posttoday

รัฐสภาผ่านฉลุยวาระแรกร่างพ.ร.ป.เลือกตั้งส.ส.

24 กุมภาพันธ์ 2565

ที่ประชุมร่วมรัฐสภามีมติรับหลักการร่างกฎหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.พร้อมตั้งกรรมาธิการ 49 คน พิจารณาใน 180 วัน พร้อมกำหนดแปรญัตติใน 15 วัน

เมื่อวันที่ 24 ก.พ.การประชุมรัฐสภามีมติรับหลักการร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.แล้ว โดยรับหลักการทั้ง 4 ร่าง โดย 2 ร่างผ่านฉลุยคือ ร่าง ครม.ด้วยมติ 609 ต่อ 16 และร่างพรรคร่วมรัฐบาล มติ 598 ต่อ 26 ส่วนร่างของพรรคเพื่อไทย 420 ต่อ 206 และร่างพรรคก้าวไกลมติ 418 ต่อ 202 โดยเสียงข้างน้อยที่ไม่เห็นด้วยส่วนใหญ่ คือ  ส.ว พร้อมตั้งกรรมาธิการ 49 คน พิจารณาไม่เกิน 180 วัน ตามกรอบที่กฎหมายกำหนดแปรญัตติ 15 วัน

ทั้งนี้ ตลอดทั้งวันประเด็นที่สมาชิกต่างอภิปรายให้ข้อสังเกต มีเรื่องกำหนดหมายเลขประจำตัวผู้สมัคร ส.ส.เขตและบัญชีรายชื่อ แบบพรรคเดียวเบอร์เดียวตามร่างเพื่อไทย กับบัตร 2 ใบต่างเบอร์ตามร่าง ครม.กับพรรคร่วมรัฐบาล ตัวแทนกฤษฎีกาชี้แจงเหตุที่ไม่สามารถกำหนดเบอร์เดียวทั้ง ส.ส.เขตและบัญชีรายชื่อได้ โดยระบุว่า เนื่องจากมาตรา 90 วรรค 1 ของรัฐธรรมนูญได้กำหนดว่า พรรคการเมืองใดส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งแล้วให้มีสิทธิส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อได้

รัฐสภาผ่านฉลุยวาระแรกร่างพ.ร.ป.เลือกตั้งส.ส.

สำหรับ สาระเนื้อหาร่างฯ ครม.ร่างหลักที่จะนำไปพิจารณาในกรรมาธิการ กำหนดวิธีคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อให้รวมคะแนนทุกพรรครวมกัน หารด้วย 100 ได้คะแนนเฉลี่ยคิดคำนวณได้รับจัดสรร ส.ส. 1 คน นำไปหารคะแนนของแต่พรรคได้จำนวนสัดส่วน 100 คน กำหนดการใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชฯ ให้นับคะแนนเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรเลยไม่ต้องส่งกลับมานับที่ไทย แก้จำนวนกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งเป็น 9 คน จากเดิม 5 คน ประกาศผลเลือกตั้งภายใน 60 วัน

สำหรับ รายชื่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่...) พ.ศ.… จำนวน 49 คน ประกอบด้วย สัดส่วนคณะรัฐมนตรี (ครม.) 8 คน ได้แก่ นายสาธิต ปิตุเตชะ นายกิตติพงษ์ บริบูรณ์ นายเกรียงไกร พานดอกไม้ นางชื่นสุมล นิวาทวงษ์ นายไพบูลย์ นิติตะวัน นายศุภชัย ใจสมุทร นายวรรณรัตน์ ชาญนุกูล และนายมนูญ สิวาภิรมย์รัตน์

สัดส่วนส.ว. 14 คน ได้แก่ นายกล้าณรงค์ จันทิก นายกิตติ วะสีนนท์ นางกาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์ นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม พล.อ.ต.เฉลิมชัย เครืองาม น.ส.ปิยะฉัฏฐ์ วันเฉลิม นายประสิทธิ์ ปทุมารัตน์ พล.ร.อ.พัลลภ ตมิศานนท์ นายมหรรณพ เดชวิทักษ์ นางวรารัตน์ อติแพทย์ พล.อ.ยอดยุทธ บุญญาธิการ นายสมชาย แสวงการ  นางสุวรรณี สิริเวชชะพันธ์ และ พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์

ขณะที่สัดส่วน ส.ส.จากพรรคการเมือง ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย 8 คน ได้แก่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว นายชูศักดิ์ ศิรินิล นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา นายกฤช เอื้อวงศ์ นายสุขุมพงศ์ โง่นคำ นายสมคิด เชื้อคง นายประยุทธ์ ศิริพานิชย์ และนายสามารถ แก้วมีชัย

พรรคพลังประชารัฐ 8 คน ได้แก่ นายอนันต์ ผลอำนวย นายรงค์ บุญสวยขวัญ นายจักรพันธ์ พรนิมิตร นายกฤษณ์ แก้วอยู่ นายอาดิลัน อาลีอิสเฮาะ นายสัญญา นิลสุพรรณ

พรรคภูมิใจไทย 3 คน ได้แก่ นายเกษมสันต์ มีทิพย์ นายคารม พลพรกลาง นายธนิต ศรีประเทศ

พรรคก้าวไกล 3 คน ได้แก่ นายปดิพัทธ์ สันติภาดา นายณัฐวุฒิ บัวประทุม นายธีรัจชัย พันธุมาศ

พรรคประชาธิปัตย์ 3 คน ได้แก่ นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ นายเทอดพงษ์ ไชยนันทน์ นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์

พรรคเศรษฐกิจไทย 1 คน ได้แก่ นายบุญสิงห์ วรินทร์รักษ์

พรรคชาติไทยพัฒนา 1 คน ได้แก่ นายนิกร จำนง

พรรคเสรีรวมไทย 1 คน ได้แก่ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร

พรรคประชาชาติ 1 คน ได้แก่ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา

หลังจากนั้นสมาชิกรัฐสภาได้พิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองซึ่งมีอยู่ 6 ร่างกันต่อ และจะมีการลงมติในวันที่ 25 ก.พ.นี้