตและบัญชีรายชื่อจุดเด่นคือทำให้พรรคการเมืองขนาดเล็กได้ประโยชน์มากกว่าพรรคการเมืองขนาดใหญ่

การเลือกตั้งเมื่อครั้งปี 2562 มี 15 พรรคการเมือง ที่ได้คะแนนเลือกตั้งเกินเป้าทำให้มีที่นั่งส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ 19 คน (3,947,726 เสียง) พรรคพลังประชารัฐ 18 คน (8,433,137เสียง) พรรคภูมิใจไทย 12 คน (3,732,883เสียง) พรรคเสรีรวมไทย 10 คน (826,530เสียง) พรรคเศรษฐกิจใหม่ 6 คน (485,664เสียง) พรรคเพื่อชาติ 5 คน (419,393เสียง) พรรคชาติไทยพัฒนา 4 คน (782,031เสียง) พรรครวมพลังประชาชาติไทย 4 คน (416,234เสียง) พรรคชาติพัฒนา 2 คน (252,044เสียง) พรรคพลังท้องถิ่นไทย 3 คน (213,129เสียง) พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย 2 คน (136,597เสียง) พรรคประชาชาติ 1 คน (485,436เสียง) พรรคพลังปวงชนไทย 1 คน (81,733เสียง) พรรคพลังชาติไทย 1 คน (73,781เสียง)

ขณะเดียวกันมี 11พรรคการเมืองได้คะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในการมี"ส.ส.พึงมีได้" 1 คนโอกาสได้รับ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ 1 คน ด้วยการปัดเศษส่วนทศนิยม ประกอบด้วย พรรคประชาภิวัฒน์(68,973เสียง), พรรคพลังไทยรักไทย(60,298เสียง), พรรคไทยศรีวิไลย์(60,354เสียง), พรรคประชานิยม(56,304เสียง), พรรคครูไทยเพื่อประชาชน(56,304เสียง), พรรคประชาธรรมไทย(47,787เสียง),พรรคประชาชนปฏิรูป(45,374เสียง),พรรคพลเมืองไทย(44,961เสียง) , พรรคประชาธิปไตยใหม่(39,260เสียง), พรรคพลังธรรมใหม่ (34,924เสียง) และพรรคไทรักธรรม (33,574เสียง)

พรรคเพื่อไทย (7,920,630 เสียง) เป็นพรรคการเมืองเดียวในการเลือกตั้งเมื่อปี2562 หมดสิทธิได้รับที่นั่ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ เพราะได้ส.ส.แบ่งเขตเข้าสภาเกินกว่าจำนวน "ส.ส. พึงมีได้"ดังนั้นการเลือกตั้งเมื่อปี2562 ทำให้มี26พรรคการเมือง เข้าไปมีที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

11พรรคเล็กจ่อสูญพันธุ์   ลุ้นศาลชี้ขาดสูตรส.ส.บัญชีรายชื่อ

การเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี2562 สูตร"คณิตศาสตร์การเมือง"ที่กกต.ใช้คือคิดจากฐานคะแนนมหาชน (ป๊อปปูลาร์โหวต) ของ 74 พรรคการเมือง รวมกัน 35,441,920 เสียง นำมาคำนวณหาจำนวน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อพบว่า ส.ส. 1 คน ต้องได้คะแนน 71,168.5141 เสียง ซึ่งถือว่าต่ำและทำให้พรรคเล็กได้ส.ส.พอสมควรและยังให้ปัดเศษเป็นประโยชน์กับพรรคเล็ก ทำให้พรรคที่ได้คะแนนต่ำกว่า 71,000 คะแนน หรือพรรคปัดเศษ ยังได้ ส.ส. 1 คน 
 
นับจากนี้เราจะเห็นพรรคการเมืองขนาดเล็ก พรรคตั้งใหม่ รวมถึงพรรคการเมืองระดับกลาง ซึ่งในการเลือกตั้งเมื่อปี2562 แม้จะชนะในระบบเขตไม่มากแต่ก็ได้รับการคำนวณ"ส.ส.พึงมี"สูงเกินกว่าจำนวนส.ส.เขต จนมีช่องว่างให้เติมเต็ม "ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ"เข้าไปให้ครบจำนวน "ส.ส.พึงมีได้" 

ดังนั้น หากอยากได้จำนวนที่นั่งในระบบบัญชีรายชื่อเพิ่ม ทั้งหมดก็ต้องหาทางดิ้น รวมตัว ควบรวม หรือเกิดสูตร พรรคเล็ก พรรคใหม่ พรรคกลาง มาจับมือกันสู้เลือกตั้ง เพื่อช่วงชิงคะแนนเสียงให้มีโอกาสเข้าไปมีที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้งในอนาคตอันใกล้