posttoday

ขบวนการแรงงานฮึ่มนัดบุกกระทรวงประท้วงแก้พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์

28 มิถุนายน 2565

ขบวนการแรงงานฮือประท้วงร่างแก้ไข พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ต้านเปลี่ยนแปลงเนื้อหา จี้รัฐบาลแก้ไขก่อนนำเข้าสภาฯ  ฮึ่มนัดชุมนุมหน้ากระทรวงแรงงาน 29 มิ.ย.นี้

เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. นายพนัส ไทยล้วน ประธานสภาองค์การลูกจ้างแรงงานแห่งประเทศไทย เปิดเผย กฏหมายแรงงานสัมพันธ์ เป็นกติกาเพื่อให้นายจ้าง ลูกจ้างอยู่ด้วยกันได้ด้วยดี  แต่การที่คณะกรรมการกฤษฎีกาแก้ไขจนไม่เหลือเค้าเดิม เหมือนเขียนกฏหมายใหม่โดยไม่สอบถามความคิดเห็นของนายจ้าง ลูกจ้าง และส่งผลเสียหาเช่น เดิมการลงโทษใดๆ รวมถึงการเลิกจ้างคณะกรรมการลูกจ้าง ต้องขออำนาจศาลแรงงานก่อน แต่ร่างฉบับใหม่กำหนดเฉพาะการเลิกจ้างคณะกรรมการลูกจ้างเท่านั้นที่ต้องขออำนาจศาลเลิกจ้าง

ทั้งนี้ เดิมกฏหมายห้ามนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน เนื่องจากการยื่นข้อเรียกร้อง แต่ฉบับแก้ไขคุ้มครองเฉพาะลูกจ้างที่เป็นผู้แทนเจรจาเท่านั้นโดยไม่คุ้มครองสมาชิก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฏหมายแรงงานมีเจตนาเพื่อคุ้มครองแรงงาน ไม่ให้ถูกนายจ้างกลั่นแกล้งอย่างไม่เป็นธรรม ได้มีการกำหนดโทษทางอาญาด้วย แต่ในร่างกฏหมายใหม่ตัดโทษทางอาญาทั้งหมด คงเหลือแต่โทษปรับเพียงเล็กน้อย โดยอ้างรัฐธรรมนูญ มาตรา 77 การกำหนดโทษต้องเท่าที่จำเป็นเท่านั้น

ประธานสภาองค์การลูกจ้างแรงงานแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ผู้ใช้แรงงานจะร่วมกันรณรงค์คัดค้านร่างกฏหมายที่พวกเราไม่ได้มีส่วนร่วมและส่งเสียหายต่อลูกจ้างอย่างมาก โดยเรียกร้องต่อรัฐบาลอย่านำร่างกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ที่ผ่านกฤษฎีกานำเข้าพิจารณาในสภา โดยขอใช้กฎหมายเดิมต่อไปและหากมีการนำเข้าพิจารณาในสภาผู้แทนราฎษรขอให้ทุกพรรคอย่าสนับสนุนให้ผ่านเป็นกฏหมาย ทั้งนี้พวกเรายอมใช้กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ฉบับปัจจุบันยังดีกว่าได้ฉบ้บใหม่ที่ทำร้ายพวกเรา ในเรื่องนี้เชื่อว่าลูกจ้างและผู้นำแรงงานทุกคนจะไม่ยอมอย่างแน่นอน โดยได้มีการนัดหมายที่จะแสดงพลังในวันที่ 29 มิย.นี้ที่กระทรวงแรงงาน เพื่อเรียกร้องให้มีการแก้ไขอย่างที่ควรจะเป็นโดยเร็ว

อย่างไรก็ตาม กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน ได้ยกร่างแก้ไขพ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ 2518 ที่ผ่านการรับฟังความคิดเห็นของนายจ้าง ลูกจ้างและนายจ้าง โดยนำเสนอและผ่านการเห็นชอบจากครม. และส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกา คณะ 9 ได้มีการแก้ไข เพิ่มเติม เนื้อหาของร่างแก้ไขอย่างมาก ไม่เป็นไปตามร่างเดิม และทำให้ลูกจ้างเสียประโยชน์อย่างมากเช่น การตัดโทษจำคุก กรณีที่นายจ้างกระทำผิดในทุกกรณี โดยกำหนดให้มีเพียงโทษปรับ  การลงโทษผู้แทนลูกจ้างที่เป็นกรรมการลูกจ้าง นายจ้างสามารถลงโทษอื่นๆได้ ทั้งหมด คงเหลือเพียงการเลิกจ้างที่นายจ้างต้องขออำนาจศาลแรงงานเลิกจ้างเท่านั้น  นอกจากนี้ยังเปิดทางนายจ้างไม่เข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมการลูกจ้าง ที่ไม่มีกำหนดโทษ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อระบบแรงงานสัมพันธ์เนื่องจากการเป็นกลไกรับฟังข้อเสนอปัญหาของลูกจ้างเช่นปรับสวัสดิการและแก้ปัญหาในระดับทวิภาคี

