logo-pwa

เพิ่ม Post Today

ลงในหน้าจอหลักของคุณ

ติดตั้ง
ปิด

"ชัชชาติ" ควง"จักกพันธุ์" ลุยสำรวจที่ดินเอกชนทำสวนสาธารณะ

27 พฤษภาคม 2565

"ชัชชาติ" ควง "จักกพันธุ์" ลุยสำรวจที่ดินเอกชนแยกวงศ์สว่างที่ยินดียกให้ กทม.เช่าพัฒนาเป็นสวนสาธารณะ เตรียมหาช่องทางภาษีจูงใจ

เมื่อวันที่ 27 พ.ค. 65 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ว่าที่ผู้ว่า กทม. พร้อมด้วย นายจักกพันธุ์ ผิวงาม อดีตรองผู้ว่าฯ กทม.เดินทางไปสำรวจที่ดินเอกชนขนาดประมาณ 2 ไร่ บริเวณสี่แยกวงศ์สว่าง ติดกับรถไฟฟ้าสายสีม่วง สถานีวงศ์สว่าง หลังมีกระแสข่าวว่าเจ้าของที่ดินยินดียกให้ กทม. โดยสำนักงานเขตบางซื่อเช่าใช้ประโยชน์เพื่อพัฒนาเป็นสวนสาธารณะ สอดคล้องกับนโยบายหาเสียง "สวน 15 นาทีทั่วกรุงฯ" ซึ่งตนเองมีเป้าหมายสร้างพื้นที่สาธารณะสำหรับประชาชนใช้งานได้กระจายตัวอยู่ทุกที่ และสามารถเข้าถึงได้ด้วยการเดินภายใน 15 นาที

นายชัชชาติ กล่าวว่า หนึ่งในแนวทางเพิ่มพื้นที่สีเขียวคือการอาศัยกลไกทางภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจูงใจให้เอกชนมอบที่ดินให้ กทม. พัฒนาเป็นพื้นที่สีเขียวเพื่องดเว้นการเสียภาษี ทั้งนี้ จำเป็นต้องทบทวนกรอบกฎหมายและอำนาจที่ กทม. สามารถดำเนินการได้ อย่างไรก็ตาม อยากขอเชิญชวนประชาชนที่ครอบครองที่ดินมอบที่ดินให้ กทม. เช่า เพื่อพัฒนาเป็นพื้นที่สีเขียวที่ก่อให้เกิดกับเมืองหลายด้าน ทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ ลดอาชญากรรม ถือเป็นการทำบุญเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม

ส่วนเรื่องการจัดเก็บภาษีตามโซนของผังเมืองนั้น นายชัชชาติ กล่าวว่า ต้องดูอำนาจที่มีก่อนว่าสามารถทำได้มากน้อยเพียงใด ต้องมีการพิจารณาโดยละเอียดในแต่ละพื้นที่ว่าเป็นผังเมืองสีอะไร เช่น พื้นที่การเกษตรจะเข้าไปขึ้นภาษีมากไม่ได้ต้องพยายามทำให้ต่ำที่สุด ยกเว้นมาทำการเกษตรในพื้นที่กลางเมือง เช่น เป็นผังเมืองเชิงพาณิชย์สีแดง พื้นที่หนาแน่นปานกลางสีส้ม ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ไม่เหมาะในการทำการเกษตร ถ้าเป็นไปได้ในอนาคตอาจมีการพิจารณาในการเอาสีผังเมืองเข้าไปร่วมเป็นมาตรการในการกำหนดภาษี แต่ยังไม่ได้เป็นข้อสรุปว่าจะมีการเพิ่มอัตราภาษี เนื่องจากต้องตรวจสอบข้อกฏหมายให้ละเอียดก่อน

"ต้องดูข้อกฏหมายก่อนว่าเราสามารถเอาผังสีไปกำหนดร่วมกับอัตราภาษีได้หรือไม่ เพราะใน พ.ร.บ.ยังเขียนไว้ไม่ชัดเจน ซึ่งเขียนไว้ว่า กทม.มีอำนาจในการปรับอัตราภาษีให้ไม่เกิดอัตราสูงสุด แต่ไม่ได้พูดถึงว่าเอาเงื่อนไขอื่นมากำกับได้หรือไม่ ยังไม่ได้สรุปว่าจะมีการขึ้นภาษี แต่คาดว่าเราต้องไปดูว่าสุดท้ายแล้ววิธีการไหนที่ กทม. มีอำนาจ ไม่ต้องเปลี่ยนกฏหมาย เอาอำนาจที่มีอยู่เดิมมาใช้ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชนที่อยู่ในเมือง หาช่องทางในการเอาพื้นที่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ มาเป็นทำให้เป็นพื้นที่สาธารณะของประชาชนมากขึ้น" นายชัชชาติ กล่าว