ด้านนาย?มนัส? โกศล? ประธาน?สภา?องค์การ?ลูกจ้าง?พัฒนา?แรงงาน?แห่ง?ประเทศไทย กล่าวถึงแนวคิดในการแก้ไขร่างพ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ในครั้งนี้ว่า เนื้อหาได้มีการยกร่างเพื่อตามโจทย์ข้อเรียกร้องของขบวนแรงงานที่ให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญาองค์กรแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 87 และ 98 ว่าด้วยสิทธิการเจรจาต่อรองและสิทธิการรวมตัว โดยมีมาตรการหนึ่งที่การจัดตั้งสหภาพแรงงาน ไม่ได้กำหนดเฉพาะสัญชาติไทยเช่นเดิม  ทั้งนี้เนื้อหาส่วนที่เป็นประโยชน์ที่เป็นการแก้ปัญหาที่เป็นอยู่ในปัจจุบันเช่นได้มีการกำหนดห้ามนายจ้างรับพนักงานใหม่เข้ามาทำงานเข้าทำงาน ในระหว่างที่ลูกจ้างใช้สิทธิหยุดงาน เนื่องจากข้อพิพาทเรียกร้อง   รวมถึงการยื่นข้อเรียกร้องต่อนายจ้าง กฏหมายกำหนดต้องลงรายมือชื่อพนักงานร้อยละ 20 ของจำนวนพนักงาน แต่ภายหลังแม้จำนวนพนักงานที่ยื่นข้อเรียกร้องจะลดลงต่ำกว่าร้อยละ 20 ก็ไม่เป็นเหตุให้การยื่นข้อเรียกร้องเป็นโมฆะ

นายมนัส กล่าวว่า พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ เป็นกฏหมายที่กำหนดหน้าที่และสิทธิของนายจ้าง ลูกจ้างเพื่อให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีในสถานประกอบการ นอกจากนี้ยังมีเนื้อหาในเรื่องของการจัดตั้งสหภาพแรงงาน การเจรจาต่อรอง การยื่นข้อเรียกร้องและการระงับข้อพิพาท ซึ่งได้มีการแก้ไขมีส่วนที่ดี เป็นประโยชน์ อย่างไรก็ตามมีเนื้อหาที่ส่งผลกระทบต่อลูกจ้าง ที่เป็นการทำลายความเข้มแข็งของฝ่ายลูกจ้างเช่นกัน   จึงเป็นเรื่องที่ต้องผลักดันให้มีการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ทั้งนี้ สภา?องค์การ?ลูกจ้าง?พัฒนา?แรงงาน?แห่ง?ประเทศไทย และสมาชิก สภาพแรงงานจะร่วมกันยื่นหนังสือเรียกร้อง ต่อนายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน เพื่อหาทางออกร่วมกัน ให้การแก้ไขร่างกฎหมาย เป็นไปเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ขบวนการแรงงาน

ขณะที่ นายตะวัน นามโคตร รองประธานสมาพันธ์ฮอนด้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เนื้อหาที่ผ่านคณะกรรมการกฤษฎีกา ตัดทอนการคุ้มครองลูกจ้าง ที่เป็นผู้แทนในคณะกรรมการลูกจ้าง  ทำลายอำนาจต่อรองของฝ่ายลูกจ้าง ซึ่งเป็นสาระสำคัญที่มีอยู่ในขณะนี้ ซึ่งแม้เราจะได้รับการคุ้มครองอยู่บ้าง แต่ในความเป็นจริงในทางปฏิบัติแล้ว เป็นที่รับรู้กันว่าการทำงานของสหภาพแรงงาน"ลำบากยากเย็น"การเรียกร้องต่อนายจ้าง อำนาจต่อรองแทบไม่มี บางแห่ง มีการกลั่นแกล้งผู้นำสหภาพ

นายตะวัน กล่าวว่า กฎหมายแรงงานเป็นกฏหมายเพื่อคุ้มครองลูกจ้างจำนวนมาก เดิมจึงมีการกำหนดโทษทั้งที่เป็นคดีอาญา มีโทษจำและปรับด้วย การตัดลดโทษ เหลือเพียงโทษปรับ เชื่อว่าจะส่งผลให้เกิดปัญหากรณีละเมิดเพิ่มขึ้นมาก โดยไม่ปฎบัติตามกฎหมาย เพราะถือว่ามีโทษเพียงปรับ เช่นการไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่มีโทษปรับเท่านั้น